อมฤตพจนา
- คน (๒)
“นานาทิฏฺิเก นานยิสฺสสิ เต“
มนุษย์ทั้งหลายต่างความคิดต่างความเห็นกัน
ท่านจะกำหนดให้คิดเห็นเหมือนกันหมด เป็นไปไม่ได้
๒ [๐๑.๐๒] (๒๗/๗๓๐)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- คนเราถึงแม้จะเกิดมาจากพ่อแม่เดียวกัน เวลาเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างกัน ทั้งทางด้านความคิด/นิสัยใจคอ
- จงอย่าคิดว่าคนอื่นจะคิดอย่างเราทุกเรื่อง
- ส่วนที่คิดคล้ายกันก็อาจจะมี โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความโลภ โกรธ หลง
- ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน อาจจะนำไปสู่ทางออกที่ดีกว่าเดิมก็ได้ ขอให้เปิดใจให้กว้างในการยอมรับความแตกต่าง
- ของอาจจะมีค่าก็ต่อเมื่อมีผู้นำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ของอย่างเดียวกันอาจจะเป็นภาระของอีกคนหนึ่ง ซึ่งจะต้องเป็นราคาที่รวมทุกอย่างเหมือนกัน
อมฤตพจนา
- คน (๕)
“ตเถเวกสฺส กลฺยาณํ ตเถเวกสฺส ปาปกํ
ตสฺมา สพฺพํ น กลฺยาณํ สพฺพํ วาปิ น ปาปกํ“
สิ่งเดียวกันนั่นแหละ ดีสำหรับคนหนึ่ง
แต่เสียสำหรับอีกคนหนึ่ง
เพราะฉะนั้น สิ่งใดๆ มิใช่ว่าจะดีไปทั้งหมด
และก็มิใช่จะเสียไปทั้งหมด
๕ [๐๑.๐๕] (๒๗/๑๒๖)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- ในโลกนี้สิ่งต่างๆ จะมี ๒ ด้านเสมอ
- มีมืดก็มีสว่าง / มีดำก็มีขาว / มีรักก็มีเกลียด / มีชอบก็มีไม่ชอบ / มีถูกก็มีแพง
- คนมีเงินชอบดอกเบี้ย (รับ) แต่คนกู้ไม่ชอบดอกเบี้ย (จ่าย)
- นายจ้างชอบให้ทำงานหนัก แต่จ่ายน้อย
- ลูกจ้างชอบทำงานสบาย แต่อยากได้เงินมาก
- คนขายของชอบขายให้ได้ราคา (สูง) ในขณะที่ผู้ซื้อชอบซื้อของราคาถูก
อมฤตพจนา
- คน (๖)
“อุกฺกฏฺเ สูรมิจฺฉนฺติ มนฺตีสุ อกุตูหลํ
ปิยญฺจ อนฺนปานมฺหิ อตฺเถ ชาเต จ ปณฺฑิตํ“
เมื่อเกิดเหตุร้ายแรง ย่อมต้องการคนกล้าหาญ
เมื่อเกิดข่าวตื่นเต้น ย่อมต้องการคนหนักแน่น
เมื่อมีข้าวน้ำบริบูรณ์ ย่อมต้องการคนที่รัก
เมื่อเกิดเรื่องราวลึกซึ้ง ย่อมต้องการบัณฑิต
๖ [๐๑.๐๖] (๒๗/๙๒)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- เมื่อเกิดเหตุร้ายแรงหรือเกิดวิกฤต การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ย่อมต้องการคนที่เป็นผู้นำ
- เมื่อเกิดข่าวตื่นเต้น ย่อมต้องการคนที่ควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบ เป็นคนที่มีความเป็นผู้นำที่สามารถควบคุมและนำคนหมู่มาก
- เมื่อมีข้าวน้ำบริบูรณ์ ย่อมต้องการคนที่รัก เมื่อท่านมีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ย่อมต้องการคนที่รัก
- เมื่อเกิดเรื่องราวลึกซึ้ง ย่อมต้องการบัณฑิต เมื่อต้องพบกับเหตุการณ์ที่ลึกซึ้งย่อมต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีประสบการณ์รอบด้าน
อมฤตพจนา
- คน (๑๐)
“ทุลฺลโภ องฺคสมฺปนฺโน“
คนที่มีคุณสมบัติพร้อมทุกอย่าง หาได้ยาก
๑๐ [๐๑.๑๐] (๒๗/๓๐๐)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- คนที่มีความสามารถในทุกด้านหาได้ยาก
- คนที่มีความสามารถหลายด้านพอหาได้
- คนที่ไม่มีความสามารถในด้านใดเลย หาไม่ยาก
- คนจำนวนมากไม่รู้ตัวเองว่ามีความสามารถด้านใด
