ข้อควรทราบเพิ่มเติมเพื่อเสริมความเข้าใจ
สมถะ – วิปัสสนา, เจโตวิมุตติ – ปัญญาวิมุตติ
สมถะ – วิปัสสนา
สมถะ แปลง่ายๆ ว่าความสงบ แต่ที่ใช้ทั่วไป หมายถึงวิธีทำใจให้สงบ ขยายความว่า ได้แก่ ข้อปฏิบัติต่างๆ ในการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ จนตั้งมั่นเป็นสมาธิ ถึงขั้นได้ฌานระดับต่างๆ จุดมุ่งของสมถะ คือสมาธิ ซึ่งหมายเอาสมาธิขั้นสูงที่ทำให้เกิดฌาน
หลักการของสมถะ คือ กำหนดใจไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (เรียกว่า “อารมณ์”) ให้แน่วแน่จนจิตน้อมดิ่งอยู่ในสิ่งนั้นสิ่งเดียว (เรียกกันว่า จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง หรือจิตมีอารมณ์อันเดียว) ความแน่วแน่หรือตั้งมั่นของจิตนี้ เรียกว่า “สมาธิ”
เมื่อสมาธิแนบสนิทเต็มที่แล้ว ก็จะเกิดภาวะจิตที่เรียกว่า ”ฌาน” ซึ่งแบ่งเป็นระดับต่างๆ ระดับที่กำหนดเอารูปธรรมเป็นอารมณ์ เรียกว่า รูปฌาน หรือเรียกง่ายๆ ว่า ฌาน มี 4 ขั้น ระดับที่กำหนดอรูปธรรมเป็นอารมณ์เรียกว่า อรูปฌาน มี 4 ขั้น ทั้งรูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 เรียกรวมกันว่า สมาบัติ (8) ภาวะจิตในฌานนั้น เป็นภาวะที่สุขสงบผ่องใส ไม่มีความเศร้าหมองขุ่นมัว ไม่มีสิ่งรบกวนให้สะดุดหรือติดข้องอย่างใดๆ เรียกว่าปราศจากนิวรณ์ ท่านอนุโลมเรียกว่าเป็นความหลุดพ้นจากกิเลสตลอดเวลาที่ยังอยู่ในฌานนั้นๆ (แต่เมื่อออกจากฌานแล้ว กิเลสกลับมีได้อย่างเดิม ท่านจึงเรียกว่าเป็นวิกขัมภนนิโรธ หรือวิกขัมภน-วิมุตติ คือ ดับกิเลส หรือหลุดพ้นด้วยเอาสมาธิข่มไว้ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น)
วิปัสสนา แปลง่ายๆ ว่า การเห็นแจ้ง หรือวิธีทำให้เกิดการเห็นแจ้ง หมายถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ในการฝึกฝนอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดสิ่งทั้งหลายตรงต่อสภาวะของมัน คือให้เข้าใจตามความเป็นจริงหรือตามที่สิ่งเหล่านั้นมันเป็นของมันเอง (ไม่ใช่เห็นไปตามที่เราวาดภาพให้มันเป็น ด้วยความชอบ ความชัง ความอยากได้ หรือความขัดใจของเรา) รู้แจ้งชัดเข้าใจจริง จนถอนความหลงผิด รู้ผิด และยึดติดในสิ่งทั้งหลายได้ ถึงขั้นเปลี่ยนท่าทีต่อโลกและชีวิตใหม่ ทั้งท่าทีแห่งการมอง การรับรู้ การวางจิตใจ และความรู้สึกทั้งหลาย ความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างการปฏิบัตินั้น เรียกว่า ญาณ มีหลายระดับญาณสำคัญในขั้นสุดท้ายเรียกว่า วิชชา เป็นภาวะตรงข้ามที่กำจัดอวิชชา คือความหลงผิดไม่รู้แจ้งไม่รู้จริงให้หมดไป
ภาวะจิตที่มีญาณหรือวิชชานั้น เป็นภาวะที่สุขสงบผ่องใส และเป็นอิสระ เพราะลอยตัวพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส เช่น ความชอบความชัง ความติดใจและความขัดใจ เป็นต้น ไม่ถูกบังคับหรือชักจูงโดยกิเลสเหล่านั้น ให้มองเห็นหรือรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างบิดเบือน จนพาความคิดและการกระทำที่ติดตามมาให้หันเหเฉไป และไม่ต้องเจ็บปวด หรือเร่าร้อน เพราะถูกบีบคั้นหรือต่อสู้กับกิเลสเหล่านั้น ญาณ และวิชชา จึงเป็นจุดมุ่งของวิปัสสนา เพราะนำไปสู่วิมุตติ คือความหลุดพ้นเป็นอิสระที่แท้จริง ซึ่งยั่งยืนถาวร (ท่านเรียกว่า สมุจเฉทนิโรธ หรือ สมุจเฉทวิมุตติ แปลว่า ดับกิเลส หรือหลุดพ้นโดยเด็ดขาด)
ถ้าพูดอย่างรวบรัด ก็ว่า ผลที่มุ่งหมายของสมถะ คือฌาน ผลที่มุ่งหมายของวิปัสสนา คือญาณ หรือว่าสมถะนำไปสู่ฌาน วิปัสสนานำไปสู่ญาณ
ผู้ปฏิบัติสมถะ (สำนวนแบบเรียกว่า บำเพ็ญ หรือเจริญสมถะ) อาจทำแต่สมถะอย่างเดียวโดยมุ่งหวังจะชื่นชมเสพผลของสมถะ คือฌานสมาบัติ และอภิญญาทั้ง 5 ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับวิปัสสนาเลยก็ได้ เรียกว่า หยุดอยู่เพียงขั้นสมาธิ ไม่ก้าวไปถึงขั้นปัญญา
แต่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ต้องอาศัยสมถะไม่มากก็น้อย คือ อาจเจริญสมถะจนได้ฌานสมาบัติก่อนแล้ว จึงก้าวต่อไปสู่วิปัสสนา คือเอาฌานเป็นบาทของวิปัสสนา (เรียกว่าเจริญวิปัสสนา ที่มีฌานเป็นบาท) ก็ได้ อาจเริ่มเจริญวิปัสสนาไปก่อนแล้ว จึงเจริญสมถะตามหลัง ก็ได้ หรืออาจเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป ก็ได้ แม้แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเจริญแต่วิปัสสนาอย่างเดียวล้วน (สุทธวิปัสสนายานิก) ไม่อาศัยสมถะเลย ก็หมายถึง ไม่อาศัยสมถะในความหมายโดยนิปริยาย หรือความหมายจำเพาะที่เคร่งครัด คือไม่ได้ทำสมถะจนได้ฌานสมาบัติก่อนเจริญวิปัสสนา แต่ตามความเป็นจริงก็อาศัยสมถะในความหมายอย่างกว้างๆ คือ อาศัยสมาธินั่นเอง สมาธิของผู้เจริญวิปัสสนาแบบนี้ อาจเริ่มต้นด้วยขณิกสมาธิ (สมาธิชั่วขณะ) ก็ได้ แต่เมื่อถึงขณะที่บรรลุมรรคผล สมาธินั้นจะแน่วแน่สนิท (เป็นอัปปนาสมาธิ) ถึงระดับปฐมฌาน (ฌานที่ 1 หรือ รูปฌานที่ 1) ผลที่เกิดจากสมถะอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นฌานสมาบัติหรืออภิญญาที่สูงพิเศษเพียงไร ก็ยังเป็นโลกีย์ เป็นของปุถุชน คือคนมีกิเลส เสื่อมถอยได้ เช่น ฤทธิ์ที่พระเทวทัตได้เจโตวิมุตติของพระโคธิกะ และฌานสมาบัติของพระภิกษุสามเณร ฤาษี และคฤหัสถ์บางท่าน ที่มีเรื่องเล่าต่อกันมาในคัมภีร์ต่างๆ
เจโตวิมุตติ – ปัญญาวิมุตติ
วิมุตติ หรือความหลุดพ้นนั้น ในระดับสูงสุด ใช้ในความหมายต่างกัน แยกได้เป็น 3 อย่าง คือ
อย่างแรก การหลุดพ้น กิริยาที่หลุดพ้นออกมาได้ หรืออาการที่เป็นไปในขณะหลุดพ้นเป็นอิสระ วิมุตติในความหมายอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็น มรรค
อย่างที่สอง ความเป็นผู้หลุดพ้น คือความเป็นอิสระในเมื่อหลุดพ้นออกมาได้แล้ว วิมุตติในความหมายอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็น ผล
อย่างที่สาม ภาวะแห่งความเป็นผู้หลุดพ้น ภาวะแห่งความเป็นอิสระที่ผู้หลุดพ้นหรือผู้เป็นอิสระนั้นเข้าถึง และรู้สึกได้ ซึ่งอำนวยความดีงามต่างๆ มีความสุขสบายปลอดโปร่งโล่งใจเป็นต้น และภาวะแห่งความเป็นอิสระเช่นนั้น ที่ผู้ยังไม่หลุดพ้นกำหนดเป็นอารมณ์ เช่น นึกถึง คำนึงถึง หน่วงเอาเป็นจุดหมายในใจ เป็นต้น
วิมุตติในความหมายอย่างนี้ คือที่ใช้เป็นไวพจน์ของนิพพาน คือหมายถึง นิพพาน นั่นเอง
วิมุตติที่เป็นผล โดยเฉพาะอรหัตตผลนั้น ท่านมักแยกให้เห็นชัดเป็น 2 ด้าน คือ เป็น เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ
เจโตวิมุตติ คือความหลุดพ้นทางด้านจิต แปลกันว่า ความหลุดพ้นแห่งจิต หรือความหลุดพ้นด้วยกำลังจิตคือ ด้วยสมาธิ หมายถึง ภาวะจิตที่ประกอบด้วยสมาธิ ซึ่งกำราบราคะลงได้ ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องผูกมัดทั้งหลาย (ราคะ ในที่นี้ และในบาลีทั่วไป ไม่มีความหมายแคบอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย คือ ไม่ใช่เรื่องกามเท่านั้น แต่หมายถึง ความติดใจ ความใคร่ ในอารมณ์ต่างๆ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม เป็นไวพจน์ของตัณหา และกินความถึงโทสะด้วย เพราะโทสะก็คือแรงผลักที่เป็นปฏิกิริยาของราคะนั่นเอง)
ปัญญาวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้านปัญญา แปลกันว่า ความหลุดพ้นด้วยปัญญา แต่ควรแปลว่าความหลุดพ้นแห่งปัญญาด้วย เพราะหมายถึง ปัญญาบริสุทธิ์ หรือความรู้ถูกต้องสมบูรณ์ ไม่มีกิเลสบดบังหรือบิดเบือน ซึ่งเกิดขึ้นแก่ผู้บรรลุอรหัตตผล ในเมื่อปัญญานั้นกำจัดอวิชชาได้แล้ว ทำให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องผูกมัดทั้งปวง ดังบาลีว่า “เพราะสำรอกราคะได้ จึงมีเจโตวิมุตติ, เพราะสำรอกอวิชชาได้ จึงมีปัญญาวิมุตติ” อรรถกถาอธิบายว่า เจโตวิมุตติ ได้แก่ ผลสมาธิ หรืออรหัตตผลสมาธิ หรืออรหัตตผลจิต (สมาธิหรือจิตอันตั้งมั่น ที่เป็นผลแห่งการสำเร็จเป็นพระอรหันต์) และว่า ปัญญาวิมุตติ ได้แก่ ผลญาณ หรือผลปัญญา หรืออรหัตตผลญาณ หรืออรหัตตผลปัญญา2 (ฌานหรือปัญญาที่เป็นผลแห่งการสำเร็จเป็นพระอรหันต์) ผู้บรรลุอรหัตตผล จะต้องได้เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตตินี้ ครบทั้งสองอย่างทุกบุคคล คำทั้งสองนี้จึงมาคู่กันเสมอ ในข้อความที่กล่าวถึงการบรรลุอรหัตตผล ดังบาลีว่า “เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป จึงทำให้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ที่ไม่มีอาสวะ ในปัจจุบันนี้ทีเดียว”
เจโตวิมุตติเป็นผลของสมถะ ปัญญาวิมุตติเป็นผลของวิปัสสนา พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า คำคู่นี้ แสดงให้เห็นว่า สมถะและวิปัสสนา จะต้องมาควบคู่กัน แม้ในขั้นผล เช่นเดียวกับในขั้นมรรค (แม้ว่าสมถะที่ต้องการในที่นี้ อาจจะเป็นเพียงสมถะในความหมายอย่างกว้างๆ คือ สมาธิเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่จำต้องเป็นสมถะที่ฝึกกันเป็นงานเป็นการจนได้อภิญญาสมาบัติ) ข้อนี้สมด้วยบาลีว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 2 อย่างนี้ เป็นวิชชาภาคิยธรรม (ธรรมเป็นไปในส่วนแห่งวิชชาหรือธรรมข้างฝ่ายวิชชา คือธรรมที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดวิชชา) ได้แก่ สมถะ และ วิปัสสนา”
“สมถะ เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? (ตอบ) จิตจะได้รับการเจริญ, จิตเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? (ตอบ) ละราคะได้”
“วิปัสสนา เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? (ตอบ) ปัญญาจะได้รับการเจริญ, ปัญญาเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? (ตอบ) ละอวิชชาได้”
“ภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น หรือปัญญาก็ดีที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมเจริญไม่ได้, ด้วยประการดั่งนี้ เพราะสำรอกราคะได้ จึงมีเจโตวิมุตติ, เพราะสำรอกอวิชชาได้ จึงมีปัญญาวิมุตติ”
วิมุตติ 5 นั้น คือ
1) วิกขัมภนวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยข่ม (กิเลส) ไว้ คือระงับนิวรณ์เป็นต้นได้ด้วยอำนาจสมาธิ ได้แก่ สมาบัติ 8 คือ รูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 แต่บางทีท่านยอมให้ผ่อนลงมารวมถึงอุปจารสมาธิด้วย
2) ตทังควิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยองค์ธรรมจำเพาะ คือ พ้นอกุศลอย่างหนึ่งๆ ด้วยธรรมที่เป็นคู่ปฏิปักษ์กัน ว่าตามความหมายอย่างเคร่ง หรือความหมายมาตรฐาน ได้แก่ พ้นความเห็นผิดยึดถือผิด ด้วยอาศัยญาณคือความรู้ฝ่ายวิปัสสนาที่ตรงข้ามเป็นคู่ปรับกัน เช่น พิจารณาความไม่เที่ยง ทำให้พ้นความสำคัญหมายว่าเป็นของเที่ยง เป็นต้น แต่ว่าตามความหมายที่ผ่อนลงมา ใช้ได้กับความดีความชั่วทั่วๆ ไป เช่น น้อมใจดิ่งไปทางทาน ทำให้พ้นจากความตระหนี่และความโลภ น้อมใจดิ่งไปทางเมตตา ทำให้พ้นจากพยาบาทหรือการมองในแง่ร้าย พุ่งความคิดไปทางกรุณาหรืออหิงสา ทำให้พ้นจากวิหิงสาคือการข่มเหงเบียดเบียนและความรุนแรง เป็นต้น
วิมุตติตามความหมาย 2 อย่างแรกนี้ คลุมถึงสามายิกเจโตวิมุตติ และเป็นโลกิยวิมุตติทั้งหมด
3) สมุจเฉทวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยเด็ดขาด หรือตัดขาด คือการทำลายกิเลสที่ผูกรัดไว้ หลุดพ้นเป็นอิสระออกไปได้ ด้วยญาณหรือวิชชาขั้นสุดท้าย ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นมรรค
4) ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยสงบระงับเรียบสนิทหรือราบคาบไป คือความเป็นผู้หลุดพ้นออกไปได้แล้ว มีความเป็นอิสระอยู่ เพราะกิเลสที่เคยผูกรัดหรือครอบงำ ถูกกำจัดราบคาบไปแล้วได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นผล
5) นิสสรณวิมุตติ ความหลุดพ้นที่เป็นภาวะหลุดรอดปลอดโปร่ง คือ ภาวะแห่งความเป็นอิสระ ที่ผู้หลุดพ้นเป็นอิสระแล้วประสบอยู่ ชื่นชมหรือเสวยรสอยู่ และซึ่งทำให้ผู้นั้นปฏิบัติกิจอื่นๆ ได้ด้วยดีต่อๆ ไป ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นนิพพาน
วิมุตติตามความหมาย 3 อย่างหลังนี้ (3-4-5) เป็นอสามายิกเจโตวิมุตติ และเป็นโลกุตรวิมุตติ ว่าโดยสาระแท้ๆ วิมุตติ 5 นี้ ก็คือ สมถะ วิปัสสนา มรรค ผล และ นิพพาน ตามลำดับ
6.4.1 สำนวนสามัญ: พิจารณาขันธ์ 5
• “ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงวิญญาณไม่เที่ยง; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติดแม้ในรูป…แม้ในเวทนา…แม้ในสัญญา…แม้ในสังขารทั้งหลาย…แม้ในวิญญาณ, เมื่อหายติด (นิพพิทา) ย่อมคลายออก(วิราคะ), เพราะคลายออก ย่อมหลุดพ้น; เมื่อหลุดพ้น ย่อมมีญาณว่า หลุดพ้นแล้ว; ย่อมรู้ชัดว่า สิ้นเกิด จบมรรคาชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) เสร็จกรณีย์ ไม่มีกิจอื่นอีกเพื่อภาวะเช่นนี้
“ภิกษุทั้งหลาย รูป ปัจจัยบีบคั้นได้ (ทุกข์) เวทนา…สัญญา…สังขารทั้งหลาย…วิญญาณ
ปัจจัยบีบคั้นได้;…เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ
“ภิกษุทั้งหลาย รูป ไม่เป็นตน (อนัตตา) เวทนา…สัญญา…สังขารทั้งหลาย…วิญญาณ ไม่เป็นตน;…เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”
• “รูป…เวทนา…สัญญา…สังขารทั้งหลาย…วิญญาณ ไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นปัจจัยบีบคั้นได้ (ทุกข์), สิ่งใดมีปัจจัยบีบคั้นได้ สิ่งนั้นไม่เป็นตน (อนัตตา), สิ่งใดไม่เป็นตน สิ่งนั้นอริย-สาวก พึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ “นั่นของเรา” ไม่ใช่ “เราเป็นนั่น” ไม่ใช่ “นั่นเป็นตัวตนของเรา”; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”
• “ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เป็นตน (เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณ ไม่เป็นตน), หากว่ารูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ) นี้ จักได้เป็นตนแล้วไซร้ รูป ฯลฯ ก็ต้องไม่เป็นไปเพื่อความข้องขัด (อาพาธ) และก็พึงได้ (ตามความประสงค์) ในรูป ฯลฯ ว่า ขอรูป ฯลฯ ของเรา จงเป็นอย่างนี้ ขอรูป ฯลฯ ของเรา จงอย่าได้เป็นอย่างนี้; แต่เพราะรูป ฯลฯ ไม่เป็นอัตตา ฉะนั้น รูป ฯลฯ จึงเป็นไปเพื่อความข้องขัด และบุคคลก็ไม่ได้ (ตามความประสงค์) ในรูป ฯลฯ ว่า ขอรูป ฯลฯ ของเรา จงเป็นอย่างนี้ ขอรูป ฯลฯ ของเรา อย่าได้เป็นอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอเข้าใจอย่างไร: รูป (เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณ) เที่ยงหรือไม่เที่ยง?” (ไม่เที่ยง…) “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นภาวะบีบคั้น (ทุกข์) หรือเป็นภาวะคล่องสบาย (สุข)?” (เป็นภาวะบีบคั้น…) “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้น มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะมองเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?” (ไม่ควร…) “เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย รูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ) อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน…รูปทั้งปวงนั้น พึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ “นั่นของเรา”, ไม่ใช่ “เราเป็นนั่น”, ไม่ใช่ “นั่นเป็นตัวตนของเรา”; เมื่อมองเห็นอย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”
• “รูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ทั้งไกลทั้งใกล้ ภิกษุย่อมมองดูรูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ) นั้น ย่อมพินิจ ย่อมตรองดูโดยแยบคาย, เมื่อเธอมองดู พินิจ ตรองดูโดยแยบคาย ย่อมปรากฏแต่สิ่งที่ว่างเปล่า หาแก่นสารมิได้เลย, แก่นสารในรูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ) จะพึงมีได้อย่างไร; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ย่อมหายติด ฯลฯ”
• “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมองเห็นรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ที่ไม่เที่ยงนั่นแหละว่าไม่เที่ยง, ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ, เมื่อมองเห็นถูกต้อง ย่อมหายติด, เพราะสิ้นนันทิ ก็สิ้นราคะ, เพราะสิ้นราคะ ก็สิ้นนันทิ, เพราะสิ้นนันทิและราคะ จิตก็หลุดพ้น เรียกว่าหลุดพ้นด้วยดี”
