หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ วัดศรีสุทธาวาส (เลยหลง) อ.เมือง จ.เลย

zSpecial

หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ วัดศรีสุทธาวาส (เลยหลง) อ.เมือง จ.เลย

หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ วัดศรีสุทธาวาส (เลยหลง) อ.เมือง จ.เลย

“กายเหมือนเรือ ใจเหมือนนายเรือ ถ้านายเรือไม่รับการฝึกหัดให้ชำนิชำนาญ หรือประมาทไป
ก็จะพาเอาเรือไปเป็นอันตรายเสีย ต่อเป็นผู้ได้ศึกษาและมีสติ จึงจะสามารถพาไปถึงท่า”

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ ชื่อเดิม ศรีจันทร์ จันทิหล้า เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันที่ 18 มกราคม 2447 เกิด ณ บ้านฟากเลย ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย บิดาของท่านชื่อ อมาตย์ เพี้ยฤทธิ์ (ลี จันทิหล้า) มารดาของท่านชื่อ นางตุ๊ จันทิหล้า ท่านหลวงปู่ศรีจันทร์เป็นบุตรคนที่ 12 ตระกูลจันทิหล้า เป็นครอบครัวที่อุดมสมบูรณ์มาก มีฐานะญาติมิตรมากมาย เพราะบิดาของท่านหลวงปู่เป็นเพี้ย ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งของข้าราชการในภาคอีสานนับได้ว่าหลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ เป็นบุตรของข้าราชการไทยในยุคหนึ่งนั่นเอง และท่านได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติในฐานะที่ท่านเป็นคนไทยคนหนึ่งอย่างสมเกียรติ

หลวงปู่ศรีจันทร์ สมัยเป็นเด็กเล็กๆ อยู่ ท่านได้รับความอบอุ่นจากบิดาและมารดาตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลายพออายุได้เกณฑ์เข้าโรงเรียน บิดาของท่านได้นำไปฝากเพื่อศึกษาเล่าเรียน ณ โรงเรียนประจำอำเภอวังสะพุงจังหวัดเลย

ในชีวิตปฐมวัย ท่านสามารถศึกษาเล่าเรียนได้ในเกณฑ์ดีพอใช้ กิริยามารยาทของท่านนั้นตามปกติแล้วเป็นเด็กที่เชื่อฟังบิดามารดาและญาติพี่น้องเสมอ เมื่อได้มาอยู่โรงเรียน จึงเป็นที่รักใคร่จากครูบาอาจารย์มากท่านเป็นคนเงียบ พูดน้อยมีสติปัญญามาแต่เด็ก จิตใจของท่านนั้นมีความเมตตา ปราณี อ่อนโยนมีความสงสารสัตว์ไม่ชอบการเบียดเบียน ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ ท่านมีความเข้าใจว่า ทุกชีวิตที่เกิดมาย่อมมีความรักตัวกลัวตาย กลัวเจ็บ กลัวไข้ด้วยกันหมดทั้งสิ้น ดังนั้นการเบียดเบียนกันจึงเป็นเหตุให้ผู้ถูกเบียดเบียนเกิดทุกขเวทนา มีเวรกรรมต่อกันหาที่สิ้นสุดลงไม่ ส่วนผู้เบียดเบียนผู้อื่นก็ไม่มีความสุข เกิดทุกข์ มีบาปกรรมอีกทั้งยังส่งผลให้ได้รับทุกขเวทนาเช่นกัน ฉะนั้นความคิดเช่นนี้ ท่านจึงพึงระวังไม่ให้เกิดบาปกรรมและระวังมาตั้งแต่สมัยเด็กจนได้บรรพชาอุปสมบท

การศึกษาของท่านสามารถเรียนจบชั้นประถมบริบูรณ์ (ชั้น ป.3) ในสมัยนั้น

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

ในกาลต่อมา หลวงปู่ศรีจันทร์ ได้ความคิดเห็นจากบิดามารดาของท่านให้เพิ่มวิชาความรู้ เพื่อจะได้นำความรู้นั้นๆ มาประกอบกิจชีวิตอันดีงาม

