พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า
ธัมมทัสสีพุทธวงศ์ที่ 15
ว่าด้วยพระประวัติพระธัมมทัสสีพุทธเจ้า
ในมัณฑกัปนั้นแล มีพระพุทธเจ้าผู้มียศมากพระนามว่าธัมมทัสสี ทรงกำจัดความมืดตื้อแล้ว ทรงรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก แม้ในความที่พระองค์ผู้มีเดชไม่มีเทียบนั้นทรงประกาศพระธรรมจักร ธรรมาภิสมัยครั้งที่ 1 ได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ ในคราวเมื่อพระพุทธธัมมทัสสีทรงแนะนำสญชัยฤาษี ธรรมาภิสมัยครั้งที่ 2 ได้มีแก่สัตว์เก้าสิบโกฏิ ในคราวเมื่อท้าวสักกะพร้อมด้วยบริษัทเสด็จเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ธรรมาภิสมัยครั้งที่ 3 ได้มีแก่สัตว์แปดสิบโกฏิ แม้พระบรมศาสดาพระองค์นั้น ก็ทรงมีการประชุมพระภิกษุขีณาสพผู้ปราศจากมลทิน ผู้มีจิตสงบ คงที่ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อพระพุทธธรรมทัสสีทรงจำพรรษา ณ สมณนคร พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกันพันโกฏิ ครั้งที่ 2 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกมายังมนุษยโลก แม้ครั้งนั้น พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกันร้อยโกฏิครั้งที่ 3 เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศธุดงคคุณ ครั้งนั้นพระภิกษุขีณาสพมาประชุมกันแปดสิบโกฏิ
สมัยนั้น เราเป็นท้าวปุรินททสักกเทวราช ได้บูชาพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยของหอม มาลาและดนตรีทิพย์ แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับนั่งท่ามกลางสงฆ์ ก็ทรงพยากรณ์เราในกาลนั้นว่า ในพันร้อยแปดกัป ผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ... ข้ามแม่น้ำใหญ่ ฉะนั้น
เราได้ฟังพระพุทธพยากรณ์ แม้นั้นแล้ว ก็ยังจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญบารมี 10 ประการยิ่งขึ้นไป พระนครชื่อว่าสรณะ พระบรมกษัตริย์พระนามว่าสรณะ เป็นพระชนกของพระธรรมทัสสีศาสดาพระนางสุนันทา เป็นพระชนนี พระองค์ทรงครอบครองอาคารสถานอยู่แปดพันปี ทรงมีปราสาทอันประเสริฐ 3 ปราสาท ชื่อว่าอรชะ วิรชะ และสุทัสนะ มีพระสนมนารีกำนัลในสี่หมื่น ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าวิจิโกลี พระราชโอรสพระนามว่าปุญญวัฑฒนะ พระองค์ทรงเห็นนิมิต 4 ประการ จึงเสด็จออกผนวชด้วยปราสาท ได้ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน พระธรรมทัสสีนราสภมหาวีรเจ้า ผู้สูงสุดกว่านรชน อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ มฤคทายวัน พระองค์มีพระปทุมเถระและพระปุสสเทวเถระ เป็นพระอัครสาวก พระเถระชื่อว่าสุทัตตะ เป็นพระพุทธอุปัฏฐาก พระเขมาเถรีและพระสัจจนามาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ไม้โพธิพฤกษ์ของพระองค์เรียกชื่อว่าติมพชาละ (มะพลับ) สุภัททอุบาสกและกฏิสสหอุบาสก เป็นอัครอุปัฏฐากสาฬิสาอุบาสิกาและกฬิสสาอุบาสิกา เป็นอัครอุปัฏฐายิกา แม้พระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนพระองค์นั้นสูง 80 ศอก ทรงมีพระเดชรุ่งเรืองอย่างยิ่ง แผ่ไปในหมื่นธาตุ พระองค์งามสง่า ดังพญารังมีดอกบาน เหมือนสายฟ้าในอากาศ ดุจพระอาทิตย์ในเวลาเที่ยง ฉะนั้น
แม้พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ มีพระเดชไม่มีเทียบเคียง ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่สม่ำเสมออยู่ในโลกแสนปี ทรงแสดงพระรัศมีสว่างไสว ทำพระศาสนาให้ปราศจากมลทิน เสด็จนิพพานพร้อมกับพระสาวก ดังพระจันทร์ลับไปในท้องฟ้า ฉะนั้น พระธรรมทัสสีมหาวีรเจ้าเสด็จนิพพาน ณ เกสาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูง 3 โยชน์ ฉะนี้แล.
จบธัมมทัสสีพุทธวงศ์ที่ 15
ที่มา: พระไตรปิฎกเล่มที่ 33 (ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 พุทธวงศ์-จริยาปิฎก)
ฉายา : ผู้บรรเทาคววามมืด
ความสูง : 80 ศอก
รัศมี : แผ่ซานออกไปหม่นโลกธาตุ
บำเพ็ญบารมี : บำเพ็ญบารมีครบถ้วน
วรรณะ : กษัตริย์
พุทธบิดา : พระเจ้าสรณะ
พุทธมารดา : พระนางสุนันทาเทวี
พระนคร : สรณะ
ใช้ชีวิตฆราวาส : 8,000 ปี
มเหสี : วิจิโกลี
บุตร : ปุญญวัฑฒนะ
ยานพาหนะที่ใช้ออกบวช : ออกบวชทั้งปราสาท (ลอยไปทั้งปราสาท)
ระยะเวลาการทำความเพียร : 7 วัน จึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ต้นไม้ตรัสรู้ : ที่โคนต้นติมพชาละ (มะพลับ)
อายุขัย : 100,000 ปี จึงปรินิพพาน ณ เกสาราม
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250