๑๙

พระมหากัปปินเถระ

ครั้งนั้น ก่อนพระศาสดาของเราบังเกิด ท่านกัปปินะ ถือปฏิสนธิในราชนิเวศน์ เป็นพระราชโอรสกษัตริย์ ในพระนครกุกกุฏวดี เมื่อพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ได้เสวยราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์ต่อมา มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่าอโนชาเทวี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ในสาคลนคร แคว้นมัททรัฐ  พระเจ้ามหากัปปินะนั้น มีม้าพระราชพาหนะทรงไปเที่ยวสืบข่าวเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์   ต่อมาวันหนึ่งพระองค์ทรงม้า ชื่อว่า สุปัตตะ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และอำมาตย์ราชบริพาร    ได้พบพ่อค้าประมาณ 500  คน  ตรัสถามทราบความว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า บังเกิดขึ้นแล้วในโลก  พระองค์ทรงมีความปีติโสมนัส   พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และอำมาตย์ราชบริพารประมาณพันหนึ่ง เสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา ในระหว่างทางเสด็จไปพบแม่น้ำ 3 แห่ง คือ แม่น้ำชื่ออารวปัจฉา แม่น้ำนีลวาหนา และแม่น้ำจันทภาคาตามลำดับ   ในแม่น้ำเหล่านั้น หาเรือแพที่บุคคลจะขี่ข้ามไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเจ้ามหากัปปินะพบแม่น้ำสายที่ 1 ได้ทรงระลึกถึงพระพุทธคุณ แม่น้ำสายที่ 2 ระลึกถึงพระธรรมคุณ แม่น้ำสายที่ 3 ระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยเดชะคุณพระรัตนตรัย แม่น้ำบังเกิดเป็นน้ำแข็ง ม้าเดินไปได้โดยสะดวก  ส่วนพระบรมศาสดา ทรงทราบว่าพระเจ้ากัปปินะ ทรงสละราชสมบัติพร้อมด้วยบริวาร เสด็จมา มีพระราชประสงค์จะออกบรรพชาอุปสมบท มุ่งเฉพาะพระองค์ จึงได้เสด็จออกไปรับ ประทับอยู่ใต้ร่มไทร ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ทรงเปร่งรัศมีให้ปรากฏ  พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวารเสด็จถึงที่นั่นแล้ว   ทรงดำเนินเข้าไปเฝ้าตามแสงรัศมี ถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วประทับนั่งอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง  พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา(ทานกถา, สีลกถา, สัคคกถา, กามทีนวกถา, เนกขัมมานิสังสกถา) ในที่สุดเทศนา พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวาร ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาต ให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระนางอโนชาเทวีพร้อมบริวาร ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท ภายหลังได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของนางภิกษุณี ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมกันกับทั้งบริวาร ส่วนท่านพระมหากัปปินะ พร้อมทั้งบริวาร ได้สดับพระธรรมเทศนา ที่พระองค์ทรงแสดงแก่ราชเทวีนั้น ครั้นส่งจิตไปตามพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ท่านพระมหากัปปินะ ครั้นได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว มักเที่ยวเปล่งอุทานว่า อโห สุขํ อโห สุขํ แปลว่า สุขหนอ สุขหนอ เสมอ เกิดความปีติในธรรม เปล่งอุทานปรารภ อมตมหานิพพาน แล้วตรัสพระคาถา ในพระธรรมบทว่า “บัณฑิตมีใจผ่องแผ้วแล้วมีปีติในธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข ยินดีในธรรม ที่พระอริยะประกาศแล้วทุกเมื่อ”    ส่วนท่านมหากัปปินะ   อุตส่าห์เจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ภายหลังท่านได้รับพระบรมพุทธานุญาต ให้เป็นผู้สั่งสอนบริวารของท่านพันรูปให้ได้สำเร็จพระอรหัตผล และได้รับการยกย่องเป็น เอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้โอวาทภิกษุ (ภิกฺขุโอวาทกานํ) เพราะท่านสามารถแสดงธรรมแก่พระภิกษุพันรูป ให้บรรลุพระอรหัตต์ได้หมดทุกรูป ในคราวเดียวกัน

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
post