การศึกษาในสมัยนั้นยังไม่กว้างขวางอย่างเช่นปัจจุบัน ถ้าบุคคลใดมีความประสงค์ที่จะก้าวหน้าต่อไป ก็จำเป็นอยู่ที่จะต้องศึกษาในแหล่งนักปราชญ์ราชบัณฑิต ซึ่งเป็นวัดวาอารามนั่นเอง ที่เป็นแหล่งศึกษาแก่กุลบุตรผู้หวังความเจริญ

ในปี 2461 ท่านได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีชมชื่น ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2461 ได้รับความเมตตาจากพระครูหวดเป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ 15 ปีเต็ม เนื่องจากได้บวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านมีจิตใจรักในการศึกษามากอยู่แล้ว ท่านจึงเข้าศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรม

การศึกษาพระวินัยนั้น ท่านมีความสนใจมากในการศึกษาด้านการปกครองหมู่คณะ ท่านจึงได้ออกเดินทางมาอยู่จำพรรษาที่กรุงเทพฯ และได้พำนักที่วัดสัมพันธวงศ์

ภายหลังท่านได้รับความเมตตาอันสูงสุดให้ได้แปรญัตติเป็นสามเณรฝ่ายธรรมยุต

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2462 โดยได้รับพระเมตตาจากพระเดชพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต นพวงศ์) เป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ พระมหารัชมังคลาจารย์เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลวงปู่ศรีจันทร์ (ในสมัยเป็นสามเณร) ท่านได้มานะพยายามเป็นยิ่งยวด ศึกษาธรรมวินัยอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะท่านได้รับความเอ็นดูจากพระอุปัชฌาย์จารย์ และครูบาอาจารย์ผู้ฝึกสอนจนมีความรู้ความเข้าใจขึ้นอีกมากมาย และยังเป็นที่ไว้วางใจจากครูบาอาจารย์เป็นพิเศษ

สมัยที่เป็นสามเณรศรีจันทร์ จันทิหล้า นั้น ท่านได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในหมู่ของนักบวชนั้นท่านเป็นบุคคลที่รักความสงบมีความเมตตาปราณี กิริยาวาจาเรียบร้อยรู้จักบาป-บุญ-คุณ-โทษ รู้จักนอบน้อมผู้ใหญ่กว่า และยังเป็นบุคคลที่เกิดมาในสกุล “เพี้ย” คนหนึ่งจริยาขันธนิสัยจึงได้รับการอบรม มาจากบิดามารดาและบรรดาญาติพี่น้องของท่านมาก่อน จึงเป็นเหตุให้ท่านเรียบร้อยนอบน้อม กายวาจาที่แสดงออกมาเป็นที่พึงจิตพึงใจแก่ผู้พบเห็นและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด

เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทเข้ามาในทางพระพุทธศาสนา และได้มาอยู่จำพรรษาใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์ ที่เป็นมหาราชบัณฑิตและท่านนักปราชญ์ทั้งหลายในกรุงเทพฯ ตลอดจนถึงความเจริญก้าวหน้า มีเหตุมีผลได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศสอนสั่งไว้แล้ว ท่านยังได้มาอยู่ใกล้ชิดรับใช้พระอุปัชฌาย์จารย์ คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และยังมีพระเดชพระคุณเจ้าอีกหลายพระองค์ที่ประกอบด้วยสติปัญญาอันแหลมคมรอบตู้ในพระธรรมวินัย ท่านจึงได้นอบน้อมจดจำมาเป็นเยี่ยงอย่างใส่จิตใส่เกล้าของท่านมาตลอด ความที่หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ หรือ วณฺณาโภภิกขุ ขณะศึกษาเล่าเรียนอยู่ ณ สำนักวัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ในสมัยนั้นท่านได้พยายามศึกษาวิชาครูผู้ดำเนินตามครูบาอาจารย์ไว้ ดังบทความที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ติสสเถร นิพนธ์ไว้ ณ วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ดังนี้