- คนที่มีความสามารถหลายด้าน ไม่ได้เป็นตัวชี้ว่าจะทำรายได้ได้ดีกว่าคนที่รู้เฉพาะด้าน
- คนที่มีการศึกษาสูง ไม่ได้เป็นเครื่องชี้ว่าจะมีความสามารถรอบด้าน หรือมีความสามารถมาก
- คนที่มีการศึกษาต่ำ ไม่ได้เป็นเครื่องชี้ว่าจะไม่มีความสามารถในด้านใดเลย
- คนที่มีการศึกษาสูง ไม่ได้เป็นตัวชี้ว่าจะมีรายได้สูง
- คนที่มีการศึกษาต่ำ ไม่ได้เป็นตัวชี้ว่าจะมีรายได้ต่ำ
- คนทีมีการศึกษาสูงและมีประสบการณ์มาก ย่อมจะประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นส่วนใหญ่
อมฤตพจนา
- คน (๑๓)
“มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ
เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ มุหุตฺตมปิ ปูชเย
สา เยว ปูชนา เสยฺโย ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํ“
ผู้ใดใช้ทรัพย์จำนวนพัน ประกอบพิธีบูชาทุกเดือน
สม่ำเสมอตลอดเวลาร้อยปี
การบูชานั้นจะมีค่ามากมายอะไร
การยกย่องบูชาบุคคลที่อบรมตนแล้วคนหนึ่ง
แม้เพียงครู่เดียวประเสริฐกว่า
๑๓ [๐๑.๑๓] (๒๕/๑๘)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- การบูชาโดยหวังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ที่ตนเชื่อ) โดยใช้เงินจัดทำพิธีกรรมต่างๆ จำนวนมาก ไม่อาจจะทำให้แก้ปัญหาได้ เปรียบเทียบกับการขอคำปรึกษาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวแม้เพียงครั้งเดียวก็อาจจะได้ผลสำเร็จ
- อย่าหลงงมงายเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลังจะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะทุกอย่างต้องแก้ไขที่เหตุปัจจัย โดยเฉพาะความทุกข์ หรือการแก้ปัญหาทุกเรื่องจะต้องค้นหาสาเหตุให้พบ และแก้ที่ต้นเหตุ
- ผู้อบรมตนอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้แม่นยำกว่าผู้ที่ใช้ทรัพย์อย่างมากประกอบพิธีกรรมในการบูชาต่างๆ โดยหวังจะได้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยแก้ไขปัญหา
อมฤตพจนา
- คน (๑๔)
“น ชจฺจา วสโล โหติ
น ชจฺจา โหติ พฺราหฺมโณ
กมฺมุนา วสโล โหติ
กมฺมุนา โหติ พฺราหฺมโณ“
ใครๆ จะเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิด ก็หาไม่
ใครๆ จะเป็นคนประเสริฐเพราะชาติกำเนิด ก็หาไม่
คนจะเลว ก็เพราะการกระทำ ความประพฤติ
คนจะประเสริฐ ก็เพราะการกระทำ ความประพฤติ
๑๔ [๐๑.๑๔] (๑๓/๗๐๗)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- ชาติกำเนิด ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่า คนจะเลวหรือประเสริฐ
- ความประพฤติ จะเป็นตัวกำหนดว่าเป็นคนเลวหรือประเสริฐ
- ความยากดีมีจน ไม่ได้กำหนดว่าเป็นคนเลวหรือประเสริฐ
- ชาติกำเนิด ไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสำเร็จในการทำงาน หรือความสำเร็จในการเรียน
- ชาติกำเนิด เป็นเพียงสิ่งสมมติในสังคม
- คนเราเลือกเกิดไม่ได้ การที่เกิดมาเป็นลูกคนจนใช่ว่าจะต้องจนตลอดชีวิต หากมีความขยันมีปัญญารู้จักทำมาหากิน รู้จักเก็บออมและรู้จักบริหารเงินก็ย่อมจะมั่งมีขึ้นมาก็ได้
