ชีวิต ควรให้เป็นอย่างไร?
หลักการสำคัญ
ของการบรรลุนิพพาน
หลักทั่วไป
“ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานก็ได้ อาศัยทุติยฌานก็ได้ ตติยฌานก็ได้ จตุตถฌานก็ได้ อากาสานัญจายตนะก็ได้ วิญญาณัญจายตนะก็ได้ อากิญจัญญายตนะก็ได้ เนวสัญญานาสัญญายตนะก็ได้ (สัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้)”
“ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานก็ได้ ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าว? (คือ) ภิกษุในธรรมวินัยนี้…บรรลุปฐมฌาน, เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ สิ่งที่เป็นรูป สิ่งที่เป็นเวทนา สิ่งที่เป็นสัญญา สิ่งที่เป็นสังขาร สิ่งที่เป็นวิญญาณ อันมีอยู่ในปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์…โดยความเป็นของสูญ โดยความเป็นอนัตตา, เธอยังจิตให้ยั้งหยุด (หันกลับ คือคลายหรือไม่อยากได้ ไม่ติด) จากธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้วเธอย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต กล่าวคือ…นิพพาน เธอดำรงอยู่ใน (ปฐมฌาน) นั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
“ถ้ายังไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะ, เพราะ (ยังมี) ธรรมราคะ…ก็จะเป็นโอปปาติกะ เป็นผู้ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา (คือเป็นพระอนาคามี)…”
พระอรรถกถาจารย์ จัดแบ่งพระอรหันต์ออกไปเป็น 10 ประเภท เป็นพระอุภโตภาควิมุต 5 พระปัญญาวิมุต 5 จัดเรียงจากสูงลงไปดังนี้ (อันดับที่ 1–9 เป็นสมถยานิก อันดับที่ 10 เป็นวิปัสสนายานิก หรือสุทธวิปัสสนายานิก)
ก. พระอุภโตภาควิมุต
1. พระอุภโตภาควิมุต ผู้ได้สัญญาเวทยิตนิโรธ
2. พระอุภโตภาควิมุต ผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
3. พระอุภโตภาควิมุต ผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ
4. พระอุภโตภาควิมุต ผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ
5. พระอุภโตภาควิมุต ผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ
ข. พระปัญญาวิมุต
6. พระปัญญาวิมุต ผู้ได้จตุตถฌาน
7. พระปัญญาวิมุต ผู้ได้ตติยฌาน
8. พระปัญญาวิมุต ผู้ได้ทุติยฌาน
9. พระปัญญาวิมุต ผู้ได้ปฐมฌาน (ได้ก่อนทำวิปัสสนา)
10. พระปัญญาวิมุต ผู้เป็นสุกขวิปัสสก (พระวิปัสสนายานิก)
หลักสมถะที่เป็นฐาน
สำนวนที่ 1 เป็นแบบที่พบบ่อย และคุ้นตากันที่สุด แสดงฌาน 4 ต่อด้วยวิชชา 3 “ดูกรอัคคิเวสสนะ เรานั้นแล (ฉันอาหารหยาบ ให้กายได้กำลังแล้ว) สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน…บรรลุทุติยฌาน…บรรลุตติยฌาน…บรรลุจตุตถฌาน…อยู่
“เรานั้น ครั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีฝ้ามัว ปราศจากอุปกิเลส เป็นของนุ่มนวล ควรแก่งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ก็น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ (ญาณที่ให้ระลึกถึงขันธ์อันเคยอาศัยอยู่ในก่อนได้ – ระลึกชาติได้)…(วิชชาที่ 1 นี้แล เราบรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว…)
“เรานั้น ครั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ…อย่างนี้แล้ว ก็น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ (ณาณกำหนด
รู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามกรรม)…(วิชชาที่ 2 นี้แล เราบรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว…แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว…)
“เรานั้น ครั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ…อย่างนี้แล้ว ก็น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ (ญาณที่ทำให้สิ้นอาสวะ = ตรัสรู้), เรานั้น รู้ชัดตามที่มันเป็นว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธ คามินีปฏิปทา, รู้ชัดตามที่มันเป็นว่า เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา, เรานั้น เมื่อรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ
“เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว, เรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ ไม่มี; (วิชชาที่ 3 นี้แล เราบรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว…แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว…)”
สำนวนแบบที่ 1 ซึ่งบรรยายลำดับการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมของสาวกโดยทั่วไป ก็มีข้อความอย่างเดียวกันนี้ ต่างแต่เพียงไม่มีข้อความในวงเล็บ
หลักวิปัสสนาที่เป็นมาตรฐาน
การพิจารณาสังขารให้เกิดความเห็นแจ้งเข้าใจชัด รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะที่เป็นจริง ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าวิปัสสนานั้น เป็นส่วนสาระสำคัญของการตรัสรู้หรือบรรลุมรรคผล ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นสมถยานิกหรือวิปัสสนายานิก ไม่ว่าจะเป็นวิธีปฏิบัติแบบใดในวิธีทั้ง 4 มี สมถปุพพังคมวิปัสสนา และวิปัสสนาปุพพังคมสมถะ เป็นต้น จะต้องผ่านการปฏิบัติส่วนนี้ทั้งสิ้น