“อันธรรมดาว่าผู้เป็นครู เมื่อจะทำการสอนควรบำเพ็ญพรหมวิหารธรรมให้มีก่อนแล้วจึงจะสอนภายหลัง” พรหมวิหาร 4 อย่างก็คือ

1. เมตตา ได้แก่ ตั้งใจส่งความรักใคร่ไปให้ผู้อื่น ถอนความเกลียดชังแก่ผู้อื่น

2. กรุณา ได้แก่ ตั้งใจช่วยทุกข์ของผู้อื่น

3. มุติตา ได้แก่ ตั้งใจยินดีต่อผู้อื่น ในเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดิบได้ดี ถอนความริษยาลาภผลจากผู้อื่น

4. อุเบกขา ได้แก่ ตั้งใจวางเฉยในเหตุการณ์ทั้งมวล แต่มิใช่เฉยอย่างปราศจากสติ คือเฉยในเมื่อได้วิจารณ์เห็นว่าหมดอำนาจเมตตา กรุณา และมุติตา ที่ได้แผ่ไปแล้วจึงเฉย

คุณทั้ง 4 ประการนี้ เมื่อผู้เป็นครูบำเพ็ญให้เกิดมีย่อมเป็นที่ตั้งแห่งความรักเคารพนับถือของผู้ฟัง และเป็นผู้ฉลาดในเชิงปราชญ์ ท่านมีความสังเกตจากครูบาอาจารย์ หมั่นศึกษาหาความรู้ใส่จิตใจ ของท่านไว้เป็นอันมากและวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบวินัย แผนศึกษาอบรม การปกครองหมู่คณะ ความรู้เหล่านี้หลวงปู่ศรีจันทร์ ได้มาปรับปรุงหมู่คณะที่ท่านรับผิดชอบนำความสงบสุขเจริญรุ่งเรือง ในที่สุดขณะที่ท่านเป็นสมเณรท่านสามารถสอนนักธรรมชั้นตรีและนักธรรมโทที่สนามหลวงได้ซึ่งเป็นปี 2466 ต่อมาท่านได้อุปสมบทต่อโดยได้รับความเมตตาธรรมเป็นครั้งที่ 2 จากสมเด็จพระอุปัชฌาย์จารย์ของท่าน โดยได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ วัดสัมพันธวงศ์ ตำบลสัมพันธวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ พระมหารัชชมังคลาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2467

ภายหลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ เจริญข้อวัตรพระธรรมวินัย ตามแบบฉบับท่านผู้รู้ทั้งหลาย อันเป็นเกียรติประวัติแก่ท่านในกาลต่อมาแล้ว หลวงปู่ศรีจันทร์ ท่านได้มีความพยายามที่จะศึกษา หาความรู้แก่ตนเองได้มากขึ้น ในพรรษาปี 2467 หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ ท่านได้พยายามศึกษา พระธรรมวินัยอย่างยิ่งยวดไม่ปล่อยเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ท่านได้ใช้เวลาส่วนมากทุ่มเท

ให้แก่การศึกษา ท่านพยายามสนองพระเดชพระคุณของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ที่พระเดชพระคุณเมตตา พึงหวังในตัวของท่านไว้ ความพยายามที่เกิดจากกำลังใจที่ครูบาอาจารย์คอยส่งเสริมท่านนี้ เป็นผลสำเร็จอย่างง่ายดายในปีเดียวกันคือ หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ สามารถสอบนักธรรมชั้นเอก ในสนามหลวงได้เมื่อปี 2467 นั่นเอง หลวงปู่ศรีจันทร์ สมัยอยู่จำพรรษาที่วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ แม้ว่าท่านจะมีการศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรม แต่ส่วนลึกของจิตใจท่านในยามนั้น หลวงปู่มีความสนใจประพฤติปฏิบัติภาวนาธรรมมาก และท่านได้เริ่มต้นปฏิบัติทางด้านพระกรรมฐาน ที่วัดสัมพันธวงศ์อีกด้วย สามารถกระทำควบคู่กันไปอย่างได้ผล และมีความชำนาญในสมาธิภาวนามาก

