หลวงปู่บุญหนา สปฺปุญฺโญ

zSpecial

หลวงปู่บุญหนา สปฺปุญฺโญ

หลวงปู่บุญหนา สปฺปุญฺโญ

วัดศรีสะอาด บ.ท่าสะอาด อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

 

หลวงปู่บุญหนา สปฺปุญฺโญ วัดศรีสะอาด บ.ท่าสะอาด อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ท่านละสังขารอย่างสงบแล้ววันนี้ เมื่อเวลา ๐๐.๔๓ น. ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ สิริอายุ ๙๐ ปี เดือน ๒๕ วัน

ประวัติ

หลวงปู่บุญหนา สปฺปุญฺโญ ท่านเป็นศิษย์ในองค์หลวงปู่จันดี เขมปญฺโญ 

และหลวงปู่บุญมี ฐิตปุญฺโญ

ชาติกำเนิด
หลวงปู่บุญหนา สปฺปุญฺโญ เดิมมีชื่อว่า บุญหนา นันตะสูตร เกิดเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ บ้านโคกสี ตำบลโคกสีออ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ นายชารี นันตะสูตร และมารดาชื่อ นางดวน นันตะสูตร มีพี่น้องร่วมกัน ๕ คน
สมัยเด็ก เคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยได้ร่วมทำบุญตักบาตร และเข้าวัดกับผู้ใหญ่อยู่เสมอ วัยหนุ่ม มีอาชีพ ทำนาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว ขยันขันแข็ง ทำงานอะไรทำจริง ๆ จัง ๆ เป็นที่ไว้วางใจของพ่อแม่ในการงานทั้งปวง ทำให้เป็นที่รักของญาติพี่น้องและครอบครัว สมรสกับ นางทองใส โคตรพงษ์ มีบุตรด้วยกัน ๗ คน

อุปสมบท 

เมื่ออายุ ๖๔ ปี ท่านมีความปรารถนาที่จะอุปสมบทจวบกับมีโครงการอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ท่านจึงตัดสินใจบอกลาลูก ๆ และญาติพี่น้องเพื่อหันหน้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ในวันที่ ๓ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ณ วัดประชานิยม ตำบลหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร​ โดยมี หลวง​ปู่​บุญมี​ ฐิตปุญฺโญ​ เป็น​พระอุปัชฌาย์​ เจ้าอธิการประครอง โชติกโร​ เป็น​พระกรรมวาจาจารย์ ​พระอธิการเริงศักดิ์ จิตตสำโร​ เป็น​พระอนุสาวนาจารย์

หลวงปู่บุญหนา สปฺปุญฺโญ เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สังกัดวัดศรีสะอาด บ้านท่าสะอาด ตำบลโคกสีอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร 

ท่านได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นพระผู้มีความเพียรทางธุดงควัตร ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิบัติธรรม เคารพพระวินัย ด้วยเดิมมีนิสัยจริงจัง จึงบวชเพื่อเอาบุญกุศลจริง ๆ และตั้งใจรักษาสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่อย่างเคร่งครัด ในพรรษาแรกท่านได้ตั้งสัจอธิษฐานว่า ในการทำวัตรเช้า-เย็น และการบิณฑบาต จะไม่ให้มีวันใดขาดเลย และท่านก็ทำได้ตามที่ตั้งคำสัตย์ไว้ สงสัยช่วงอุปสมบทใหม่ ๆ มีความลังเลสงสัยในใจว่า หากท่านดำเนินและปฏิบัติตามพระสาวกพ่อแม่ครูอาจารย์ จะบรรลุถึงจุดที่พระสาวกท่านบรรลุหรือไม่ และบัดนี้จะยังมีมรรคผลนิพพานอยู่ เหมือนในครั้งพุทธกาลหรือไม่ เร่งความเพียร ท่านเร่งความเพียรตลอดทั้งพรรษา ไม่ทำการงานอื่นใดทั้งนั้น มีแต่ทำสมาธิภาวนา และเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน จนจิตได้รับความสงบจากสมาธิธรรม ท่านไม่เห็นแก่การกินการนอนมากไปกว่าผลแห่งการปฏิบัติธรรม ในช่วงบำเพ็ญเพียร ท่านเคยเล่าถึงความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับกิเลส เพื่อจะเอาแพ้เอาชนะกันว่า ท่านได้อธิฐานจิตในระหว่างพรรษาว่าจะนั่งสมาธิและเดินจงกรมทุกวันตลอดพรรษา วันใดในระหว่างการทำความเพียรหากท่านเกิดความง่วงนอนท่านจะนำก้อนหินขนาดใหญ่วางไว้บนศีรษะของท่านเพื่อต่อสู้กับกิเลส “ถ้ากิเลสไม่ตาย เราก็ต้องตาย”

ปัญญาก้าวเดิน ด้วยความมุ่งมั่นจริงจังดังกล่าว ทำให้จิตใจของท่าน ได้หลักสมาธิแน่นหนามั่นคง ท่านทรงภาวะนี้นานถึง ๕ ปี โดยใช้อุบายต่าง ๆ พิจารณาทางด้านปัญญา ทั้งทางอสุภะ(ซากศพ) กระทั่งถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด จนสามารถรู้ทันกิเลสตัวนั้นได้ ตัดกิเลสตัวนี้ได้โดยลำดับ ๆ ในช่วงนี้ท่านมีความเพลิดเพลินในความเพียรเพื่อละกิเลส ชนิดเดินจงกรมไม่รู้จักหยุด ตั้งแต่เช้าหลังจังหันจนกระทั่งปัดกวาดในตอนบ่าย ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย

“.. ดูจิตให้รู้จิต ดูใจให้รู้ใจ ดูอารมณ์ให้รู้อารมณ์ อย่าหลงอารมณ์ ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่เราทั้งหมด มันก็อยู่ในใจเรานี้ ใจนี่เป็นนายใหญ่เป็นเจ้าของบ้าน กายนี้เป็นบ้านของเรา ดูที่นี่บ้านของเราที่ใจของเรา ไม่ต้องไปดูที่อื่น ..” โอวาทธรรมหลวงปู่บุญหนา สปฺปุญฺโญ