- ในทางตรงกันข้าม เกิดเป็นลูกคนรวยแต่ช่วงสุดท้ายอาจจะยากจนก็เป็นได้ เพราะขาดปัญญาไม่รู้จักทำมาหากินใช้เงินเกินหาได้ ในที่สุดก็หมดตัว
อมฤตพจนา
- คน (๑๙)
“เอวเมว มนุสฺเสสุ ทหโร เจปิ ปญฺวา
โส หิ ตตฺถ มหา โหติ เนว พาโล สรีรวา“
ในหมู่มนุษย์นั้น ถึงแม้เป็นเด็ก ถ้ามีปัญญา ก็นับว่าเป็นผู้ใหญ่
แต่ถ้าโง่ ถึงร่างกายจะใหญ่โต ก็หาเป็นผู้ใหญ่ไม่
๑๙ [๐๑.๑๙] (๒๗/๒๕๔)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- ปัญญาจะเป็นตัวกำหนดความเป็นผู้ใหญ่ มิใช่ความใหญ่โตของร่างกาย
- มีปัญญาประเสริฐสุด เพราะถ้ามีปัญหาจะสามารถแก้ปัญหาได้ แม้จะอยู่ในภาวะลำเค็ญ
- มีปัญญาเป็นขั้นสูงสุดของการสร้างบุญบารมี คือความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง สามารถหยุดการเวียนว่ายตายเกิด
- คนที่มีปัญญา จะมีความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือการลงทุน
- คนที่มีปัญญามีความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ ดังเช่น เหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ปี ๒๕๔๐ องค์กรที่มีผู้นำที่มีปัญญา สามารถนำพาองค์กรให้ผ่านพ้นปัญหาทั้งปวงในยามวิกฤตและสามารถนำพาองค์กรและผู้ถือหุ้นได้เงินลงทุนกลับคืน และได้โอกาสซื้อของราคาถูก (ซื้อหุ้น) เพราะวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำทำให้แปลงวิกฤตเป็นโอกาส
- คนที่มีปัญญาตระหนักดีว่า สิ่งต่างๆ ล้วนเป็นอนิจจังมีความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะในโลกที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการทำงานหรือผลิตสินค้า/บริการ ผู้มาใหม่พร้อมเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า สามารถเอาชนะผู้อยู่เดิมได้ เช่น โทรศัพท์ Apple สามารถเอาชนะ Nokia ได้ เพราะเป็นเทคโนโลยีล้ำหน้ากว่า
อมฤตพจนา
- คน (๒๐)
“น เตน เถโร โหติ เยนสฺส ปลิตํ สิโร
ปริปกฺโก วโย ตสฺส โมฆชิณฺโณติ วุจฺจติ“
คนจะชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ เพียงเพราะมีผมหงอก ก็หาไม่
ถึงวัยของเขาจะหง่อม ก็เรียกว่าแก่เปล่า
๒๐ [๐๑.๒๐] (๒๕/๒๙)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- คนจะชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่เพราะอายุมาก ผมหงอก หรือแก่หง่อม
- คนที่จะชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ ก็เพราะมีความโอบอ้อมอารี น่าเคารพนับถือ
- คนที่เป็นผู้ใหญ่ จะเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ มีความยุติธรรม เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้น้อย
- คนที่จะเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่เพราะอายุมากหรือทำงานมานาน
- คนที่จะเป็นผู้ใหญ่ จะต้องมีความคิดอ่านรอบด้าน มีความสามารถรอบด้านเป็นที่ยอมรับของคนในองค์กร โดยเฉพาะมีลักษณะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ถึงแม้อายุจะน้อยแต่คนในองค์กรให้การยอมรับในการบังคับบัญชา
อมฤตพจนา
- คน (๒๘)
“ยสํ ลทฺธาน ทุมฺเมโธ อนตฺถํ จรติ อตฺตโน
อตฺตโน จ ปเรสญฺจ หึสาย ปฏิปชฺชติ“
คนทรามปัญญา ได้ยศแล้ว
ย่อมประพฤติแต่การอันไม่เกิดคุณค่าแก่ตน
