๑๒

พระปทุมพุทธเจ้า

ฉายา: ผู้ทำให้โลกสว่าง

ความสูง: ๕๘ ศอก

รัศมี: แผ่ซ่านออกไปเหลือประมาณ

บำเพ็ญบารมี: บำเพ็ญบารมีครบถ้วน

วรรณะ: กษัตริย์

พุทธบิดา: อสมะ

พุทธมารดา: อสมาเทวี

พระนคร: จัมปกะ

ใช้ชีวิตฆราวาส: ๒๐,๐๐๐ ปี

มเหสี: อุตตรา

บุตร: รัมมะ

ยานพาหานะที่ใช้ออกบวช: ทรงราชรถออกบวช

ระยะเวลาการทำความเพียร: ๘ เดือน

ต้นไม้ตรัสรู้: ที่โคนต้นมหาโสณะ (ต้นอ้อยช้างใหญ่)

อายุขัย :๑๐๐,๐๐๐ ปีจึงปรินิพพาน ณ ธรรมาราม

 

๑๒. พระปทุมพุทธเจ้า

ปทุมพุทธวงศ์ที่ ๘

ว่าด้วยพระประวัติพระปทุมพุทธเจ้า

 

สมัยต่อมาจากพระอโนมทัสสีบรมศาสดา พระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสรรพสัตว์ มีพระนามว่าชื่อปทุม ผู้ไม่มีบุคคลเปรียบเสมอ ศีลของพระองค์หาเสมอไม่ แม้สมาธิก็ไม่มีที่สุด พระญาณอันประเสริฐนับไม่ถ้วน แม้วิมุตติก็ไม่มีอะไรเปรียบ แม้ในคราวที่พระองค์ผู้ทรงเดชไม่มีอะไรเทียบเท่าทรงประกาศธรรมจักรธรรมาภิสมัยอันกำจัดความมืดตื้อได้มี ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ พระพุทธธีรเจ้าทรงยังสัตว์ให้ตรัสรู้ร้อยโกฏิ ครั้งที่ ๒ ทรงยังสัตว์ให้ตรัสรู้เก้าสิบโกฏิ และในคราวเมื่อ พระปทุมพุทธเจ้าตรัสสอนพระราชโอรส ของพระองค์ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์แปดสิบโกฏิพระปทุมบรมศาสดา ทรงมีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ พระสาวกมาประชุมกันแสนโกฏิ เมื่อกฐินจีวรเกิดขึ้นในสมัยกรานกฐิน ภิกษุทั้งหลาย  ช่วยกันเย็บจีวร เพื่อประโยชน์แก่พระธรรมเสนาบดี ครั้งนั้นภิกษุเหล่านั้นล้วนปราศจากมลทินได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก ผู้ไม่พ่ายแพ้อะไรๆ สามแสนรูปมาประชุมกัน สมัยต่อมา ในคราวที่พระบรมศาสดาผู้องอาจกว่านรชน ทรงเข้าจำพรรษาในป่าใหญ่ ครั้งนั้น พระสาวกสองแสนมาประชุมกัน สมัยนั้นเราเป็นราชสีห์เป็นใหญ่กว่าฝูงมฤค ได้พบพระพิชิตมาร ซึ่งกำลังเจริญวิเวกอยู่ในป่าใหญ่ เราถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้ากระทำประทักษิณบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง บำรุงพระพิชิตมารอยู่ ๗ วัน ครบ ๗ วัน แล้วพระตถาคตเสด็จออกจากสมาบัติอันประเสริฐทรงดำริด้วย

พระทัยให้พระภิกษุมาประชุมกันโกฏิหนึ่ง แม้ครั้งนั้น พระมหาวีรเจ้าพระองค์นั้น ก็ทรงพยากรณ์เราในท่ามกลางภิกษุเหล่านั้นว่าผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก .................

ข้ามแม่น้ำใหญ่ ฉะนั้นเรา ได้ฟังพระพุทธพยากรณ์แม้นั้นแล้วยังจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้ยิ่งขึ้น พระนครชื่อว่า จัมปกะ พระบรมกษัตริย์พระนามว่าอสมะเป็นพระชนกของพระปทุมบรมศาสดา พระนางอสมาเป็นพระชนนีพระองค์ทรงครอบครองอคารสถานอยู่สองหมื่นปี ทรงมีปราสาทอันประเสริฐ ๓ ปราสาท ชื่อนันทะ วสุ และอสัตตระ ทรงมีพระสนมานารีกำนัลในสามหมื่นสามพันนาง   ล้วนประดับประดาสวยงาม   พระมเหสีพระนามว่าอุตตรา  พระราชโอรสพระนามว่ารัมมะพระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงเสด็จออกผนวชด้วยราชรถอันเป็นราชยาน ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม

 

พระปทุมมหาวีรเจ้าผู้เป็นนายกของโลก อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ ธนัญชราชอุทยานอันประเสริฐทรงมีพระสาลเถระ และพระอุปสาลเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระชื่อว่าวรุณเป็นพระพุทธุปัฏฐากพระราธาเถรีและพระสุราธาเถรีเป็นพระอัครสาวิกาไม้โพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเรียกกันว่าไม้อ้อยช้างใหญ่ สภิยอุบาสกและอสมอุบาสก เป็นอัครอุปัฏฐาก รุจิอุบาสิกา และนันทิมาราอุบาสิกา เป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระมหามุนีพระกายสูง  ๕๘ ศอก พระองค์ทรงมีพระรัศมีไม่มีอะไรเสมอแผ่ออกไปทั่วทิศรัศมีพระจันทร์ รัศมีพระอาทิตย์ แสงรัตนะ และแสงแก้วมณี  แม้ทุกอย่างนั้น ครั้นมาถึงรัศมีอันสูงสุดของพระชินเจ้า ย่อมหายไปครั้งนั้นมนุษย์มีอายุแสนปี พระองค์ทรงดำรงพระชนมายุอยู่เท่านั้น ทรงช่วยให้หมู่ชนข้ามพ้นวัฏสงสารได้เป็นอันมาก พระองค์ทรงยังสัตว์ผู้มีอัธยาศัยแก่กล้าให้ตรัสรู้โดยไม่เหลือ ทรงพร่ำสอนชนที่เหลืออื่นๆ แล้ว เสด็จนิพพานพร้อมด้วยพระสาวก พระองค์ทรงละทิ้งสังขารทั้งปวง เหมือนงูลอกคราบอันเก่า ดังต้นไม้สลัดใบเก่าแล้วเสด็จนิพพานเหมือนไฟดับ ฉะนั้น พระพิชิตมารผู้ประเสริฐบรมศาสดาพระนามว่าปทุม เสด็จนิพพาน ณ ธรรมาราม พระธาตุของพระองค์แผ่ไปกว้างในประเทศนั้นๆ ฉะนี้แล.

 

จบปทุมพุทธวงศ์ที่ ๘


ที่มา: พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ (ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์-จริยาปิฎก)

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
post