อมฤตพจนา
๑๗. วาจา (๔๐๔)
ยํ หิ กยิรา ตํ หิ วเท ยํ น กยิรา น ตํ วเท
อกโรนฺตํ ภาสมานํ ปริชานนฺติ ปณฺฑิตา
จะทำสิ่งใด พึงพูดสิ่งนั้น สิ่งใดไม่ทำ ไม่พึงพูดถึง
บัณฑิตย่อมหมายเอาได้ว่า คนไม่ทำ ดีแต่พูด
๔๐๔ [๑๗.๐๑] (๒๗/๘๖๐)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- คนดี จะมีการพูดกับการทำไปในทางเดียวกัน
- ดังนั้น จะพูดเฉพาะสิ่งที่ทำ และจะไม่พูดในสิ่งที่ไม่ทำ
- ไม่ควรเป็นคนที่ไม่ทำ ดีแต่พูดจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือและการยอมรับ
อมฤตพจนา
๑๗. วาจา (๔๐๕)
ยถาวาที ตถาการี
พูดอย่างใด ทำอย่างนั้น
๔๐๕ [๑๗.๐๒] (๒๗/๖๐๕)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- คนดีย่อมรักษาคำพูด
- คนดีพูดสิ่งใด ทำสิ่งนั้น
- คนดีไม่พูดสิ่งใด ไม่ทำสิ่งนั้น
อมฤตพจนา
๑๗. วาจา (๔๐๖)
หทยสฺส สทิสี วาจา
วาจาเช่นเดียวกับใจ
๔๐๖ [๑๗.๐๓] (๒๗/๕๖๐)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- วาจาควรจะตรงกับใจ จึงจะเป็นคนที่ปากตรงกับใจ
- ไม่ควรเป็นคนที่ปากไม่ตรงกับใจ จะทำให้เป็นคนที่คบไม่ได้
อมฤตพจนา
๑๗. วาจา (๔๐๗)
ปุริสสฺส หิ ชาตสฺส กุธารี ชายเต มุเข
ยาย ฉินฺทติ อตฺตานํ พาโล ทุพฺภาสิตํ ภณํ
คนเกิดมาชื่อว่ามีขวานเกิดติดปากมาด้วย
สำหรับให้คนพาลใช้ฟันตัวเอง ในเวลาที่พูดคำชั่ว
๔๐๗ [๑๗.๐๔] (๒๕/๓๘๗)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- คนเราเกิดมามีสิ่งดีสิ่งหนึ่งคือ สติ เปรียบเหมือนขวานคอยลงโทษตัวเองเวลามีวาจาชั่ว
- คนเราเกิดมา ปากสามารถฆ่าคนได้ โดยไม่ต้องใช้อาวุธ
- ในขณะเดียวกัน ปากสามารถเชื่อมคนเข้าหากันและเป็นมิตรได้
- ปากมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นตัวแทนที่สำคัญของใจ ในการที่จะทำให้คนรักหรือคนเกลียดก็ได้
อมฤตพจนา
๑๗. วาจา (๔๐๘)
โย นินฺทิยํ ปสํสติ ตํ วา นินฺทติ โย ปสํสิโย
วิจินาติ มุเขน โส กลึ กลินา เตน สุขํ น วินฺทติ
ผู้ใดสรรเสริญคนควรนินทา หรือนินทาคนควรสรรเสริญ
ผู้นั้นเอาปากเก็บกาลีไว้ จะไม่ได้พบสุขเพราะกาลีนั้น
๔๐๘ [๑๗.๐๕] (๒๑/๓)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- คนจะสรรเสริญหรือนินทา เพราะใช้ปาก ปากเป็นตัวเหตุของการสร้างความแตกแยก หรือสร้างสามัคคี ฉะนั้น ใช้ปากเพื่อแยกแยะคนดีและคนชั่ว มิฉะนั้นตนเองจะไม่มีความสุขเลยเพราะปากเป็นพิษ
- คนดี จะใช้ปากพูดแต่สิ่งที่เป็นมงคล
- คนชั่ว จะใช้ปากพูดแต่สิ่งที่เป็นอัปมงคล
- หัดใช้ปากให้เป็นประโยชน์ ชีวิตก็จะพบความสุขตามโลกธรรม ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มิใช่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
อมฤตพจนา
๑๗. วาจา (๔๑๒)
วาจํ ปมุญฺเจ กุสลํ นาติเวลํ
ถึงวาจาดี ก็ไม่ควรกล่าวให้เกินกาล
๔๑๒ [๑๗.๐๙] (๒๕/๔๒๓)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- การพูด ควรพูดแต่เพียงพอดี และให้เหมาะแก่กาลเทศะ
- การพูดถึงแม้จะดีเพียงใด ก็ควรให้เหมาะสมกับเวลาที่พูด
อมฤตพจนา
๑๗. วาจา (๔๑๔)
อพทฺธา ตตฺถ พชฺฌนฺติ ยตฺถ พาลา ปภาสเร
คนพาล ยังไม่ถูกผูก
แต่พอพูดในเรื่องใด ก็ถูกมัดตัวในเรื่องนั้น
พทฺธาปิ ตตฺถ มุจฺจนฺติ ยตฺถ ธีรา ปภาสเร
คนมีปัญญา แม้ถูกผูกมัดอยู่
พอพูดในเรื่องใด ก็หลุดได้ในเรื่องนั้น
๔๑๔ [๑๗.๑๑] (๒๗/๑๒๐)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- คนพาลจะไม่ระมัดระวังในการพูด จะพูดโดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา ดังนั้น คนพาลที่พูดเรื่องอะไรก็ตาม ก็จะมีเรื่องที่ผูกมัดกับตัวเอง
- ในทางตรงข้าม คนที่มีปัญญาจะพูดในเรื่องใดจะไม่ผูกมัดตัวเองในเรื่องนั้น มีทางหนีทีไล่
- ดังนั้นคนพาลและคนมีปัญญา จะต่างกันตรงที่คนพาลพูดโดยไม่คิดว่าจะเกิดผลกระทบอะไร ในขณะคนที่มีปัญญาจะคิดก่อนพูดเพื่อไม่ให้ผูกมัดตัวเอง แม้ผูกมัดไปแล้วก็จะหาทางออก