คำบรรยายสรุปเหล่านี้ ก็เป็นสำนวนแบบเช่นเดียวกัน และมีหลายสำนวน อยู่ในต่างแห่งต่างที่ ขอยกมาให้พิจารณา ดังนี้
• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ญาณทัศนะตามเป็นจริงของเรา ซึ่งมีปริวัฏฏ์ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ ในอริยสัจ 4 ประการเหล่านี้ หมดจดแจ่มชัดดีแล้ว, เมื่อนั้นแหละ เราจึงปฏิญาณในโลก…ว่า เราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็แลญาณทัศนะ เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า เจโต-วิมุตติของเราเป็นอกุปปา นี้เป็นอันติมชาติ บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี”
• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งอัสสาทะ (คุณ, ส่วนดี) ของอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านี้ โดยความเป็นอัสสาทะ ซึ่งอาทีนพ (โทษ, ส่วนเสีย) โดยความเป็นอาทีนพ และซึ่งนิสสรณะ (ภาวะรอดพ้น, ทางออก, ความเป็นอิสระ) โดยความเป็นนิสสรณะ, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก…ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ…บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี”
• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งอัสสาทะของอายตนะภายในทั้ง 6 เหล่านี้ โดยความเป็นอัสสาทะ ซึ่งอาทีนพโดยความเป็นอาทีนพ ซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะ, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก…ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ…บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี”
• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งสมุทัย ความอัสดง อัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะ ของอินทรีย์ทั้ง 5 (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) เหล่านี้, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก…ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ…บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี”
• “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งสมุทัย ความอัสดง อัสสาทะ อาทีนพและนิสสรณะ ของอินทรีย์ทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เหล่านี้, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก…ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ…บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี”
• “ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก…ภิกษุทั้งหลาย ดังที่เป็นมา แม้เราเอง ก่อนสัมโพธิ ยังมิได้ตรัสรู้ เป็นโพธิสัตว์ ก็ดำรงอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก กายก็ไม่เหนื่อย จักษุก็ไม่เหนื่อย และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น”
• “ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณ…ปัญญา…วิชชา…แสงสว่าง…เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่มิเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า “เวทนา คือดังนี้…สมุทัยแห่งเวทนา เป็นดังนี้…ปฏิปทาที่นำไปสู่สมุทัยแห่งเวทนา เป็นดังนี้…นิโรธแห่งเวทนา เป็นดังนี้…ปฏิปทาที่นำไปสู่นิโรธแห่งเวทนา เป็นดังนี้…อัสสาทะแห่งเวทนา เป็นดังนี้…อาทีนพแห่งเวทนา เป็นดังนี้…นิสสรณะแห่งเวทนา เป็นดังนี้”
• “ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณ…ปัญญา…วิชชา…แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่มิเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า “กาเย กายานุปัสสนา คือดังนี้…ก็ กาเย กายานุปัสสนานั้น เป็นธรรมควรเจริญ…กาเย กายานุปัสสนานั้น เราเจริญแล้ว…เวทนาสุ เวทนานุปัสสนา คือดังนี้…ก็เวทนาสุ เวทนานุปัสสนานั้น เป็นธรรมควรเจริญ…เวทนาสุ เวทนานุปัสสนานั้น เราเจริญแล้ว…จิตเต จิตตานุปัสสนา คือดังนี้…ก็จิตเต จิตตานุปัสสนานั้น เป็นธรรมควรเจริญ…จิตเต จิตตานุปัสสนานั้น เราเจริญแล้ว…ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสนา คือดังนี้…ก็ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสนานั้น เป็นธรรมควรเจริญ…ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสนานั้น เราเจริญแล้ว”
• “ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณ…ปัญญา…วิชชา…แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่มิเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า “อิทธิบาท (ข้อที่ 1) คือดังนี้…ก็อิทธิบาท (ข้อที่ 1) นั้น เป็นธรรมควรเจริญ…อิทธิบาท (ข้อที่ 1) นั้น เราเจริญแล้ว…อิทธิบาท (ข้อ2-3-4) คือดังนี้…ก็อิทธิบาท (ข้อ 2-3-4) นั้น เป็นธรรมควรเจริญ…อิทธิบาท (ข้อ 2-3-4) นั้น เราเจริญแล้ว”
• “ภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่สัมโพธิ เมื่อยังไม่ตรัสรู้ เป็นโพธิสัตว์อยู่ เราได้มีความคิดว่า “โลกนี้ประสบความทุกข์ยากเสียนัก ย่อมเกิด แก่ ตาย จุติ และอุบัติ แต่ทั้งที่เป็นเช่นนั้น ก็หารู้จักนิสสรณะ (ธรรมเป็นที่สลัดออก, ภาวะหลุดรอดปลอดพ้น, ความเป็นอิสระ, ทางออก) แห่งทุกข์คือชรามรณะนี้ไม่ เมื่อไรเล่า นิสสรณะแห่งทุกข์คือชรามรณะนี้ จักปรากฏ?”
“เราได้มีความคิดดังนี้ว่า “เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชรามรณะจึงมี, เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี?” เพราะโยนิโสมนสิการ เราก็มีความรู้ชัดจำเพาะลงไป (อภิสมัย) ด้วยปัญญาว่า “เมื่อชาติมีอยู่ ชรามรณะจึงมี, เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี…เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชาติจึงมี…เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ภพจึงมี…อุปาทานจึงมี…ตัณหาจึงมี…เวทนาจึงมี…ผัสสะจึงมี…สฬายตนะจึงมี…นามรูปจึงมี…วิญญาณจึงมี? เพราะโยนิโสมนสิการ เราได้มีความรู้ชัดจำเพาะลงด้วยปัญญาว่า “เมื่อนามรูปมีอยู่ วิญญาณจึงมี, เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี”.
“เราได้มีความคิดว่า “วิญญาณย่อมวกกลับ (เพียงแค่นี้) ไม่พ้นเลยไปจากนามรูปได้; ด้วยเหตุผลเพียงเท่านั้น จึงเกิด แก่ ตาย จุติ หรืออุบัติ อันได้แก่ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ, เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป, เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ, เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ..เวทนา…ตัณหา…อุปาทาน..ภพ…ชาติ…ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายาส; ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้;
“จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณ..ปัญญา..วิชชา…แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่มิเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า ‘สมุทัย สมุทัย’ ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความคิดดังนี้ว่า “เมื่ออะไรไม่มีหนอ ชรามรณะจึงไม่มี, เพราะอะไรดับ ชรามรณะจึงดับ”? เพราะโยนิโสมนสิการ เราได้มีความรู้ชัดจำเพาะลงไป (อภิสมัย) ด้วยปัญญาว่า “เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะก็ไม่มี, เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ…เมื่ออะไรไม่มีหนอ ชาติจึงไม่มี…เมื่ออะไรไม่มีหนอ ภพจึงไม่มี…อุปาทานจึงไม่มี…ตัณหาจึงไม่มี…เวทนาจึงไม่มี…ผัสสะจึงไม่มี…สฬายตนะจึงไม่มี…นามรูปจึงไม่มี…วิญญาณจึงไม่มี เพราะโยนิโสมนสิการ เราจึงได้มีความรู้ชัดจำเพาะลงไปด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณก็ไม่มี, เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ”.
“เราได้มีความคิดว่า เราได้บรรลุมรรคาเพื่อความตรัสรู้นี้แล้ว กล่าวคือ เพราะนามรูปดับวิญญาณจึงดับ, เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ, เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ…ผัสสะ…เวทนา…ตัณหา…อุปาทาน…ภพ…ชาติ…ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับ, ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้;
“จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณ…ปัญญา…วิชชา…แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่มิเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า ‘นิโรธ นิโรธ’ ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย…เราได้เห็นมรรคาเก่า หนทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปางก่อนทั้งหลายเคยเสด็จไปแล้ว…ได้แก่มรรคามีองค์ 8 ประการ อันประเสริฐนี้เอง กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ…เราได้ดำเนินตามมรรคานั้น เมื่อเดินตามมรรคานั้น จึงได้รู้ชัดซึ่งชรามรณะ รู้ชัดซึ่งสมุทัยแห่งชรามรณะ รู้ชัดซึ่งนิโรธแห่งชรามรณะ รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันนำไปสู่นิโรธแห่งชรามรณะ …รู้ชัดซึ่งชาติ รู้ชัดซึ่งสมุทัยแห่งชาติ รู้ชัดซึ่งนิโรธแห่งชาติ รู้ชัดซึ่งปฏิปทา อันนำไปสู่นิโรธแห่งชาติ ฯลฯ (ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ) รู้ชัดซึ่งสังขารทั้งหลาย รู้ชัดซึ่งสมุทัยแห่งสังขาร รู้ชัดซึ่งนิโรธแห่งสังขาร รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันนำไปสู่นิโรธแห่งสังขาร;
“ครั้นรู้ชัดความนั้นแล้ว จึงบอกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย, พรหมจรรย์ (ชีวิตประเสริฐ=ไตรสิกขา=พระศาสนา) จึงเจริญแพร่หลาย แผ่ขยาย เป็นที่รู้ของพหูชน เป็นปึกแผ่นจนเทวะและมนุษย์ทั้งหลายประกาศกันได้เป็นอย่างดี”