ท่านได้ถือข้อวัตรไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ฉันในบาตร ฉันหนเดียว รักษาความสันโดษ ไม่ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ ถ้าแม้ยามใดว่างจากภารกิจอื่นแล้ว หลวงปู่ศรีจันทร์จะเข้าที่บำเพ็ญเพียร ภาวนาทันที ดังนั้นก่อนที่จะหันเข้าไปอบรมอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นั้น หลวงปู่ศรีจันทร์ พอมีความเข้าใจในการปฏิบัติมาบ้างแล้วในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตาม หลวงปู่ศรีจันทร์ได้ศึกษา มาเป็นตัวหนังสือในข้อธุดงควัตรขณะศึกษาปริยัติธรรม แต่ท่านถือหลักที่ว่ามีความเชื่อธรรม คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า หลวงปู่ศรีจันทร์จึงพิสูจน์และมีความรู้จริงดังการที่ได้พิสูจน์มาแล้วนั้น หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ สมัยเป็นพระมหาได้เทียบด้วยสติปัญญาแล้วว่า “เป็นสถานที่ที่ควรตั้งมหาวิทยาลัย และเป็นวิชาที่ควรบรรจุเข้าในหลักสูตรมหาวิทยาลัยทางโลก

ธุดงควัตร 13 กับขันธวัตร 14 ในทางพระศาสนาก็สามารถเป็นได้ทั้งสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัย และหลักวิชาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยแยกออกจากธุดงค์บางข้อที่ควรเป็นสถานที่มหาวิทยาลัย แห่งการบำเพ็ญภาวนาศึกษาตามควร

คือข้อถือการอยู่ป่าเป็นวัตร อยู่รุกขมูลใต้ร่มไม้เป็นวัตร อยู่ป่าช้าเป็นวัตร การเยี่ยมป่าช้าเป็นวัตร สถานที่ควรอนุโลมเข้าในที่เหล่านี้ก็ควรอนุโลมได้ เช่นถ้ำเงื้อมผา เรือนว่างที่ปราศจากคนอยู่อาศัยเป็นต้น แต่หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ ท่านถือว่าท่านเป็นพระสงฆ์ ท่านจึงมั่นในการประพฤติ จึงจำเป็นอยู่ที่จะต้องสงเคราะห์เข้าในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เช่น การถือผ้าบังสกุลเป็นวัตร การถือเฉพาะผ้าสามผืนเป็นวัตร การบิณฑบาตเป็นวัตร การฉันในบาตรเป็นวัตร การฉันหนเดียวในวันหนึ่งๆ เป็นวัตร การห้ามภัตต์ที่ตามมาที่หลังเป็นวัตร การไม่พักนอนเป็นคืนๆ ไปเป็นวัตร กรรมฐาน 40 ห้อง ซึ่งเป็นหลักวิชาทางภาคปฏิบัติ ก็สงเคราะห์เข้าด้วยกับธุดงค์ภาควิชาการ

สรุปแล้ว พระพุทธศาสนาเป็นความสมบูรณ์ด้วยวิชาในแขนงต่าง ๆ เป็นมหาวิทยาลัยศาสนา มาแต่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เริ่มประกาศธรรมสอนโลก หลวงปู่ศรีจันทร์ จึงเข้าใจในหลักนี้ และมีความสนใจเป็นพิเศษ ส่วนการศึกษาทางโลกนั้นท่านก็สามารถเรียนรู้ได้ คือ

1. ท่านเป็นนักปกครอง

2. ท่านเป็นนักพัฒนา

3. ท่านเป็นนักปฏิบัติธรรม

ความจริงทั้งหลายเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านพระเดชพระคุณ ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ตลอดจนศิษยานุศิษย์ที่เคารพนับถือมาเป็นอย่างดียิ่ง

