๓๘

พระโสณโกฬิวิสเถระ

ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านมาเกิดเป็นบุตรของอสุภเศรษฐี ในจำปานคร เมื่ออยู่ในครรภ์มารดาจนคลอด พวกชาวเมือง นำเครื่องบรรณาการมาให้แก่เศรษฐีเป็นอันมาก เมื่อคลอดแล้ว มีผิวพรรณผุดผ่องงดงาม มารดาบิดาได้ขนานนามว่า “โสณะ” ส่วน โกฬิวิสะ เป็นชื่อแห่งโคตร  โสณเศรษฐีบุตรนั้น เป็นคนสุขุมาลชาติ มีโลมาที่ละเอียดอ่อนบังเกิดที่ฝ่าเท้าทั้งสอง ได้รับการบำรุงบำเรอจากมารดาบิดาเป็นอย่างดีเพราะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ  ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธ ใคร่จะขอทอดพระเนตร โลมาที่ฝ่าเท้าของโสณเศรษฐีบุตร จึงรับสั่งให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดา โสณเศรษฐีบุตร พร้อมด้วยชาวบ้านประมาณแปดหมื่น ก็เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ตามรับสั่งพระเจ้าพิมพิสาร ได้ฟังเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจสี่ ที่พระองค์ตรัสสอนชาวบ้าน ประมาณแปดหมื่น ก็เกิดความเลื่อมใส ได้แสดงตนเป็นอุบาสกแล้วหลีกไป  ส่วนโสณเศรษฐีบุตร เข้าไปกราบทูลแด่พระบรมศาสดาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรม ที่พระองค์ทรงแสดง เห็นว่าผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ดุจสังข์ที่ขัดแล้วนั้น ไม่ใช่จะทำได้โดยง่าย ข้าพระพุทธเจ้า อยากจะบวช ขอพระองค์ จงโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระบรมศาสดาทรงให้บวชตามประสงค์
ครั้นโสณโกฬิวิสะ บวชแล้ว ไปทำความเพียรอยู่ที่สีตวัน ทำความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมไม่หยุด จนเท้าแตกก็ไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษ อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงมาดำริในใจว่า บรรดาสาวกของพระบรมศาสดา ที่ปรารภความเพียรแล้ว เราก็เป็นคนหนึ่ง ถึงอย่างนั้น จิตของเรา ก็ยังไม่พ้นจากอาสวะทั้งปวงได้ สมบัติในตระกูลของเรา ยังมีอยู่ ถ้ากระไร เราจะสึกออกไปเสวยสมบัติ และบำเพ็ญกุศลจะเป็นการดีกว่า  ฝ่ายพระบรมศาสดา ได้ทรงทราบว่า พระโสณโกฬิวิสะปรารภความเพียร เดินจงกรมจนเท้าแตก แล้วคิดเช่นนั้น จึงเสด็จไปถึงที่อยู่ แห่งพระโสณโกฬิวิสะ ตรัสสอนให้ปรารภความเพียร แต่พอปานกลาง ไม่ยิ่งนักไม่หย่อนนักยกเปรียบเทียบด้วยสายพิณสามสายครั้นตรัสสอนแล้วได้กลับไปที่ประทับ พระโสณโกฬิวิสะ ตั้งอยู่ในโอวาท ที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ปรารภความเพียรแต่พอประมาณ ไม่ยิ่งนัก ไม่หย่อนนัก เจริญวิปัสสนาไม่ช้าไม่นาน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
ครั้นต่อมา ท่านเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา กราบทูลว่า พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่จำจะต้องทำ ได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระของหนัก อันวางแล้ว มีประโยชน์ของตนได้ถึงแล้ว มีธรรมที่ทำให้ติดอยู่ในภพ หมดสิ้นแล้ว รู้ชอบ จึงพ้นแล้วจากอาสวะ ภิกษุผู้อรหันต์นั้น น้อมเข้าไปแล้วในคุณหกสถาน คือ น้อมไปแล้วในบรรพชา ในที่สงัด ในความสำรวมไม่เบียดเบียน, ในความไม่ถือมั่น, ในความไม่มีความอยาก และในความไม่หลง
พระบรมศาสดาได้ทรงสดับแล้ว ตรัสสรรเสริญว่า พระโสณโกฬิวิสะ พยากรณ์พระอรหันต์ กล่าวแต่เนื้อความ ไม่นำตนเข้าไปเทียบ และเพราะท่านได้ปรารภความเพียร ด้วยความอุตสาหะอย่างแรงกล้า แต่ครั้งยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์
ต่อมาภายหลัง พระบรมศาสดา มีหมู่ภิกษุแวดล้อม ทรงแสดงธรรมในพระเชตวัน

วิหาร ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่ง เป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้ปรารภความเพียร (อารทฺธวิริยานํ)