ปฏิบัติแต่ในทางที่เบียดเบียนทั้งตนและคนอื่น
๒๘ [๐๑.๒๘] (๒๗/๑๒๒)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- คนที่ไม่ดี ใช้ปัญญาในทางที่ไม่ดี เมื่อได้มีอำนาจก็จะใช้ไปในทางที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
- คนไม่ดีได้อำนาจ มักจะสร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งตนเองและคนอื่น
- สังคมจะสงบและอยู่เย็นเป็นสุข หากคนดีมีอำนาจ ใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
- คนที่ปัญญาทราม มักจะหมกมุ่นแต่ในเรื่องการหาประโยชน์ส่วนตน โดยใช้อำนาจในทางที่ไม่ดี
อมฤตพจนา
- คน (๓๐)
“นินฺทนฺติ ตุณฺหิมาสีนํ
นินฺทนฺติ พหุภาณินํ
มิตภาณิมฺปิ นินฺทนฺติ
นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต“
คนนั่งนิ่ง เขาก็นินทา
คนพูดมาก เขาก็นินทา
แม้แต่คนพูดพอประมาณ เขาก็นินทา
คนไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก
๓๐ [๐๑.๓๐] (๒๕/๒๗)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- การนินทาเกิดขึ้นทุกแห่ง ถือเป็นเรื่องธรรมดา
- คนชอบนินทาคนอื่น แต่ไม่ชอบให้ผู้อื่นนินทาตน
- อย่าได้หวั่นไหวกับคำนินทา จงเป็นคนที่มีความหนักแน่นต่อคำนินทา มิฉะนั้นจะตกเป็นเหยื่อของผู้นินทา
- หากท่านถูกนินทาจนทำให้คนเชื่อว่าเป็นจริง ท่านก็ต้องหาทางชี้แจงข้อเท็จจริงให้ถูกที่ถูกเวลา จะปล่อยให้คนนินทาจนกระทั่งคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องจริง ท่านควรที่หาจังหวะที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผยและมีเหตุผล เพื่อที่จะป้องกันตัวเองจากการตกเป็นเหยื่อคำนินทา
- การต่อสู้กับคำนินทาคือการชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมหลักฐานอย่างเปิดเผย เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้และจะทำให้คนที่ชอบนินทาไม่กล้าที่จะนินทาอีก เพราะผู้ที่รับฟังจะไม่ให้น้ำหนักของคำนินทา
อมฤตพจนา
- คน (๓๑)
“น จาหุ น จ ภวิสฺสติ น เจตรหิ วิชฺชติ
เอกนฺตํ นินฺทิโต โปโส เอกนฺตํ วา ปสํสิโต“
คนที่ถูกนินทาอย่างเดียว หรือได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว
ไม่เคยมีมาแล้ว จักไม่มีต่อไป ถึงในขณะนี้ ก็ไม่มี
๓๑ [๐๑.๓๑] (๒๕/๒๗)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- คนที่ถูกนินทาอย่างเดียว หรือได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก
- อย่าได้หวั่นไหวในคำนินทาและคำสรรเสริญ
- คนที่ทำงานด้วยกันในหมู่มาก ย่อมมีความเห็นที่หลากหลาย จะมีคนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
- การนินทาและการสรรเสริญ ถือเป็นเรื่องธรรมดา
- การนินทาและการสรรเสริญ เป็นสัจธรรมของโลกธรรมแปด อันประกอบด้วยด้านพอใจคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ด้านไม่พึงใจคือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
- ใครตัดโลกธรรมแปดได้ก็จะสามารถตัดกิเลสได้ โลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความหลง)
- ผู้ที่ตัดโลกธรรมแปดและกิเลสลงได้ ก็จะสามารถเข้าถึงการบรรลุธรรมขั้นสูงสุดคือ การบรรลุขั้นพระอรหันต์
