เมื่อพระมหาบุรุษทรงชนะมารแล้วนั้นพระอาทิตย์กำลังจะอัสดงราตรี เริ่มย่างเข้ามา พระมหาบุรุษยังคงประทับนั่งไม่หวั่นไหวที่โพธิบัลลังก์ ใต้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัยด้วยวิธีที่เรียก ว่าเข้าฌาน แล้วทรงบรรลุญาณ
ฌาน คือ วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ คือให้จิตแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่อย่างปุถุชนธรรมดา ส่วนญาณ คือปัญญาความ รู้แจ้ง เปรียบให้เห็นความง่ายเข้าก็คือ แสงเทียนที่นิ่งไม่มีลมพัด คือ 'ฌาน' แสงสว่างอันเกิด จากแสงเทียนเท่ากับปัญญา (ญาณ)
พระมหาบุรุษทรงบรรลุญาณที่หนึ่งในตอนปฐมยาม(ประมาณ ๓ ทุ่ม) ญาณที่หนึ่งนี้เรียกว่า 'บุพเพนิวาสานุสติญาณ' หมายถึง ความรู้แจ้งถึง อดีตชาติหนหลังทั้งของตนและของคนอื่น พอถึงมัชฌิมยาม (ประมาณ เที่ยงคืน) ทรงบรรลุญาณที่สอง ที่เรียกว่า 'จุตูปปาตญาณ' หมายถึง ความรู้แจ้งถึงความจุติ คือ ดับและเกิดของสัตวโลก ตลอดถึงความแตก ต่างกันที่เรียกว่า 'กรรม' พอถึงปัจฉิมยาม (หลังเที่ยงคืนล่วงแล้ว) ทรง บรรลุญาณที่สามคือ 'อาสวักขยญาณ' หมายถึงความรู้แจ้งถึงความสิ้น ไปของกิเลส และอริยสัจ ๔ คือ ความทุกข์ เหตุเกิดของความทุกข์ ความ ดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์
การได้บรรลุญาณทั้งสามของพระมหาบุรุษนั้นเรียกว่า ตรัสรู้ความ เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หลังจากนั้น พระนามว่า สิทธัตถะก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี ที่เกิดใหม่ ตอนก่อนตรัสรู้ว่า พระมหาบุรุษก็ดี ได้กลายเป็นพระนามในอดีตหนหลัง เพราะตั้งแต่นี้ต่อ ไปทรงมีพระนามใหม่ว่า 'อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า' แปล ว่าพระผู้ตรัสรู้ธรรมเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสโดยชอบด้วยพระองค์เอง เหตุการณ์ครั้งนี้ จึงเป็นที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง กวีจึงแต่ง ความเป็นปุคคลาธิษฐาน เฉลิมพระเกียรติพระพุทธเจ้าว่า นำสัตว์ มนุษย์นิกร และทวยเทพใน หมื่นโลกธาตุ หายทุกข์ หายโศก สิ้นวิปโยคจากผองภัย สัตว์ทั้งหลายต่างมีเมตตาจิตต่อกันทุกถ้วนหน้า เว้นจากเวรานุเวรอาฆาตมาดร้ายแก่กัน ทวยเทพต่างบรรเลงดนตรีสวรรค์ ร่ายรำ ขับร้อง แซ่ซ้องถวายเป็น พุทธบูชาและกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณกันทั่วหน้า
เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่ หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง ฯลฯ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วย ประการฉะนี้. ดูกรภารทวาชะ นี้เป็นวิชชาข้อที่ ๑ เราได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากำจัด ได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่อยู่.
เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่ หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย. เราเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลัง อุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทรามได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของ มนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ดูกรภารทวาชะ นี้เป็นวิชชาข้อที่ ๒ เราบรรลุแล้วใน มัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิด ขึ้นแล้วแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่อยู่.
เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่ หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ. เรานั้นได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุ ให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับอาสวะ. เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตหลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จาก อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบ แล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูกรภารทวาชะ นี้เป็นวิชชาข้อที่ ๓ เราบรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเรากำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่อยู่.
องฺ. ทุก. ๒๐/๒๕๑/๕๘
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250