• “ภิกษุทั้งหลาย จงพิจารณาโดยแยบคายซึ่งรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ), จงเห็นคล้อยตามที่เป็นจริง ซึ่งอนิจจตาแห่งรูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ); เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย…เมื่อเห็นคล้อยตามที่เป็นจริง ย่อมหายติดในรูป (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ); เพราะสิ้นนันทิ ก็สิ้นราคะ,เพราะสิ้นราคะ ก็สิ้นนันทิ, เพราะสิ้นนันทิและราคะ จิตก็หลุดพ้น เรียกว่าหลุดพ้นด้วยดี”
6.4.1 สำนวนสามัญ: พิจารณาอายตนะ และธรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
• “ภิกษุทั้งหลาย ตา…หู…จมูก…ลิ้น…กาย…ใจ ไม่เที่ยง; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติดฯลฯ ตา…หู…จมูก…ลิ้น…กาย…ใจ ปัจจัยบีบคั้นได้; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ ตา…หู…จมูก…ลิ้น…กาย…ใจ ไม่เป็นตน; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ รูป…เสียง…กลิ่น…รส…โผฏฐัพพะ…ธรรมารมณ์ ไม่เที่ยง…ปัจจัยบีบคั้นได้…ไม่เป็นตน; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติดฯลฯ”
ในการพิจารณาตามแนวของสำนวนนี้ คำว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อาจยักเยื้องไปได้ต่างๆ ตามอัธยาศัย เช่น อาจเป็นว่า จักษุมืดไปหมดแล้ว ตาร้อนเป็นไฟไปแล้ว หรือว่าตาเป็นสิ่งมีความเสื่อมได้เป็นธรรมดา ดังนี้เป็นต้น
• “ภิกษุทั้งหลาย ตา…หู…จมูก…ลิ้น…กาย…ใจ ไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นปัจจัยบีบคั้นได้, สิ่งใดปัจจัยบีบคั้นได้, สิ่งนั้นไม่เป็นตน; สิ่งใดไม่เป็นตน สิ่งนั้นพึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ “นั่นของเรา” ไม่ใช่ “เราเป็นนั่น” ไม่ใช่ “นั่นคือตัวตนของเรา; เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ
“ภิกษุทั้งหลาย รูป…เสียง…กลิ่น…รส…โผฏฐัพพะ…ธรรมารมณ์ ไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นปัจจัยบีบคั้นได้, สิ่งใดปัจจัยบีบคั้นได้ สิ่งนั้นไม่เป็นตน; สิ่งใดไม่เป็นตน สิ่งนั้นพึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ “นั่นของเรา” ไม่ใช่ “เราเป็นนั่น” ไม่ใช่ “นั่นคือตัวตนของเรา; เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”
• “นี่แน่ะภิกษุ เธอเข้าใจอย่างไร: ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ, จักขุสัมผัส ฯลฯ มโนสัมผัส, เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย…เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย จะเป็นสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ตาม) เป็นของเที่ยงหรือไม่เที่ยง?” (ไม่เที่ยง…) “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นภาวะบีบคั้น (ทุกข์) หรือเป็นภาวะคล่องสบาย (สุข)?” (เป็นภาวะบีบคั้น…) “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้น มีความแปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา ควรหรือที่จะมองเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?” (ไม่ควรเลย…) เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”
• “ภิกษุทั้งหลาย ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นสิ่งไม่เที่ยง, แม้สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตา(หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งไม่เที่ยง, ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ซึ่งเกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่เที่ยง จักเป็นของเที่ยงได้แต่ที่ไหน.
“ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นสิ่งที่ปัจจัยบีบคั้นได้…ไม่เป็นตัวเป็นตน, แม้สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ปัจจัยบีบคั้นได้…ไม่เป็นตัวเป็นตน, ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ปัจจัยบีบคั้นได้…เกิดจากสิ่งที่ไม่เป็นตัวเป็นตน จักเป็นสุข…จักเป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน; เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ “รูป…เสียง…กลิ่น…รส…โผฏฐัพพะ…ธรรมารมณ์ (ก็เป็นเช่นเดียวกัน); เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”
• “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมองเห็นตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์) ที่ไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง, ความเห็นของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ, เมื่อเห็นถูกต้อง ย่อมหายติด, เพราะสิ้นนันทิ ก็สิ้นราคะ, เพราะสิ้นราคะ ก็สิ้นนันทิ, เพราะสิ้นนันทิและราคะ จิตก็หลุดพ้น เรียกว่าหลุดพ้นด้วยดี”
• “ภิกษุทั้งหลาย จงพิจารณาโดยแยบคายซึ่ง ตา (หู ฯลฯ ธรรมารมณ์) จงเห็นคล้อยไปตามความเป็นจริง ซึ่งอนิจจตา แห่งตา (หู ฯลฯ ธรรมารมณ์); เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย เมื่อเห็นคล้อยไปตามความเป็นจริง ย่อมหายติดในตา (หู ฯลฯ ธรรมารมณ์); เพราะสิ้นนันทิ ก็สิ้นราคะ, เพราะสิ้นราคะ ก็สิ้นนันทิ, เพราะสิ้นนันทิและราคะ จิตก็หลุดพ้น เรียกว่าหลุดพ้นด้วยดี”
• (ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามว่า เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น, ตรัสตอบว่า) เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ ซึ่งตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์ วิญญาณ 6 สัมผัส 6 และเวทนาที่เป็นสุข ทุกข์ อทุกขมสุข) โดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น”
• (ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามว่า เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น, ตรัสตอบว่า) ภิกษุมีสุตะ (ได้เล่าเรียนหรือสดับมา) ว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” (สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย) ข้อที่ว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นนี้ ย่อมเป็น (เพียง) สุตะ ของเธอ; เธอเรียนรู้ (อภิญญา) ธรรมทุกอย่าง, ครั้นเรียนรู้ธรรมทุกอย่างแล้ว ย่อมรู้จัก (ปริญญา) ธรรมทุกอย่าง, ครั้นรู้จักธรรมทุกอย่างแล้ว ย่อมมองเห็นนิมิต (สิ่งที่กำหนดหมายหรือภาพของสิ่งทั้งหลาย) ทั้งปวง โดยนัยอื่น (=มองเห็นต่างไปจากที่เคยมองเห็นเมื่อมีความยึดมั่น) คือ เห็นตาโดยนัยอื่น เห็นรูปทั้งหลายโดยนัยอื่น เห็นเสียง (อายตนะอีก 9 วิญญาณ 6 สัมผัส 6 และเวทนาที่เป็นสุข ทุกข์ อทุกขมสุข) โดยนัยอื่น; เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมละอวิชชาได้วิชชาย่อมเกิดขึ้น”
6.4.1 สำนวนแบบสืบค้น
• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่หนอ เพราะอาศัยอะไร จึงเกิดสุขทุกข์ขึ้นภายใน?…เมื่อรูปมีอยู่ เพราะอาศัยรูป จึงเกิดสุขทุกข์ขึ้นภายใน; เมื่อเวทนา..สัญญา…สังขาร…วิญญาณ มีอยู่ เพราะอาศัยเวทนา…สัญญา…สังขาร…วิญญาณ จึงเกิดสุขทุกข์ขึ้นภายใน
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เข้าใจอย่างไร: รูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เที่ยงหรือไม่เที่ยง?” (ไม่เที่ยง…) “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นภาวะบีบคั้น หรือคล่องสบาย?” (เป็นภาวะบีบคั้น…) “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นภาวะบีบคั้น มีความปรวนแปรไปได้เป็นธรรมดา, ไม่อาศัยสิ่งนั้น จะพึงเกิดสุขทุกข์ขึ้นภายในได้หรือ?” (ไม่ได้เลย…); เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ”
6.4.1 ตัวอย่างธรรมที่พิจารณาได้ทุกระดับ
• พระมหาโกฏฐิตะ: ท่านสารีบุตร ภิกษุผู้มีศีล ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?
พระสารีบุตร: ท่านโกฏฐิตะ ภิกษุผู้มีศีล ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ 5 โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ปัจจัยบีบคั้นได้ (ทุกข์) เป็นดังโรค (ซึ่งต้องคอยดูแล) เป็นดังฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคอยก่อความเดือดร้อน เป็นที่ทำให้ข้องขัดไม่สบาย เป็นดังคนพวกฝ่ายอื่น เป็นสิ่งที่จะต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่า ไม่มีสาระจริง ไม่เป็นอัตตา…มีฐานะเป็นไปได้ที่ เมื่อภิกษุผู้มีศีล โยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ จะพึงประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล
พระมหาโกฏฐิตะ: ภิกษุโสดาบันล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?
พระสารีบุตร: แม้ภิกษุที่เป็นโสดาบัน ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ มีฐานะเป็นไปได้ที่ เมื่อภิกษุโสดาบันโยนิโสมนสิการ…(อย่างนี้) จะพึงประจักษ์แจ้งสกทาคามิผล
พระมหาโกฏฐิตะ: ภิกษุสกทาคามีล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?
พระสารีบุตร: แม้ภิกษุที่เป็นสกทาคามี ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ มีฐานะเป็นไปได้ที่ เมื่อภิกษุสกทาคามีโยนิโสมนสิการ…(อย่างนี้) จะพึงประจักษ์แจ้งอนาคามิผล
พระมหาโกฏฐิตะ: ภิกษุอนาคามีล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?
พระสารีบุตร: แม้ภิกษุที่เป็นอนาคามี ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ มีฐานะเป็นไปได้ที่ เมื่อภิกษุอนาคามีโยนิโสมนสิการ…(อย่างนี้) จะพึงประจักษ์แจ้งอรหัตตผล
พระมหาโกฏฐิตะ: พระอรหันต์ล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?
พระสารีบุตร: แม้พระอรหันต์ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านั้นแหละ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ, พระอรหันต์ไม่มีกิจซึ่งจะต้องทำยิ่งขึ้นไปอีก หรือจะต้องสั่งสมกิจที่กระทำไว้แล้ว (ก็จริง) ก็แต่ว่าธรรมเหล่านี้ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรม-สุขวิหาร (การมีที่พักใจอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) และเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ”