๒๙

พระราหุลเถระ

ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระราหุลเถระ มาบังเกิดเป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางยโสธรา (พิมพา) เป็นพระนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกบิลพัสดุ์   เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม วันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปที่พระราชนิเวศน์ของพระนางยโสธรา พระราชเทวีเก่าของพระองค์ พระราชเทวีได้ส่งราหุลกุมาร ผู้เป็นพระโอรสออกมาทูลขอราชสมบัติที่ควรจะได้ ราหุลกุมาร ออกไปเฝ้าเจรจาปราศรัย แสดงความรักใคร่มีประการต่าง ๆ ครั้นเห็นพระบรมศาสดาจะเสด็จกลับ จึงร้องทูลขอราชสมบัติ ตามที่เสด็จมา  พระบรมศาสดาทรงพระดำริว่า ก็ทรัพย์สมบัติทั้งหลายมั่นคงถาวร และประเสริฐยิ่งกว่าอริยทรัพย์มิได้มี ควรที่เราจะให้อริยทรัพย์แก่ราหุล เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรว่า ถ้าอย่างนั้นสารีบุตรบวชให้ราหุลเถิด ครั้งนั้น ราหุลกุมารยังเยาว์อยู่ มีอายุยังไม่ครบอุปสมบท พระสารีบุตรจึงทูลถามว่า จะโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชราหุลกุมารอย่างไร พระบรมศาสดาปรารภเรื่องนี้ให้เป็นต้นเหตุ จึงทรงพระอนุญาตให้ภิกษุบุตรกุลบุตร ที่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบทให้เป็นสามเณรเป็นครั้งแรก ด้วยไตรสรณคมน์ เมื่อราหุลกุมารบวชเป็นสามเณรแล้ว ตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระอุปัชฌายะของตนไป ครั้นเมื่อมีอายุครบแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ
วันหนึ่ง ท่านพระราหุลอยู่ ณ สวนมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไป ณ ที่นั้น ทรงแสดงเทศนาราหุโลวาทสูตร ซึ่งว่าด้วยภาชนะน้ำเปล่า บรรยายเปรียบเทียบด้วยคนพูดมุสาวาทเป็นต้น ตรัสสอนให้พระราหุลสำเหนียกตามเทศนานั้นแล้วเสด็จกลับไป  วันหนึ่ง พระราหุลเข้าเฝ้า พระบรมศาสดาสั่งสอนด้วยเทศนามหาราหุโลวาท ซึ่งว่าด้วย รูปกรรมฐานธาตุ 5 อย่าง คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน, อาโปธาตุ ธาตุน้ำ, เตโชธาตุ ธาตุไฟ, วาโยธาตุ ธาตุลม. และอากาศธาตุ ช่องว่าง, ให้พิจารณาด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างไรว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นไม่เป็นของเรา ส่วนนั้นไม่ใช่ของตัวเรา เป็นต้น ในที่สุด ตรัสสอนให้กรรมฐานอื่น ให้เจริญภาวนา คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา ครั้นทรงสอนจบแล้ว พระราหุลมีจิตยินดีคำสอนของพระบรมศาสดา  ภายหลังพระราหุลได้ฟังพระโอวาท ที่พระบรมศาสดาสั่งสอนในทางวิปัสสนา คล้ายกับโอวาทที่ตรัสสอนภิกษุปัญจวัคคีย์ เป็นแต่ในที่นี้ยก อายตนะภายในภายนอก เป็นต้น ขึ้นแสดงแทนขันธ์ห้า ท่านส่งจิตไปตามพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัตผล  ท่านพระราหุลนั้น เป็นผู้ใคร่ในการศึกษาธรรมวินัย ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ท่านพระราหุลนั้น ครั้นลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว จึงไปกอบทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ในเวลานี้ข้าพเจ้า พึงได้รับซึ่งโอวาทคำสั่งสอนแต่สำนักพระบรมศาสดา หรือแต่สำนักพระอุปัชฌายาจารย์ทั้งหลาย ให้ได้มากประมาณเท่าเม็ดทราย ในกำมือแห่งข้าพเจ้านี้  ด้วยเหตุนั้นพระราหุล จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในการศึกษา (สิกฺขกามานํ).

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
post