พุทธพจน์
นวสีที่ป่าช้าเก่า จึงกล่าวตามพระบาลีว่า ปุ นะ จะปะรัง ภิกขะเว ภิกขุ เสยยะถาปิ ปัสเสยยะ สะรีรัง ผมขอว่าเท่านี้ ความก็มีว่า
(พุทธพจน์) :
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุ เหมือนจะกับว่าจะพึงเห็นสรีระคือซากศพ ที่เขาเอาไปทิ้งแล้วในป่าช้า
ตายแล้ววันหนึ่ง หรือว่าตายแล้วสองวัน หรือว่าตายแล้วสามวัน
มันขึ้นพองอืด มีสีเขียว น่าเกลียด
ในสรีระก็มีน้ำเหลืองไหล น่าเกลียด
คือก็น้อมเข้ามาสู่กายนี้ว่า ถึงแม้ว่าร่างกายของเรานี้ ก็เป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา
คงไม่เป็นอย่างอื่นไปได้จะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้
และได้กล่าวต่อไปว่า
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในกายบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเสื่อมไปในกายบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาของความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายบ้าง
ก็หรือว่ากายนี้มีอยู่ ก็เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้าแก่เธอนั้น ก็เพียงแต่สักว่าเป็นที่รู้ เพียงแต่สักว่าเป็นที่อาศัย ระลึก
เธอย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกด้วย นี่ท่านว่าอย่างนี้ สำหรับข้อหลังเป็นวิปัสสนาญาณ
ร่างกายนี่มันไม่มีอะไรคือสาระคือแก่นสาร
คำอธิบาย
นวสี คือ ป่าช้าเก่า ซากศพมีลักษณะ ๙ อย่าง
ถ้าจะว่ากันไปมันก็เหมือนกับของที่เราเคยเห็น คือ คนตาย ๑ วันบ้าง คนตาย ๒ วันบ้าง คนตาย ๓ วันบ้าง
คนตายขึ้นอืด มีน้ำเหลืองไหล และก็ส่งกลิ่นเหม็นโชยมาตั้งไกล เมื่อผลที่สุดอาการน้ำเหลืองไหล
น้ำไหลไปหมดร่างกายก็โทรมลง เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก มีกลิ่นแฝงปรากฏ
ต่อไปหนังก็หมดเหลือแต่เส้นเอ็นรัดรึงกระดูกเข้าไว้
ต่อไปเส้นเอ็นก็หมด เหลือกระดูกเป็นท่อนกระดูกยาวเหยียดเป็นรูปของกาย
กายมันเหลือแต่กระดูก แล้วในที่สุดอาการของกระดูกที่รัดตรึงกันอยู่
ต่อกันอยู่ก็ขาดออกไปเป็นชิ้นเป็นท่อน เรี่ยไรแล้วก็จมหายไปในปฐพี อาการอย่างนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า ท่านทั้งหลายจงพิจารณาเห็นกายในกาย คือว่ากายของเรานี่ต่อไปมันก็มีสภาพอย่างนี้ ในเมื่อสิ้นลมปราณแล้วเมื่อไร เมื่อธาตุ ๔ แตกความ
สามัคคีกันเมื่อไร ร่างกายที่จัดว่าเป็นเรือนร่างมันก็ต้องสลายตัว ธาตุ ๔ ก็หมายถึงว่า ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำ ธาตุทั้ง ๔ นี่มันต้องสามัคคีมีการรวมตัวกัน ถ้าหากว่าธาตุทั้ง ๔ ยังมีกำลังสม่ำเสมอกัน ครบถ้วนบริบูรณ์เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ร่างกายของบุคคลนั้นก็เป็นร่างกายที่มีอาการทรงตัว เป็นร่างกายที่ไม่มีโรค ร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ปราศจากความอ่อนแอ เมื่อว่าเป็นร่างกายที่ไม่ต้องใช้ยารักษาโรค กินแต่อาหารก็พอ
เป็นอันว่าถ้าธาตุทั้ง ๔ ยังคุมกันอยู่เพียงใด ร่างกายก็ทรงอยู่ นี่สำหรับคนตาย ธาตุอะไรมันหายไปบ้าง อันดับแรกที่สุดธาตุลมหายไป เมื่อธาตุลมหายไปแล้วมันก็เหลือแต่ธาตไฟ ธาตุน้ำ ธาตุดิน
ลมเป็นเครื่องปรนเปรอให้ไฟติด ถ้าหากว่าเราจะไปจุดฟในที่อับ ที่ไม่มีลมผ่าน ไม่มีอากาศไฟก็จะไม่ติด แม้ถ้าเข้าไปในถ้ำลึกๆ เราถือไฟฉายเข้าไปซึ่งมันมีกระแสไฟเกิดจากพลังงานของถ่านไฟฉาย เราก็ฉายไม่ติดเหมือนกัน นี้ร่างกายนี่เหมือนกัน
ทางธาตุลมมันไม่มีแล้ว ธาตุไฟมันก็ลุกอยู่ไม่ได้
ผลที่สุดธาตุไฟมันก็สลายตัว
จะเห็นว่าคนตายเมื่อสิ้นลมปราณแล้วร่างกายเย็นชืด ธาตุไฟก็หมด
เมื่อธาตุไฟหมดไป ธาตุลมหมดไป เหลือแต่ธาตุน้ำกับธาตุดิน
ขณะที่ธาตุลมยังอยู่ ธาตุลมประคับประครองให้ไฟลุกมีความอบอุ่น ทำดินให้รับความแห้ง ความแกร่งพอสมควร พอที่จะต่อสู้กับธาตุน้ำได้
คราวนี้เมื่อธาตุลมหมดไป ธาตุไฟดับ ดินก็ไม่สามารถจะสู้น้ำได้
น้ำก็ละลายธาตุดิน
ธาตุน้ำที่มีอยู่ในร่างกายละลายธาตุดินก็ได้แก่ เนื้อ ผลที่สุดธาตุดินถูกละลายมาก็กลายเป็นของเละหมดความแข็ง
น้ำก็ปูดออกมามีอาการเน่า เนื้อหนังมันก็เละไปหมด
ธาตุดินละสู้น้ำไม่ได้ เมื่อธาตุดินธาตุน้ำละลายดินเละออกมา กลิ่นเหม็นก็ปรากฏ
น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองที่ขังอยู่ในร่างกายก็ขยายตัว ไม่มีใครควบคุม เพราะดินไม่แข็ง ดินอ่อนเสียแล้วคุมน้ำไม่ได้น้ำก็ไหลออก มันไม่ไหลออกจากทางทวารอย่างเดียว มันซึมออกทุกจุดของร่างกายและก็เป็นน้ำสกปรก
นี้น้ำตัวนี้มีมาจากไหน เราก็ต้องดูกันว่าน้ำนี่มันมาจากไหน และความสกปรกต่างๆ นี่มันมาจากไหน มันมาหลังจากเราตายไปแล้วหรือมันอยู่ในร่างกายตั้งแต่สมัยที่เรามีชีวิตอยู่ แล้วก่อนตาย เมื่อพิจารณาไปแล้วก็จะทราบชัดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี่มันมีอยู่แล้วในสมัยที่เราทรงชีวิตอยู่ เราเดินไปเดินมา นั่งอยู่ ทำงานอยู่ บริหารอยู่มีความปรารถนาอยู่ในสิ่งทุกอย่าง สิ่งสกปรกทั้งหลายเหล่านี้มันมีอยู่ในกายเราครบถ้วน
บทสรุป
ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า เมื่อดูซากศพแล้วก็จงมาดูว่าร่างกายของเรานี้มันก็มีสภาพอย่างนั้น พิจารณาเห็นเป็นของปฏิกูลและสัญญาว่าร่างกายสกปรก หรือว่า อสุภสัญญา คือจำได้ไว้เสมอว่า ร่างกายเรานี่สกปรกเหมือนกับซากศพแบบนี้มันน่ารักตรงไหน
แล้วดูกายภายนอก นั่นคือกายของบุคคลอื่น ว่ากายของบุคคลอื่นก็มีอาการสกปรกเหมือนกัน
นี้พระพุทธเจ้าให้พิจารณาต่อไปว่า ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดีที่เต็มไปด้วยความสกปรก
มันสะอาดมีสภาพเป็นซากศพอย่างนี้ ที่มันเป็นอย่างนี้ได้ก็เพราะอะไร ก็เพราะว่า
อาศัยที่ร่างกายของเรานี่มันไม่เที่ยง มันมีอการเคลื่อนตัวอยู่เป็นปกติ คือมันมีความเกิดขึ้นและก็มีความเสื่อมไปในที่สุด ความนัยตอนท้ายตอนนี้เป็นวิปัสสนาญาณ
ตอนต้นนี่เห็นว่าร่างกายสกปรก ร่างกายเหมือนกับซากศพ ซากศพเน่าฉันใดร่างกายของเราก็เน่าเหมือนกัน ร่างกายของบุคคลอื่นก็เน่าเหมือนกัน
ซากศพที่เราเห็นก็คือร่างกายสภาพแบบเดียวกันกับเรา และเราก็มีสภาพเป็นซากศพแบบนั้น ร่างกายของบุคคลอื่นก็มีสภาพเป็นซากศพแบบนั้น ทำไมจะต้องไปประคับประคอง ไปหลงใหล ใฝ่ฝัน
และก็จงจำไว้ว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดีมีสภาพเหมือนกัน คือเมื่อมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และก็มีการเสื่อมการสลายตัวไปในที่สุด
เห็นคนอื่นเขาตายก็จงคิกว่าสักวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องตาย มันมีความเกิดขึ้นและก็มีความเสื่อมไป ตัวท้ายนี้เป็นวิปัสสนาญาณ
ให้พิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นธรรมดา มันไม่ใช่ของผิดธรรมดา ความเกิดขึ้นก็ดี ความเสื่อมไปทั้งกายภายในกายเหมือนกายเราก็ดี ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายภายนอกคือกายของบุคคลอื่นก็ดี และความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปทั้งกายภายใน ทั้งกายภายนอกก็ดี นี่มันเป็นของธรรมดา
ก็หรือว่ากายนี้มีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้าแก่เธอนั้น ก็เพียงแต่สักแต่ว่าเป็นที่รู้
คือสักแต่เพียงเป็นที่รู้ธรรมดาของมันเป็นอย่างนั้นก็ช่างมันประไร มันอยากจะแก่ก็แก่ อยากจะป่วยก็เชิญป่วย อยากจะตายก็เชิญตาย มันอยากจะเน่าก็เชิญเน่า
ร่างกายของใครที่เราปรารถนาก็ต้องไม่มี เพราะธรรมดามันเลว
ท่านว่าต่ออีกว่า ก็เพียงสักแต่ว่าเป็นที่อาศัยและเป็นที่ระลึก
ย่อมไม่ติดอยู่ในกายด้วย คือไม่ยึดถือว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ละสักกายทิฏฐิ
เห็นไหมท่านสอนแบบนี้นะจำให้ดี จำแล้วก็ประพฤติปฏิบัติ และก็ทำตัวให้ได้ด้วย อย่าสักแต่ว่าฟัง อย่าสักแต่ว่าได้ยิน อย่าสักแต่ว่าจำ ใช้ปัญญาคิดด้วยและและปลดให้ได้ด้วย ท่านกล่าวต่อไปว่า
และก็ย่อมไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลกด้วย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่อย่างนี้ เท่านี้พอ
ถ้าพิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่อย่างนี้ก็ชื่อว่าจิตของท่านหมดจากอสุภกิเลสเป็นสมุทเฉทปหาน นั่นก็คือความเป็นพระอรหันต์