บทนำ : ที่มาของการเกิดของพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนา : ศาสนาแห่งการดับทุกข์และสร้างสุขอย่างแท้จริง
ทำไมพระพุทธเจ้าผู้เป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจมาก จึงเสียสละความสุขสบายออกบวชเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์?

พระพุทธเจ้าต้องการเห็นทุกคนพ้นจากความทุกข์และมีความสุข ทั้งนี้เพราะทรงเห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา สูญเสียสิ่งที่ตนรัก นำมาซึ่งความทุกข์ เรียกว่าเริ่มตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ก็มีแต่เรื่องทุกข์ แม้ว่าจะมีความสุขอยู่บ้างในบางช่วงเวลาของชีวิต แต่ความสุขดังกล่าวก็ไม่ยั่งยืน เป็นความสุขชั่วคราว แล้วก็ต้องกลับมาทุกข์ใหม่ วนเวียนมาหาความทุกข์ตลอดชีวิต
ที่สำคัญเป็นความทุกข์ที่ไม่ใช่เพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น อดีตชาติและอนาคตชาติ หากยังมีการเกิดอีก ก็จะต้องพบกับความทุกข์อีก ไม่ว่าจะเกิดมาแล้วมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพียงใดก็ตาม ก็ต้องประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เพราะเป็นกฎของโลกธรรมแปด
ดังนั้น การเวียนว่ายตายเกิด (วัฎสงสาร) (เพราะจิตเป็นอมตะ ย้ายจากร่างเดิม (ตาย) ไปสู่ร่างใหม่ (เกิด) ตามกรรมที่สร้างไว้) นำมาซึ่งความทุกข์ แม้บางช่วงของชีวิตจะมีความสุขกายและใจอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องชั่วคราว พระองค์ทรงค้นพบหลักธรรมและนำมาสอนมนุษย์ และเทวดา เพื่อนำหลักธรรม/คำสอนของพระพุทธองค์ไปปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ระดับความพ้นทุกข์มากหรือน้อยของแต่ละคน แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
การปฏิบัติธรรมขั้นภาวนา (ไม่มีความสุขใดยิ่งกว่าความสงบ) มีตั้งแต่ให้จิตใจสงบ (สมาธิ) นำมาซึ่งความสุขระดับต่างๆ เป็นการพ้นทุกข์ เพียงชั่วคราว เพราะเมื่อออกจากสมาธิก็ทุกข์อีก พระองค์ทรงค้นพบและสอนวิธีที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ถาวร และมีความสุขที่ยั่งยืน โดยการ “เจริญวิปัสสนา” จนกระทั่งหมดทุกข์โดยสิ้นเชิง ไม่กลับมาเกิดอีก แล้วเข้าสู่พระนิพพาน โดยหยุดการเวียนว่ายตายเกิด (วัฎสงสาร) คือไม่ต้องมาเกิดเป็นอะไรอีกแล้ว ไม่ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดา หรือเป็นอะไรก็ตาม ก็มีความทุกข์ แม้บางช่วงมีความสุข แท้จริงคือทุกข์น้อย ดังนั้น พระพุทธศาสนา จึงสอนให้ทุกคนรู้วิธีพ้นทุกข์
พระพุทธศาสนา : เป็นศาสนาสำหรับทุกคนที่ต้องการพ้นจากความทุกข์และพบความสุขแท้จริง
คำขอบคุณ
ความสำเร็จของการสร้างพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจากหลวงปู่ พระอาจารย์ต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกบทบาท

1) ขอบพระคุณหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ที่ได้ตั้งชื่อให้แก่พิพิธภัณฑ์ ให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา” และให้ความเข้าใจหลักธรรมต่างๆ จากการสนทนาธรรมกับหลวงปู่เป็นเวลาหลายวันในปี 2559 ระหว่างที่หลวงปู่ปลีกวิเวกอยู่ที่กรุงเทพฯ และที่เขาใหญ่ ขอขอบพระคุณหลวงปู่เป็นอย่างสูง เพราะทำให้เข้าใจหลักธรรมของพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
2) ขอบพระคุณพระอาจารย์ประเทือง (พระอาจารย์ใหญ่แห่งวัดอโศการาม) และพระครูปลัดอาทร (วัดอโศการาม) ที่จัดแบ่ง “พระธาตุของ 29 พระอรหันต์” พร้อมทั้งจัดทำพิธีบรรจุพระธาตุไว้ในองค์พระอรหันต์ (ขนาดเท่าองค์จริง) ทั้ง 29 องค์ (โซน 12) เป็นพระคุณอันยิ่งใหญ่ เพราะจะทำให้ประชาชนได้มีโอกาสกราบไหว้พระอรหันต์ทั้ง 29 องค์ ณ สถานที่แห่งนี้พร้อมทั้งเรียนรู้หลักธรรมจากหลวงปู่ทุกองค์ นอกจากนี้ พระอาจารย์ทั้งสองยังได้แนะนำให้สร้าง 18 เกจิอาจารย์ขนาดเท่าองค์จริง โดยจัดแสดงไว้ที่ โซน 5 ในอาคารนี้
3) ขอขอบพระคุณวัดสุนันทวนาราม ที่ได้มอบพระบรมสารีริกธาตุที่เหลือจากการบรรจุในพระเจดีย์ของวัด และขอขอบพระคุณครอบครัวของคุณพ่อสวงค์ ทนุสินธุ์ ที่ได้มอบพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุขององค์พระอรหันต์ / พระโพธิสัตว์ / พระเกจิอาจารย์ ให้แก่พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสกราบไหว้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต และเป็นที่พึ่งทางจิตใจในการที่จะปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์
4) ขอขอบพระคุณพระอาจารย์ต่างๆ ที่ให้คำอธิบายหลักธรรมต่างๆ จากหนังสือและธรรมเทศนา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการทำความเข้าใจในหลักธรรมต่างๆ พระอาจารย์ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เปลี่ยน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงตามหาบัว หลวงพ่อพุธ ท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านพระอาจารย์ใหญ่ ป.อ.ปยุตฺโต (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) และอีกหลายพระอาจารย์ หลวงปู่ทั้งหลายที่บรรลุความเป็นพระอรหันต์ และยังไม่บรรลุความเป็นพระอรหันต์ แต่ให้หลักธรรมคำสอนที่ดี ขอกราบนมัสการขอบพระคุณด้วยความเคารพและศรัทธา พิพิธภัณฑ์ฯ จะนำหลักธรรมมาแสดงให้ประชาชนได้ทราบและนำไปปฏิบัติธรรมตามเจตนารมย์ของหลวงปู่ และพระอาจารย์ทุกท่าน ทั้งที่ได้เอ่ยนามและไม่ได้เอ่ยนาม ขอน้อมรำลึกในพระคุณของพระอริยสงฆ์ทุกองค์ที่ให้ความเมตตาสอนหลักธรรม ซึ่งถือว่ามีความสำคัญยิ่งในการ “จรรโลงพุทธศาสนา” ให้ยั่งยืนตราบนานเท่านาน
5) ขอขอบพระคุณครูเหม เวชกร และมูลนิธิบรมครูฯ สำหรับภาพพุทธประวัติ 80 ภาพที่งดงามและมีประโยชน์ในการเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และขอขอบพระคุณศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก สำหรับภาพลายเส้นและคำอธิบายในหนังสือพุทธจริยวัตร 60 ปางของพระพุทธเจ้า มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษาเหตุการณ์สำคัญในช่วงพุทธกาล
6) ท่านผู้ร่วมงานทุกท่านทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใดก็ตาม ถือว่ามีส่วนร่วมในความสำเร็จในการสร้าง “พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา” แม้ว่าจะไม่ได้จารึกนามไว้ในที่นี้ ขอให้ยึดหลักไว้เสมอว่า “บุญเกิดจากการกระทำดี” ขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริง
7) ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้โปรดอำนวยพรให้ทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือในการทำให้เกิดผลสำเร็จในการสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ ประสบแต่สิ่งดีงามในชีวิต คิดสิ่งใดก็ขอให้สมปรารถนา ปฏิบัติธรรมก็ขอให้บรรลุถึงขั้นเป็นอริยบุคคล และมีชีวิตที่เจริญยิ่งๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเกิดในภพใดก็ตาม
8) ครอบครัว “ปิลันธน์โอวาท” โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าของอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้บริจาคอาคารทั้งหมดนี้ให้แก่มูลนิธิธรรมทานกุศลจิต เพื่อใช้เป็นสถานที่สร้าง “พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา” พร้อมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการปรับปรุงอาคารและตกแต่งอาคารให้เป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งพุทธปัญญา” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วย “จรรโลงพุทธศาสนา” และพร้อมจะสนับสนุนการดำเนินการของพิพิธภัณฑ์ฯ ตลอดไปตราบเท่าที่พิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้ยังคงอยู่
“ขอแสดงเจตนารมณ์ของ “ครอบครัวปิลันธน์โอวาท” ในการบริจาคอาคารแห่งนี้ให้แก่มูลนิธิธรรมทานกุศลจิต เพื่อใช้เป็น “พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา” และเป็นที่ทำการของมูลนิธิธรรมทานกุศลจิตตลอดไป ห้ามเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะมีผู้ใดก็ตามที่มาบริหารอาคารแห่งนี้ในอนาคต”
หากมีข้อผิดพลาดในเรื่องความเข้าใจการนำเสนอหรือความผิดพลาดที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ตั้งแต่ก่อนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ระหว่างการจัดตั้ง และหลังการจัดตั้ง ทั้งนี้ผลที่จะตามมาในอนาคต เมื่อมีการเปิดให้ชมพิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา ไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม คณะผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ฯ ขอน้อมรับผิดชอบทั้งหมดและพร้อมจะนำมาปรับปรุงและแก้ไขให้ถูกต้อง และขอขอบคุณทุกท่านที่สนับสนุนรวมทั้งให้กำลังใจในการปฏิบัติภารกิจสำคัญนี้คือ “การช่วยกันจรรโลงพุทธศาสนา” ให้พระพุทธศาสนายังคงอยู่ตลอดไปชั่วฟ้าดินสลาย

(มูลนิธิธรรมทานกุศลจิต และพิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา)