ช่วงที่ 1 ของมูลนิธิธรรมทานกุศลจิต
จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งมูลนิธิธรรมทานกุศลจิต เกิดจากผู้จัดตั้งได้ทำบุญในหลายรูปแบบ จนค้นพบว่าการทำบุญในลักษณะธรรมทานน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ (ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม) มากที่สุด เพราะสามารถอ่านหรือฟังเมื่อไรที่ใดก็ได้ จะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นหากนำหลักธรรมคำสอนของอาจารย์หรือหลวงปู่ต่างๆ ไปสอนต่อๆ กันไป โดยเฉพาะหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นสัจจธรรม และเป็นอมตธรรม คือหลักธรรมที่สอนเกี่ยวกับความจริงที่ไม่เคยตาย ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2560 ปีแล้วก็ตาม และหลักธรรมดังกล่าวจะยังคงอยู่ตลอดกาล เพราะสอนแต่ความจริงของสภาวะธรรม (ธรรมชาติ) ที่ไม่มีคำว่าล้าสมัย
ด้วยแนวคิดดังกล่าวข้างต้น ทางมูลนิธิธรรมทานกุศลจิตจึงคัดเลือกหนังสือที่ยอมรับในวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย รวมทั้งรวบรวมหนังสือธรรมะ (พระธรรม) ที่สำคัญลงในแผ่น DVD เพื่อถวาย/แจกเป็นธรรมทานดังนี้
- รายชื่อหนังสือในกระเป๋าธรรมะประกอบด้วย : (1) พุทธธรรม โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (2) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (3) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ.ปยุตฺโต) (4) กาลานุกรม (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นต้น
- รายชื่อหนังสือธรรมะในแผ่น DVD ประกอบด้วย : (1) พระไตรปิฎกภาษาบาลี (2) พระไตรปิฎกภาษาไทย (3) อรรถกถาบาลี (4) พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล (5) หลักสูตรนักธรรม ตรี-โท-เอก (6) หลักสูตรเปรียญธรรม ๑-๙ ประโยค
- นอกจากนี้ในแผ่น DVD ยังประกอบด้วย : (1) หนังสือสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 13 เล่ม (2) หนังสือชุดธรรมโฆษณ์ โดยพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) 67 เล่ม (3) หนังสือธรรมะโดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) มากกว่า 350 เล่ม
- เพื่อเติมเต็มผู้ที่ใฝ่รู้ธรรมปฏิบัติ ทางมูลนิธิธรรมทานกุศลจิตรวบรวมธรรมเทศนาของหลวงปู่ / พระอาจารย์ที่เป็นที่เคารพบูชาความเป็นพระอริยสงฆ์ และสร้าง Website ชื่อ thammapedia.com รวบรวมธรรมเทศนากว่า 4,000 เรื่อง สามารถเลือกฟังได้ทุกที่ทุกเวลา
ในแต่ละปีทางมูลนิธิธรรมทานกุศลจิตได้บริจาคเป็นธรรมทานแก่พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นธรรมทูตสายในประเทศ และสายต่างประเทศ (ทั้งที่ มมร. และ มจร.) เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 ปีแล้ว ในปี 2559 ทางมูลนิธิธรรมทานกุศลจิตร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดกระเป๋าชุดเต็มจำนวนประมาณ 5,000 ชุด เพื่อถวายพระอาจารย์โรงเรียนปริยัติแผนกธรรมและแผนกบาลีทั่วประเทศ
นอกเหนือจากนี้ก็ยังถวาย/แจก พระนักศึกษาและนักศึกษา สาขาพุทธศาสน์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของทั้ง มมร. และ มจร. เป็นประจำทุกปี และได้ถวายในโอกาสพิเศษต่างๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา
ช่วงที่ 2 ของมูลนิธิธรรมทานกุศลจิต : การตั้ง “พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา”
หลังจากที่ได้ทำงานด้านธรรมทานมาแล้วหลายปี ซึ่งก็ยังทำต่อไปตลอด ประมาณปลายปี 2559 ได้เกิดความคิดที่ทำประโยชน์อาคารของมูลนิธิธรรมทานกุศลจิตที่ถนนพัฒนาการ กรุงเทพฯ (ซึ่งเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา) เพื่อทำงานด้านพระพุทธศาสนา โดยมีแนวคิดเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ดังนี้ :
ระยะที่ 1 : เป็นพิพิธภัณฑ์รูปปั้นพระอริยสงฆ์ (พระสงฆ์)
ระยะที่ 2 : เป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมพุทธประวัติ (พระพุทธ)
ระยะที่ 3 : เป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมข้อมูลพระธรรมและคำสอนของหลวงปู่ / พระอาจารย์ (พระธรรม)
ระยะที่ 4 : เป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ พระพุทธ – พระธรรม – พระสงฆ์
ระยะที่ 5 : เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงความเชื่อมโยงของ พระพุทธ - พระธรรม – พระสงฆ์
ระยะที่ 6 : เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีข้อมูลทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ
ระยะที่ 7 : เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เรียบเรียงข้อมูล เพื่อให้เข้าใจหลักธรรม / คำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะเกี่ยวกับ :
- พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร (ตรัสรู้) อะไรคือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา (ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ อริยสัจ ๔ ฯลฯ)
- พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรแก่ปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก (ปฐมเทศนา) (อริยสัจ ๔ : ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ)
- พระพุทธเจ้าทรงให้หลักสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่พระอริยสงฆ์ 1,250 องค์ (ล้วนเป็นพระอรหันต์) เกี่ยวกับอะไร? (ศีล (ละชั่ว) สมาธิ (ทำดี) ปัญญา (ทำใจให้บริสุทธิ์) ซึ่งถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา)
- พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร เพื่อการปฏิบัติธรรม เพื่อบรรลุการเป็นพระอริยบุคคล (ตั้งแต่พระโสดาบัน จนถึงพระอรหันต์)
ระยะที่ 8 : การคัดเลือกและเรียบเรียงข้อมูลแต่ละโซน (มีทั้งหมด 12 โซน) ให้มีความสอดคล้องกันโดยกำหนดเป้าหมายที่สำคัญของการปฏิบัติธรรม เพื่อการพ้นทุกข์อย่างถาวร คือการบรรลุความเป็นพระอรหันต์ เพื่อเข้าสู่ “พระนิพพาน” หยุดการเวียนว่ายตายเกิด (วัฎสงสาร)
ระยะที่ 9 : เป็นความตั้งใจและพยายามที่จะให้ “พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา” เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา ให้ยั่งยืนตลอดไปชั่วกาลนาน
ระยะที่ 10 : จากปัจจุบันจนถึงอนาคตอันยาวไกล ไม่กำหนดเวลา มูลนิธิธรรมทานกุศลจิต ตั้งปณิธานไว้ว่าจะสนับสนุน “พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา” ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งพุทธปัญญา” เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้ง 3 ด้าน กล่าวคือ
ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