หลวงปู่ศรีจันทร์ ในฐานะที่ท่านดำรงสมณเพศอย่างสันโดษ ท่านออกบิณฑบาตทุกวัน ฉันเอกาวันละมื้อเดียว ไม่เคยแปรเปลี่ยนความตั้งใจเดิมตลอดเวลาอันยาวนาน ความสนใจในเรื่องพระกรรมฐานนี้ทำให้ท่านได้บุกบั่นไปนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และได้ฝากตนเป็นศิษย์ในสายพระกรรมฐานรูปหนึ่ง หลวงปู่ศรีจันทร์ ได้รับอุบายธรรม จากพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ในแนวทางปฏิบัติทางจิตโดยอาศัยการเจริญสมณธรรม ในป่าดงพงไพร เพราะเราชาวพุทธทุกคนมีความกล้าที่จะยืนยันได้ว่า ความรู้ความสามารถที่ได้รับมาอย่างเต็มภาคภูมินั้นเป็นหลักสูตรในป่าดง

พระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงอำนวยการสร้าง และการสอนด้วยพระองค์เอง

และพระองค์ทรงรับสั่งพระสาวกทั้งหลายให้สั่งสอนแทนในสมัยนั้น ย่อมหมายถึงหลักวิชาที่ล้ำเลิศ ในโลกไม่มีวิชาใดเสมอเหมือนในไตรภพนี้ มนุษย์ เทวดา อินทร์พรหม ยมยักษ์ ต่างก็มีความเคารพนับถือยกย่องพระพุทธเจ้าว่า เป็นครูเอกในสามภพ ดังในบทพระพุทธคุณว่า สตถา เทวมนุสฺสานํ เป็นครูผู้สอนเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย อันวิชชา “วิมุตติ” ทั้งหลายดังกล่าวมา จึงเป็นที่ยกย่องเทิดทูนสถาบันป่าเหล่านี้มาประจำศาสนาของพระพุทธองค์

เวลาใดที่กุลบุตรเข้ามาบวชเป็นพระ ก็ทรงสอนกรรมฐาน 5 และอนุศาสน์ มีการอยู่ร่มไม้ เป็นต้น ให้วางเข็มทิศทางเดินของปฏิปทาข้อปฏิบัติอันเป็นเครื่องมือฟาดฟันบุกเบิกดงหนาป่าทึบ คือกิเลสชนิดต่างๆ ภายในจิตใจที่มาปิดกั้นกันจิตไม่ให้มองเห็นทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพาน ทำให้เตียนโล่งไปด้วยธรรมาวุธที่ประทานให้ ดังนั้นเวลาบวชเป็นสามเณร พระอุปัชฌาย์จึงสอนกรรมฐาน 5 ให้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับมารร้ายต่างๆ ให้พินาศขาดสูญไปจากจิตใจ พระอุปัชฌาย์จารย์เป็นผู้รู้ผู้จำแนกเจริญรอยตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

เพียงแต่ไม่สอนอนุศาสน์เกี่ยวกับการอยู่ป่าเท่านั้นทั้งนี้อาจทรงเห็นว่าสามเณรยังเล็กอยู่ จึงยังไม่ส่งเข้าแนวรบอันเป็นชัยสมรภูมิสำคัญ พระสาวกอรหันต์จำนวนมากในสมัยพุทธกาล แทบพูดได้ว่าร้อยทั้งร้อยที่สำเร็จธรรมจากป่าดังกล่าวมาแล้ว

หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ ภายหลังจากได้รับอุบายธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่มั่นแล้ว ท่านก็มิได้นิ่งนอนใจ หลวงปู่ศรีจันทร์ รีบออกขวนขวายหาทางปฏิบัติธรรมในป่าดงพงไพรต่อไป หลวงปู่ได้เคยออกเดินธุดงค์ โดยไปอาศัยตามป่าภูเขาเงื้อมผาบุกไปตามป่าดงดิบต่างๆ หลายหนหลายแห่งเพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนาธรรม

หลวงปู่ศรีจันทร์ ได้ถือกำลังใจดำเนินตนไปด้วยความสะดวกราบรื่นไม่ขลุกขลัก ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วไม่ว่าชนิดใดมากน้อยเพียงใด มันต้องแสดงตัวเป็นข้าศึกของเราตลอดเวลา มันจะสำแดงฤทธิ์เดชของมันให้เห็นอยู่เสมอ ดังนั้น การออกเดินธุดงค์เพื่อขัดเกลามันออกจากจิตใจนี้ หลวงปู่ศรีจันทร์ มีความมานะอดทนเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นพระนักต่อสู้เป็นนักปฏิบัติธรรม จึงถือว่ากิเลสเป็นข้าศึกแก่ตัวของท่านเอง และเป็นกองทุกข์ที่จะเกิดขึ้นแก่มนุษย์ทุกคน ท่านจึงย่อมไม่นิ่งนอนใจที่จะเลี้ยงกิเลสไว้ ท่านกลับเห็นเสียว่า “ถ้าได้ทำลายเสียให้สิ้นซากลงไปในขณะนี้ ก็จะเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง ประเสริฐกว่าจะเลี้ยงไว้ทำพิษแก่ตนเองในภายหลัง หรือในวันอื่นต่อไป”

สำหรับหลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่มีภารกิจอันต่อเนื่องมากมาย ทั้งในด้านการปกครอง และทางด้านอบรมชี้แนะแนวทางอันเป็นทางเอกในบวรพระพุทธศาสนา

อีกด้านหนึ่งคือ ทางด้านพัฒนา ซึ่งประกอบด้วยหลักสองประการ

1. ทางด้านจิตใจ

2. ทางด้านวัตถุ

ทางด้านจิตใจนั้น หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ เปิดอบรมภาคปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เลิกละกิเลส ตัณหา อุปาทาน มุ่งตรงต่อคำสอนขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้าคือแนวทางวิมุตติหลุดพ้น นั่นเอง

ทางด้านวัตถุนั้น หลวงปู่ศรีจันทร์ ได้เป็นผู้ริเริ่มนำคณะศรัทธาญาติโยมให้ร่วมจิตใจกันสร้างถาวรวัตถุ เป็นเครื่องต่อเนื่องแก่พระศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นศรีสง่าแก่วงการพระพุทธศาสนานั่นเอง

ธรรมโอวาท

สมัยนี้เป็นสมัยที่โลกวุ่นวาย เนื่องมาจากเศรษฐกิจบ้างจากภัยต่างๆ มีโจรภัยบ้าง อุทกภัยบ้าง อัคคีภัยบ้าง และเกิดอุปัทวเหตุต่างๆ มีรถชนกันบ้าง และจี้-ปล้น-ข่มขืน-เรียกค่าไถ่กันบ้าง ทำให้เกิดความหวาดเสียว สะดุ้งกลัว หาความสงบสุขได้ยาก จึงมีบางท่าน บางหมู่ บางเหล่า อยากจะแสวงหาธรรมะสำหรับปฏิบัติ ทำให้จิตใจสงบ เยือกเย็น ไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวายไปตามโลก

ผู้มีสันติคือ ความสงบย่อมมีใจเยือกเย็น เป็นสุข มีความสุภาพ อ่อนโยน นิ่มนวล มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส น่ารัก ไม่อิจฉา ไม่พยาบาทใคร เปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารธรรมเมื่อมีอุปสรรคหรืออันตรายเกิดขึ้น ย่อมมีใจเข็มแข็ง ใช้สันติของตนโดยธรรม เอาชนะอุปสรรคหรืออันตรายเหล่านั้น ให้ผ่านพ้นไปโดยสวัสดี ถ้าเป็นผู้ปกครองเขาก็สามารถทำหมู่คณะของตนให้ปลอดภัยในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

เรื่องสมาธิ

สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงยังสมาธิให้เกิด ชนผู้มีจิตเป็นสมาธิแล้วย่อมรู้ความจริง

เพราะเหตุไร พระศาสดาจึงทรงชักนำในอันบำเพ็ญสมาธิ เพราะใจที่ได้อบรมดีแล้วย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์อันใหญ่ คนเราจะทำจะพูดดีหรือเสียก็เพราะใจ ลำพังกายเหมือนรูปหุ่น ใจเหมือนคนชักรูปหุ่น จะกระดิกพลิกแพลงไปเท่าไร ก็ส่อใจของคนชัก ฉันใด อาการกายวาจาจะเป็นไปอย่างไร ก็ส่ออาการของใจ ฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง กายเหมือนเรือ ใจเหมือนนายเรือ ถ้านายเรือไม่ได้รับฝึกหัดให้ชำนิชำนาญหรือประมาทไป ก็จะพาเอาเรือไปเป็นอันตรายเสีย ต่อเป็นผู้ได้ศึกษาและมีสติ จึงจะสามารถพาไปถึงท่า ฉันใด ใจก็ฉันนั้น ที่ชั่วและปล่อยให้ระเริงก็จะชักจูงให้ประพฤติชั่วทางกายทางวาจามีประการต่างๆ ล้วนแต่เป็นส่วนเสียหาย ถ้าได้รับการอบรมในทางดีจึงจะชักจูงในทางดี ท่านกล่าวว่าใจที่ไม่ได้อบรมอาจทำคนให้ฉิบหาย ยิ่งกว่าโจร หรือคนมีเวรจะทำให้เสียอีก ใจที่ได้รับการอบรมอาจทำได้ดียิ่งกว่าบิดามารดาและญาติผู้รักใคร่จะพึงทำให้ได้ เพราะเหตุนั้นพระศาสดาผู้ทรงพระกรุณาใหญ่แสวงหาประโยชน์แก่ประชาชน จึงได้ทรงชักนำในอันบำเพ็ญสมาธิ

สมาธินั้น พึงรู้อย่างนี้ ใจนี้อบรมดีแล้วย่อมเห็นอรรถเห็นธรรมแจ้งชัด ทำอะไรย่อมจะสำเร็จ แต่ใจนี้โดยปกตินี้อารมณ์ไม่ดีเข้าขัดขวางไม่ให้แน่แน่วลงได้ ซึ่งเรียกว่านิวรณ์ คือธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี นิวรณ์ท่านแจกเป็น 5

ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม เรียกกามฉันทะ 1 ความงุ่มง่านด้วยกำลังโทสะอย่างสูง ถึงให้จองล้างจองผลาญผู้อื่น เรียกชื่อตามอาการถึงที่สุดว่า พยาบาท

ความท้อแท้หรือคร้านและความง่วงงุน รวมเรียกว่า ถีนมิทธะ เพราะเหตุหดหู่แห่งจิตเหมือนกัน นี้จัดเป็นนิวรณ์อีก 1

ความฟุ้งซ่านหรือคิดพล่านและจืดจางเร็ว รวมเรียกว่า อุทธัจจะกุกกุจจะ เพราะเหตุกำเริบไม่อยู่ที่แห่งจิตเหมือนกัน นี้จัดเป็นนิวรณ์อีก 1

ความลังเลไม่แน่ลงได้เรียก วิจิกิจฉา 1

สมัยใดนิวรณ์ 5 อย่างนี้ แต่อย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำจิตบุคคลย่อมไม่คิดเห็นอรรถเห็นธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมไม่อาจประกอบกิจให้สำเร็จ ประโยชน์ตนประโยชน์ท่านการทำจิตให้ปลอดจาก นิวรณ์เหล่านี้ รักษาให้แน่วแน่ชื่อว่าสมาธิ

สมาธินี้ เป็นกำลังสำคัญในอันจะให้คิดเห็นอรรถธรรมและเหตุผลอันสุขุมลุ่มลึก พระศาสดาจึงตรัสไว้ในพระบาลีว่า

สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ผู้มีใจตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามเป็นจริง

