ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระโมฆราชเถระ มาบังเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยาตามประเพณีพราหมณ์
ครั้นพราหมณ์พาวรีมี ความเบื่อหน่ายในฆราวาส ได้ทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศล ออกจากตำแหน่งปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิล บำเพ็ญพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ โมฆราชมาณพ พร้อมกับมาณพสิบห้าคน ออกออกบวชติดตามไปอยู่ด้วย และอยู่ในมาณพ 16 คน ที่พราหมณ์พาวรีได้ผูกปัญหา ให้ไปกราบทูลถามพระบรมศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ
โมฆราชมาณพทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบห้าว่า " โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลก กับเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุฉะนี้ จึงมีปัญหาถึงพระองค์ ผู้ทรงพระปรีชา เห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้า พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงไม่แลเห็น คือจะตามไม่ทัน พระบรมศาสดา ทรงตอบว่า ท่านจงเป็นคนมีสติ พิจารณาเห็นโลก โดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่า ตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะพ้นจากมัจจุราชได้ ด้วยอุบายอย่างนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แลมัจจุราชจะไม่แลเห็น ในที่สุดแห่งการปุจฉา-วิสัชนาปัญหา โมฆราชมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อพระบรมศาสดา ทรงตอบปัญหาที่ปิงคิยมาณพ ถามจบลงแล้ว โมฆราชมาณพ พร้อมด้วยมาณพสิบห้าคนทูล ขออุปสมบทในพระธรรมวินัยพระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระโมฆราช เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ท่านยินดีในผ้าบังสุกุลจีวรที่ประกอบด้วยความเศร้าหมอง 3 อย่าง คือ เศร้าหมองด้วยผ้า เศร้าหมองด้วยด้าย เศร้าหมองด้วยเครื่องย้อม ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง (ลูขจีวรธรานํ)
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250