พระปทุมุตรพุทธเจ้า
ปทุมุตรพุทธวงศ์ที่ 10
ว่าด้วยพระประวัติพระปทุมุตรพุทธเจ้า
สมัยต่อมาจากพระนารทพุทธเจ้า พระสัมพุทธชินเจ้าผู้อุดมกว่าสรรพสัตว์ พระนามว่าปทุมุตระ มีพระคุณนับไม่ถ้วน เปรียบด้วยสาคร และในกัปที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติเป็นมัณฑกัป ประชุมชนผู้มีกุศลมากจึงได้เกิดในกัปนั้น ในพระธรรมเทศนาครั้งที่ 1 ของพระผู้มีพระภาคปทุมุตระ ธรรมาภิสมัย ได้มีแก่เทวดาและมนุษย์แสนโกฏิ ต่อจากนั้น เมื่อพระองค์ทรงยังฝนคือธรรม ให้ตก และให้สัตว์ทั้งหลายอิ่มหนำสำราญ ธรรมาภิสมัย ครั้งที่ 2 ได้มีแก่ สัตว์สามหมื่นเจ็ดพัน ในกาลเมื่อพระมหาวีรเจ้า เสด็จเข้าไปยังสำนักพระเจ้าอานันทพุทธบิดา ครั้นแล้วทรงตีกลองอมฤต เมื่อพระองค์ทรงตีกลองอมฤตเภรี ยังฝนคือธรรม ให้ตก ธรรมาภิสมัยครั้งที่ 3 ได้มีแก่สัตว์ห้าโกฏิ พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทให้รู้แจ้งทรงยังสัตว์ทั้งปวงให้ข้าม ทรงฉลาดในเทศนา ทรงช่วยให้หมู่ชนข้ามพ้นวัฏฏสงสารได้มากมาย พระปทุมุตรบรมศาสดาทรงประชุมพระสาวก 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 พระสาวกแสนโกฏิมาประชุมกัน ครั้งที่ 2 ในกาลเมื่อพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ประทับอยู่ ณ เวภารบรรพต พระสาวกเก้าหมื่นโกฏิมาประชุมกัน ครั้งที่ 3 เมื่อพระองค์เสด็จจาริกจากนิคมและรัฐ พระสาวกแปดหมื่นโกฏิมาประชุมกัน
สมัยนั้น เราเป็นชฎิลชื่อว่ารัฏฐิกะ ได้ถวายผ้าพร้อมภัตตาหารแก่สงฆ์มีพระสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับนั่ง ณ ท่ามกลางสงฆ์ทรงพยากรณ์เราว่า ในแสนกัปแต่กัปนี้ไป ผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก ...... ข้ามแม่น้ำใหญ่ ฉะนั้น
เราได้ฟังพระพุทธพยากรณ์แม้นั้นแล้วอธิษฐานวัตรให้ยิ่งขึ้น เราได้ทำความเพียรมั่นชั้นยอด ในการบำเพ็ญบารมี 10 ประการ ในกาลนั้น เดียรถีย์ทั้งปวงถูกกำจัด พากันเสียใจโทมนัส ใครๆ ไม่บำรุงเดียรถีย์เหล่านั้น พวกเขาจึงพากันออกไปจากแว่นแคว้น มาประชุมกันในที่นั้นทั้งหมดแล้วเข้าไปในสำนักพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ขอพระองค์ผู้มีจักษุ ผู้ทรงพระกรุณาอนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงได้ทรงเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด พระองค์ทรงยังเดียรถีย์ที่มาประชุมกันทั้งปวง ให้ตั้งอยู่ในเบญจศีล พระศาสนาของพระองค์ไม่อากูลว่างจากพวกเดียรถีย์อย่างนี้ งามวิจิตรด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญคงที่ พระนครชื่อว่าหงสวดี พระบรมกษัตริย์พระนามว่าอานนท์ เป็นพระชนกของพระปทุมุตรศาสดา พระนางสุชาดา เป็นพระพุทธชนนี พระองค์ทรงครอบครองอาคารสถานอยู่เก้าหมื่นปี ทรงมีปราสาทอันประเสริฐ 3 ปราสาท ชื่อนารี พาหนะ และยศวดี มีพระสนมนารีกำนัลในสี่หมื่นสามพันนาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระอัครมเหสีพระนามว่าวสุลทัตตา พระราชโอรสพระนามว่าอุตระ พระองค์ทรงเห็นนิมิต 4 ประการ จึงเสด็จออกผนวชพร้อมด้วยปราสาท ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน พระปทุมุตรบรมศาสดามหาวีรเจ้า อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ มิถิลาราชอุทยานอันประเสริฐ ทรงมีพระเทวิลเถระ และพระสุชาตเถระ เป็นพระอัครสาวก พระเถระชื่อว่าสุมนะ เป็นพุทธอุปัฏฐาก พระอมิตาเถรีและพระอสมาเถรี เป็นพระอัครสาวิกาไม้โพธิพฤกษ์ของพระองค์เรียกกันว่าไม้สน อมิตอุบาสกและติสสอุบาสก เป็นอัครอุปัฏฐาก อุหัตถาอุบาสิกาและสุจิตราอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระมหามุนีทรงมีพระองค์สูง 58 ศอก มีพระรัศมีงามเช่นกับทองคำล้ำค่า มีพระลักษณะประเสริฐ 32 ประการ พระรัศมีของพระองค์แผ่ไป 12 โยชน์ โดยรอบกำแพง บานประตู ฝาเรือน ต้นไม้ และภูเขาสูงเทียมฟ้า กำบังไม่ได้
ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุแสนปี พระองค์ดำรงพระชนมายุอยู่เท่านั้น ทรงตัดความสงสัยทั้งปวง ช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นวัฏฏสงสารได้มากมาย ทรงรุ่งเรืองดังกองไฟแล้วเสด็จนิพพาน พร้อมด้วยพระสาวก พระปทุมุตรพุทธชินเจ้า เสด็จนิพพาน ณ นันทาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูง 12 โยชน์ ประดิษฐานอยู่ในนันทารามนั้น ฉะนี้แล.
จบ ปทุมุตรพุทธวงศ์ที่ 10
ที่มา: พระไตรปิฎกเล่มที่ 33 (ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 พุทธวงศ์-จริยาปิฎก)
ฉายา : ผู้เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์
ความสูง : 58 ศอก
รัศมี : แผ่ซานไปไกล 12 โยชน์
บำเพ็ญบารมี : บำเพ็ญบารมีครบถ้วน
วรรณะ : กษัตริย์
พุทธบิดา : พระเจ้าอานนท์
พุทธมารดา : พระนางสุชาดาเทวี
พระนคร : หงสวดี
ใช้ชีวิตฆราวาส : 10,000 ปี
มเหสี : วสุลทัตตา
บุตร : อุตระ
ยานพาหนะที่ใช้ออกบวช : ออกบวชทั้งปราสาท (ลอยไปทั้งปราสาท)
ระยะเวลาการทำความเพียร : 7 วัน จึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ต้นไม้ตรัสรู้ : ที่โคนต้นไม้สลฬ (ต้นสน)
อายุขัย : 100,000 ปี จึงปรินิพพาน ณ นันทาราม
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250