๓๙

พระราธเถระ

ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระราธเถระ เกิดในสกุลพราหมณ์ ในนครราชคฤห์ เดิมก็ชื่อ ราธะ สกุลของท่านเป็นสกุลที่มั่งคั่งสกุลหนึ่ง เมื่อราธพราหมณ์ แก่เฒ่าชรา บุตรภรรยาไม่เลี้ยงดู เป็นคนยากจนเข็ญใจ จึงไปอาศัยเลี้ยงชีพอยู่ กับพระภิกษุในพระเวฬุวันวิหาร ต่อมา ราธพราหมณ์มีความประสงค์อยากจะบวช แต่ไม่มีใครบวชให้ เมื่อไม่ได้บวชสมประสงค์ จึงมีร่างกายซูบผอม มีผิวพรรณหม่นหมองไม่ผ่องใส  พระบรมศาสดา ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ จึงตรัสถาม ทราบความแล้ว รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ใครระลึกถึงอุปการคุณ ของพราหมณ์นี้ได้บ้าง พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าระลึกได้ อยู่ในวันหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้า เที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์ได้ถวายอาหาร แก่ข้าพระพุทธเจ้าทัพพีหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสว่าดีละๆสารีบุตรสัตบุรุษเป็นคนกตัญญูกตเวทีถ้าอย่างนั้นสารีบุตรให้พราหมณ์นั้นบวชเถิด  ครั้นทรงอนุญาตให้พระสารีบุตร บวชราธพราหมณ์อย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งให้เลิก การอุปสมบทด้วยวิธีรับไตรสรณคมน์ ที่ได้ทรงอนุญาตไว้แล้วแต่เดิม ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทกุลบุตรด้วย ญัตติจตุตถกรรมวาจา ท่านพระราธะเป็นองค์แรก ในการอุปสมบทด้วยวิธีนี้    เมื่ออุปสมบทแล้ว วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลว่า ขอพระองค์จงแสดงธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าโดยย่อ ๆ ที่ข้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังแล้ว จักหลีกออกจากหมู่ อยู่แต่ผู้เดียว เป็นคนไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปในภาวนา
พระบรมศาสดาตรัสสอนว่า “ราธะ สิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจ ในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่า ชื่อว่ามาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน มีความสิ้นไป เสื่อมไป เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป เป็นธรรมดา ชื่อว่ามาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนั้นเสีย”   พระราธะรับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอนอย่างนี้แล้วเที่ยวจาริกไปกับพระสารีบุตรไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตต์   พระบรมศาสดา ตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลาย ถือเอาเป็นตัวอย่างว่า ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ว่าง่ายอย่างราธะเถิด เมื่ออาจารย์ ชี้โทษสั่งสอน อย่าถือโกรธ ควรคบแต่บัณฑิต ที่ตนเห็นว่าเป็นคนแสดงโทษกล่าวชม ให้เป็นดุจคนชี้บอกขุมทรัพย์ให้ เพราะคบบัณฑิตเช่นนั้น มีคุณประเสริฐ ไม่มีโทษเลย และได้ตรัสในคาถาพระธรรมทว่า “พึงเห็นบัณฑิตผู้กล่าวสอน ชี้โทษ พูดข่มไว้ มีปัญญากว้างขวาง เหมือนชี้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบบัณฑิตเช่นนั้นเมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้นก็มีแต่ดีไม่เสียหายเลย”  ต่อมา พระศาสดาทรงสถาปนาท่านพระราธเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าสาวก ผู้มีปฏิภาณ (ปฏิภาณเณยฺยกานํ) เพราะท่านมีปฏิภาณ สามารถแสดงพระธรรมเทศนาของพระศาสดาซ้ำได้ทันที

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
post