ใจดวงเดียวนึกพร่าไปในอารมณ์ต่างๆ ย่อมคิดติดแลไม่เห็นทาง ดุจน้ำบ่าไปหลายทาง ต่อนึกดิ่งลงไปในอารมณ์เดียวเป็นสมาธิ จึงจะคิดเห็นปรุโปร่ง เหมือนน้ำจากกำลังใบพัดเครื่องจักร ที่ไหลบ่าลงทางเดียว ฉะนั้นสมาธิก็คือ รวมความคิดของใจให้ดิ่งลงไปในทางเดียว จึงเป็นกำลังอันใหญ่ให้แทงตลอดอรรถธรรม และเหตุผลอันสุขุม

การเข้าสมาธิมีประโยชน์ 2 อย่างคือ

1. ทำให้กระแสจิตแรงกล้า มีแสงสว่างจ้ากว่าธรรมดา แสงสว่างนี้ เรียกว่าปัญญา ประโยชน์ของสมาธิในลักษณะนี้เราจะพูดสั้นๆ ว่า สมาธิทำให้เกิดปัญญาก็ได้ พระบาลียืนยันก็มีว่า สมาธิ ปริภาวิโต ปญญามหปผโล โหติ มหานิสโส สมาธิทำให้ปัญญาใช้ได้ผลมาก

2. ทำให้กิเลสหมดไป หมายความว่าจิตคนเราตามปกติย่อมเต็มไปด้วยกิเลส ความรัก ความชัง ความหลง พอกพูนด้วยอารมณ์ทั้งดีทั้งร้าย จนกระทั่งได้ชื่อว่า ปุถุชนคนหนา ที่นี้จิตที่ถูกควบคุมเข้าสู่วงจำกัดทีละชั้นๆ นั้น จะทำได้ต่อเมื่อสละอารมณ์อันรุงรังออกจากจิตให้มากที่สุดจึงจะเข้าสมาธิชั้นในๆ ได้ เปรียบเหมือนว่า มีประตูอยู่ 8 ชั้น ชั้นนอกกว้างแล้วก็แคบเข้าตามลำดับคนๆ หนึ่ง หาบของมารุงรังจะเข้าประตูนั้น ต้องทิ้งหาบอย่างน้อยก็ข้างหนึ่งจึงจะเข้าได้ พอไปถึงประตูที่ 2 ถ้ายังหิ้วของอยู่ก็เข้าไม่ได้ต้องทิ้งหิ้วพอจะเข้าประตูที่ 3 ต้องทิ้งห่อ จนกระทั่งเหลือแต่ตัวจึงจะเข้าประตูสุดท้ายได้ ฉันใดก็ฉันนั้น จิตจะต้องปล่อยอารมณ์เลวร้ายเรื่อยไป จึงจะเข้าฌานโดยลำดับไปจนถึงฌานที่ 8 ได้ ท่านผู้ได้รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี ก็ยังเป็นส่วนโลกียะอยู่ จุติจากอัตตภาพนั้น แล้วย่อมไปเกิดในพรหมโลก ตามกำลังญาณของตน ส่วนผู้ปฏิบัติด้วยการชำระกาย วาจา และใจ ของตน

ให้บริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส จากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง มีราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะได้บรรลุมรรคผลสมประสงค์ทุกประการ

รวมความว่า สมาธิมีประโยชน์ 2 อย่างคือ

1. ทำให้ดวงปัญญาแก่กล้า

2. ทำให้บรรลุนิพพาน

ปัจฉิมบท

ปัจจุบันนี้ หลวงปู่ศรีจันทร์ ยังรอนักปฏิบัติธรรม เพื่อค้นคว้าหาทางพ้นทุกข์ตามสติกำลัง ที่ท่านพึงแนะนำได้อยู่เป็นนิจ

หลวงปู่ยินดีเป็นอันมากที่บรรดาพุทธบริษัทให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน

หลวงปู่มักกล่าวสอนอยู่เสมอว่า

“การปฏิบัติพระกรรมฐานนี้ มีทางออกที่ดี เพราะสามารถยกระดับจิตความคิดทางใจ ให้พ้นออกจากกองทุกข์ ที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน อย่างสิ้นเชิง”

หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ ท่านสมแล้วที่เป็นเนื้อนาบุญของพวกเรา ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
post