- จงฝึกตนให้ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมแปด และพยายามตัดกิเลสให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา
อมฤตพจนา
- คน (๓๓)
“ครหาว เสยฺโย วิญฺญูหิ ยญฺเจ พาลปฺปสํสนา“
วิญญูชนตำหนิ ดีกว่าคนพาลสรรเสริญ
๓๓ [๐๑.๓๓] (๒๖/๓๘๒)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- ผู้รู้โดยแจ่มแจ้งชัดเจน ตำหนิและอธิบายให้ฟังว่า สิ่งที่ทำไม่ถูกต้องเพราะอะไร สิ่งที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ไม่ทำผิดอีกในอนาคต ได้เรียนรู้จากผู้มีความรู้
- สำหรับคำสรรเสริญของคนพาลไม่ได้ก่อประโยชน์ในชีวิต เพราะคำสรรเสริญดังกล่าวอาจจะสร้างความเสียหายในอนาคต เพราะหลงเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเก่ง ทำให้ทำความผิดซ้ำอีก อันจะทำให้เกิดหายนะก็เป็นได้
- วิญญูชนตำหนิตามข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับและนำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีกเป็นสิ่งที่ดี เพราะมิฉะนั้นเราอาจจะมีการทำผิดซ้ำอีกหากไม่มีใครตำหนิ
- ส่วนผู้ที่เป็นคนพาลสรรเสริญเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง เพราะคนพาลมักจะทำสิ่งที่ไม่ดีตามนิสัยของตน เพราะคนชั่วทำดียาก และคนชั่วทำความชั่วง่าย
อมฤตพจนา
- คน (๓๔)
“ปริภูโต มุทุ โหติ อติติกฺโข จ เวรวา“
อ่อนไป ก็ถูกเขาดูหมิ่น แข็งไป ก็มีภัยเวร
๓๔ [๐๑.๓๔] (๒๗/๑๗๐๓)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ไม่ได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ยอมรับ ก็จะถูกดูแคลนว่าเป็นตัวถ่วงของกลุ่ม มักเป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ
- ในการทำงานกับผู้อื่น การแสดงท่าทีแข็งกร้าวจะทำให้สร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว หรือทำให้เกิดความหมั่นไส้
- ในการทำงานหากผลงานออกมาย่อหย่อนเกินไปจะทำให้ถูกดูถูกว่าความสามารถไม่ถึงระดับที่ยอมรับได้
- ในทางตรงกันข้าม ในการทำงานที่แสดงความมั่นใจตัวเองสูงเกินไป และแสดงท่าทีดูแคลนผู้อื่นจะทำให้ผู้ที่เป็นศัตรูและไม่ให้ความร่วมมืออาจกลั่นแกล้งจนกระทั่งทำให้งานที่ออกมาเกิดปัญหา อันจะส่งผลให้เกิดความเสียหายในผลงานของตนเองและขององค์กร
อมฤตพจนา
- คน (๓๕)
“อนุมชฺฌํ สมาจเร“
พึงประพฤติให้พอเหมาะพอดี
๓๕ [๐๑.๓๕] (๒๗/๑๗๐๓)
∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻∻
คติสอนใจ
- ในการทำงานร่วมกับคนอื่น ควรให้เกียรติและเคารพในความเห็นของผู้อื่น
- ให้ใช้หลัก “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” ในการทำงาน
- จงทำงานด้วยความสุข โดยการยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อเขาต้องการ
- ในที่ประชุม จงอย่าหักหน้าผู้อื่นและยกตนข่มท่าน
- ในการเสนอความเห็นต่างในที่ประชุม ให้มีศิลปะในการนำเสนอที่ไม่โจมตีความคิดของผู้อื่น เพื่อเชิดชูความเห็นของตัวเอง
ตัวอย่างของการเสนอ : เรียนท่านประธานและคณะกรรมการ ผมขอเรียนเสนอให้พิจารณาทางเลือกดังนี้… (คือกระจายทางเลือกให้ที่ประชุมพิจารณา มิใช่โจมตีเจ้าของความคิดหนึ่งความคิดใด)