ฉายา: ผู้หาบุคคลใดเสมอมิได้ในโลก
ความสูง: ๖๐ ศอก
รัศมี: แผ่ซ่านออกไปในหมื่นโลกธาตุ
บำเพ็ญบารมี: บำเพ็ญบารมีครบถ้วน
วรรณะ: กษัตริย์
พุทธบิดา: อุเทน
พุทธมารดา: สุผัสสาเทวี
พระนคร: เวภาระ
ใช้ชีวิตฆราวาส: ๑๐,๐๐๐ ปี
มเหสี: สุมนา
บุตร: อนูปมะ
ยานพาหานะที่ใช้ออกบวช: ประทับวอทองออกบวช
ระยะเวลาการทำความเพียร: ๑๐ เดือน
ต้นไม้ตรัสรู้: ที่โคนต้นกรรณิการ์
อายุขัย: ๑๐๐,๐๐๐ ปีจึงปรินิพพาน ณ อโนมาราม
๒๐. พระสิทธัตถพุทธเจ้า
สิทธัตถพุทธวงศ์ที่ ๑๖
ว่าด้วยพระประวัติพระสิทธัตถพุทธเจ้า
สมัยต่อมาจากพระธรรมทัสสีพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง เหมือนพระอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น แม้พระองค์ทรงบรรลุสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงช่วยหมู่มนุษย์ พร้อมด้วยเทวดาให้ข้ามพ้นวัฏฏสงสาร ทรงยังฝนคือธรรมให้ตก ดับความร้อนให้แก่โลกพร้อมด้วยเทวโลก แม้พระองค์ผู้มีเดชไม่มีเทียบเคียงก็ตรัสพระธรรมเทศนาให้สัตว์ได้ตรัสรู้ธรรม ๓ ครั้ง ธรรมาภิสมัย ครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ ในคราวเมื่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงตีกลองอมฤตเภรีที่ภีมรัฐ ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์เก้าสิบโกฏิ ในคราวเมื่อพระพุทธเจ้าผู้อุดมกว่านรชนพระองค์นั้นทรงแสดงธรรมที่เวภารบรรพต ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์เก้าสิบโกฏิ พระสิทธัตถบรมศาสดาทรงมีการประชุมพระภิกษุขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ ๓ ครั้ง สถานที่ ที่พระภิกษุผู้ปราศจากมลทิน มาประชุมกัน ๓ แห่ง แห่งที่ ๑ พระภิกษุร้อยโกฏิ แห่งที่ ๒ เก้าสิบโกฏิ และแห่งที่ ๓ แปดสิบโกฏิ
สมัยนั้น เราเป็นดาบสชื่อว่ามงคล มีเดชอันรุ่งเรืองยากที่ผู้อื่นจะข่มได้ประกอบด้วยกำลังแห่งอภิญญา เราได้นำเอาผลหว้ามาถวายแด่พระสิทธัตถสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับ
แล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่าจงดูชฎิลดาบสผู้มีตบะรุ่งเรืองนี้ ในกัปที่ ๙๔ แก่กัปนี้ ดาบสนี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก .... ข้ามแม่น้ำใหญ่ ฉะนั้น
เราได้ฟังพระพุทธพยากรณ์แม้นั้นแล้ว ก็ยังจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการยิ่งขึ้น พระนครชื่อว่าเวภาระ พระบรมกษัตริย์พระนามว่าอุเทน เป็นพระชนกของพระสิทธัตถบรมศาสดา พระนางสุผัสสา เป็นพระชนนีพระองค์ทรงครอบครองอาคารสถานอยู่หมื่นปี ทรงมีปราสาทอันประเสริฐ ๓ ปราสาท ชื่อโกกาสะ อุปละ และโกกนุทะ ทรงมีพระสนมนารีกำนัลในสี่หมื่นแปดพันนาง ล้วนประดับประดาสวยงามพระมเหสีพระนามว่าสุมนา พระราชโอรสพระนามว่าอนูปมะ พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงเสด็จออกผนวชด้วยวอทองทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม
พระสิทธัตถมหาวีรเจ้าผู้เป็นนายกของโลก อุดมกว่านรชน อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรที่มฤคทายวัน ทรงมีพระสัมพลเถระและพระสุมิตตเถระ เป็นพระอัครสาวก พระเถระชื่อว่าเรวตะ เป็นพระพุทธอุปัฏฐาก พระสีวลาเถรีและพระสุรามาเถรี เป็นพระอัครสาวิกาไม้โพธิพฤกษ์ของพระองค์เรียกชื่อว่ากรรณิการ์ สุปปิยอุบาสกและสัมพุทธอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก รัมมาอุบาสิกาและสุรัมมาอุบาสิกา เป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น สูง ๖๐ ศอก พระองค์งามเปล่งปลั่งดั่งทองคำล้ำค่า รุ่งเรืองไปในหมื่นโลกธาตุ
พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงพระคุณไม่มีผู้เสมอเหมือน ไม่มีบุคคลเปรียบเทียบถึง ทรงดำรงอยู่ในโลกแสนปี พระองค์ทรงแสดงพระรัศมีอันไพบูลย์ ทรงยังพระสาวกทั้งหลายให้บานสะพรั่งทรงเยื้องกรายงดงามด้วยสมาบัติอันประเสริฐ แล้วเสด็จนิพพาน พร้อมด้วยพระสาวก พระสิทธัตถพุทธเจ้าผู้เป็นมุนีประเสริฐเสด็จนิพพาน ณ อโนมาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูง ๔ โยชน์ ประดิษฐานอยู่ที่อโนมาราม ฉะนี้แล.
จบสิทธัตถพุทธวงศ์ที่ ๑๖
ที่มา: พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ (ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์-จริยาปิฎก)
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250