การทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สิน สิ่งของ สมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่บุคคลอื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความมีเมตตาจิตของตน
การทำทานจะได้บุญก็ต่อเมื่อถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการ
วัตถุทานที่บริสุทธิ์ เพราะการแสวงหาได้มาโดยชอบธรรม ไม่จำกัดว่าเป็นของมากหรือน้อย มีค่ามากหรือมีค่าน้อย จะเป็นของดี เลว ปราณีตมากหรือน้อยไม่สำคัญ ความสำคัญขึ้นอยู่กับเจตนาในการให้ทานนั้น ตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาที่ตนมีอยู่
การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่ เหนียวแน่น ความหวงแหนหลงไหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ “โลภะกิเลส”
เจตนาบริสุทธิ์ จะต้องสมบูรณ์พร้อม ๓ ระยะ คือ
ระยะที่ ๑ : ระยะก่อนจะให้ทาน
มีจิตโสมนัสร่าเริงเบิกบาน ยินดีที่จะให้ทาน
ระยะที่ ๒ : ระยะที่กำลังลงมือจะให้ทาน
มีจิตโสมนัส ร่าเริงยินดีและเบิกบาน ในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น
ระยะที่ ๓ : ระยะที่หลังจากให้ทานไปแล้ว
มีจิตโสมนัส ร่าเริง เบิกบาน ยินดีในทานนั้นๆ
ผลหรืออานิสงส์ของการทำทานที่ครบองค์ประกอบ ๓ ประการนั้น ย่อมมีผลให้ได้ซึ่ง มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ
เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง ก็ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำร่วย มั่งคั่ง สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ จะส่งผล คือ
เพราะผลของทานที่ได้ตั้งเจตนาไว้บริสุทธิ์ดีตั้งแต่ก่อนจะทำทาน
สืบเนื่องมาจากผลของทานที่ได้ทำเพราะเจตนางามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๒ โดยเกิดความโสมนัสรื่นเริงยินดีในทานที่กำลังกระทำอยู่
ร่ำรวยในบั้นปลายชีวิต เพราะเจตนาในการให้ทานงามบริสุทธิ์เฉพาะในระยะที่ ๓ กล่าวคือ หลังจากได้ทำทานไปแล้วเกิดจิตโสมนัสร่าเริงยินดี เบิกบาน
“เนื้อนาบุญ” ได้แก่บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ทำทาน จะต้องเป็นผู้ที่มีศีลธรรมสูง จึงจะเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ผลของทานจึงจะทำให้ได้บุญมาก
๑. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีบุญวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์ และสัตว์ครั้งเดียวก็ตาม
๒. ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๓. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๔. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๑๐ คือสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๕. ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีปาติโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ
พระด้วยกัน ก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ก็มีศีลปาติโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น “พระ” แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกว่า “สมมุติสงฆ์”
พระที่แท้จริงนั้นหมายถึง บุคคลที่บรรลุคุณธรรม ตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวช หรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น “พระ” ทั้งสิ้น
และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น จากน้อยไปหามากดังนี้ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
๖. ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม (ความจริงยังมีการแยกเป็น พระโสดาปัตติมรรคและพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อ พอให้ได้ความเท่านั้น)
๗. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากกว่า ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๘. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๙. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๐. การถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๑. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้งก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๒. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะได้ถวายสังฆทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๓. การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายวิหารทาน แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทางอันเป็นสาธารณประโยชน์ ที่ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อนึ่งการสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ หรือสิ่งที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลา ป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ ก็ได้บุญมาก ในทำนองเดียวกัน
๑๔. การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง (๑๐๐ หลัง) ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การให้ “อภัยทาน” แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทาน ก็คือการไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน
เพราะการให้อภัยทาน เป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อละ “โทสกิเลส” และเป็นการเจริญ “เมตตาพรหมวิหารธรรม” อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคล ที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ ย่อมเป็นผู้ทรงญาณ ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง “พยาบาท” ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภับทานได้การให้อภัยทาน จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว
๑๕. แต่การให้ทานที่ได้บุญมากที่สุด ได้แก่การให้ “ธรรมทาน” เพราะการให้ธรรมทาน ก็คือการเทศนาสั่งสอนธรรมะ ตลอดถึงการพิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน เพื่อช่วยให้ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ ได้รู้ หรือที่รู้อยู่แล้ว ให้ได้รู้ได้เข้าใจมากยิ่งๆขึ้น เป็นเหตุให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้ามารักษาศีล ปฏิบัติธรรม จนเข้าถึงมรรค ผล นิพพาน ในที่สุด ดังมีพุทธดำรัสตรัสไว้ว่า
“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”1
การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250