๑๕

พระสุเมธพุทธเจ้า

ฉายา: ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้

ความสูง: ๘๘ ศอก

รัศมี: แผ่ซ่านออกไปตลอดโยชน์หนึ่งโดยรอบ

บำเพ็ญบารมี: บำเพ็ญบารมีครบถ้วน

วรรณะ: กษัตริย์

พุทธบิดา: สุทัตตะ

พุทธมารดา: สุทัตตาเทวี

พระนคร: สุทัสสนะ

ใช้ชีวิตฆราวาส: ๙,๐๐๐ ปี

มเหสี: สุมนา

บุตร: ปุนัพพะ

ยานพาหานะที่ใช้ออกบวช: ทรงช้างออกบวช

ระยะเวลาการทำความเพียร: ๘ เดือน

ต้นไม้ตรัสรู้: ที่โคนต้นนีปะ (ต้นสะเดา)

อายุขัย: ๙๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน ณ เมธาราม

 

๑๕. พระสุเมธพุทธเจ้า

สุเมธพุทธวงศ์ที่ ๑๑

ว่าด้วยพระประวัติพระสุเมธพุทธเจ้า

 

ในสมัยต่อมาจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ พระพิชิตมาร พระนามว่าสุเมธ ผู้เป็นนายกของโลก ยากที่จะเทียมถึง ทรงมีเดชรุ่งเรือง อุดมกว่าสัตวโลกทั้งปวง ทรงมีพระเนตรแจ่มใส พระพักตร์แช่มชื่น พระองค์สูงใหญ่ ตรง มีสง่า ทรงแสวงหาประโยชน์เพื่อสรรพสัตว์ ทรงเปลื้องสัตว์ให้พ้นจากเครื่องผูกเป็นอันมาก ในกาลเมื่อพระพุทธเจ้าทรงบรรลุพระโพธิญาณอันอุดมบริสุทธิ์แล้ว ทรงประกาศธรรมจักร ณ สุทัสนนคร แม้ในกาลที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีธรรมาภิสมัย ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ ครั้งที่ ๒ ในกาลเมื่อพระพิชิตมารทรงทรมานยักษ์ชื่อว่า กุมภกรรณ์ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์เก้าหมื่นโกฏิ ครั้งที่ ๓ ในกาลเมื่อพระองค์ผู้ทรงยศนับไม่ได้ ทรงประกาศจตุราริยสัจธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์แปดหมื่นโกฏิ พระสุเมธศาสดาทรงมีการประชุมพระภิกษุขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่  ๓ ครั้ง ในกาลเมื่อพระพิชิตมารเสด็จเข้าไปในสุทัสนนคร  พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกันร้อยโกฏิ ในกาลเมื่อภิกษุทั้งหลาย กรานกฐิน ณ เทวกูฏ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกันครั้งที่ ๒ เก้าสิบโกฏิ ในกาลเมื่อพระทศพลเสด็จจาริกไปอีกครั้งหนึ่ง พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกันครั้งที่ ๓ แปดสิบโกฏิ สมัยนั้น เราเป็นมาณพมีนามว่าอุตระ มีทรัพย์ที่เก็บสะสมไว้ในเรือนแปดสิบโกฏิ เราได้ถวายทรัพย์แก่พระศาสดา พร้อมด้วยพระสาวกหมดสิ้น แล้วถึง

พระองค์เป็นสรณะ ชอบใจ (ออก) บรรพชา แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เมื่อทรงทำอนุโมทนา ก็ทรงพยากรณ์เราในกาลนั้นว่าในสามหมื่นกัป ผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก ... ข้ามแม่น้ำใหญ่ ฉะนั้น 

 

เราได้ฟังพระพุทธพยากรณ์แม้นั้นแล้วยังจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญบารมี ๑๐  ประการ ให้ยิ่งขึ้นไป เราเล่าเรียนพระสูตรและพระวินัย อันเป็นนวังคสัตถุศาสน์ทั้งปวงแล้ว ทำพระศาสนาของพระพิชิตมารให้งามเราเป็นผู้ไม่ประมาทในคำสั่งสอนนั้น ทั้งในเวลานั่งยืนและเดิน ถึงความสำเร็จในอภิญญาแล้ว ได้ไปยังพรหมโลก พระนครชื่อว่าสุทัสนะ พระบรมกษัตริย์พระนามว่าสุทัตตะ เป็นพระชนกของพระสุเมธศาสดา พระนางสุทัตตาเป็นพระชนนี พระองค์ทรงครอบครองอาคารสถานอยู่เก้าหมื่นปี ทรงมีปราสาทอันประเสริฐ ๓ ปราสาทชื่อว่าสุจันทะ กัญจนะ และสิริวัฑฒะ มีพระสนมนารีกำนัลในสี่หมื่นแปดพันนาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าสุมนา พระราชโอรสพระนามว่าปุนัพพะ พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงเสด็จออกผนวชด้วยคชสารอันเป็นยานพระที่นั่งต้น ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม

 

พระสุเมธมหาวีรชินเจ้าผู้เป็นนายกของโลก อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศธรรมจักร ณ สุทัสนอุทยานอันประเสริฐ ทรงมีพระสรณเถระและสรรพกามเถระ เป็นพระอัครสาวก พระเถระชื่อว่าสาคระ เป็นพุทธอุปัฏฐาก พระรามาเถรีและพระสุรามาเถรี เป็นพระอัครสาวิกา ไม้โพธิพฤกษ์ของพระองค์เรียกชื่อว่าต้นสะเดา อุรุเวลาอุบาสกและยสวาอุบาสก เป็นอัครอุปัฏฐาก ยสาอุบาสิกาและสิริวาอุบาสิกา เป็นอัครอุปัฏฐายิกาพระมหามุนีทรงมีพระองค์สูง ๘๘ ศอก มีพระรัศมีสว่างไสวไปทั่วทิศเปรียบดังพระจันทร์ในหมู่ดาว ฉะนั้น พระรัศมีของพระองค์แผ่ไปตลอดโยชน์หนึ่งโดยรอบ เหมือนแก้วมณีของพระเจ้าจักรพรรดิ  แผ่ไปโยชน์หนึ่ง ฉะนั้น ในกาลนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุเก้าหมื่นปีพระองค์ทรงดำรงพระชนมายุอยู่เท่านั้น ทรงช่วยให้หมู่ชนข้ามพ้นวัฏฏสงสารได้มากมาย พระศาสนาของพระองค์ คับคั่งไปด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ล้วนแต่ผู้บรรลุไตรวิชชา ฉฬภิญญา และพลธรรมคงที่ แม้ท่านทั้งหมดนั้น ล้วนมียศศักดิ์มากนับไม่ได้ หลุดพ้นแล้วไม่มีอุปธิ แสดงแสงสว่างแห่งญาณแล้วนิพพาน พระพุทธสุเมธชินเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จนิพพาน ณ เมธาราม พระธาตุของพระองค์แผ่กระจัดกระจายไปในประเทศนั้นๆ ฉะนี้แล.

 

จบสุเมธพุทธวงศ์ที่ ๑๑


ที่มา: พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ (ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์-จริยาปิฎก)

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
post