ในพุทธุปบาทกาลนี้ พระมหาปันถกะ มาบังเกิดเป็นลูกชายของธิดาของธนเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ มีน้องชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งพี่น้องทั้งสองคนนี้เดิมชื่อว่า “ปันถกะ” เหมือนกัน แต่เพราะท่านเป็นคนพี่จึงได้นามว่า “มหาปันถกะ” ส่วนคนน้องได้นามว่า “จุลปันถกะ” อยู่ในวรรณะจัณฑาลเพราะพ่อเป็นวรรณะศูทรแม่เป็นวรรณะแพศย์ มารดาของท่านนั้น เป็นธิดาของธนเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เมื่อเจริญเติบโตย่างเข้าสู่วัยสาว เป็นผู้มีความงามเป็นเลิศ บิดามารดาจึงห่วง และหวงเป็นนักหนา ได้ป้องกันรักษา ให้อยู่บนปราสาทชั้นสูงสุด มิให้คบหากับบุคคลภายนอก จึงเป็นเหตุให้นาง มีความใกล้ชิดกับคนรับใช้ ซึ่งเป็นชายหนุ่มในเรือนของตนจนได้เสียเป็นสามีภรรยากัน ต่อมาทั้งสอง กลัวว่าบิดามารดา และคนอื่นจะล่วงรู้ การกระทำของตน จึงพากันหนีออกจากบ้าน ไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอื่น ที่ไม่มีคนรู้จัก อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา จนภรรยาตั้งครรภ์ เมื่อภรรยาตั้งครรภ์ใกล้คลอด ได้ปรึกษากับสามีว่า ถึงอย่างไร พ่อแม่ก็คงไม่ทำอันตราย ลูกของตนได้ ดังนั้น ขอให้ท่านช่วยพาดิฉันกลับไป คลอดที่บ้านเดิมด้วยเถิดการคลอดในที่ห่างไกลพ่อแม่นั้นไม่ค่อยจะปลอดภัย ฝ่ายสามี เกรงว่าบิดามารดาของภรรยา จะลงโทษจึงไม่กล้าพาไป และได้พยายามพูดบ่ายเบี่ยง ผัดวันประกันพรุ่ง ออกไปเรื่อย ๆ จนภรรยาเห็นท่าไม่ได้การ เมื่อสามีออกไปทำงานข้างนอก จึงหนีออกจากบ้าน เดินทางมุ่งหน้า สู่บ้านเกิดของตนเอง แต่ครรภ์ของนาง ได้รับการกระทบกระเทือน จึงคลอดบุตรในระหว่าทาง เมื่อสามีตามไปทัน และได้พบว่าภรรยาคลอดบุตร ระหว่างทางเรียบร้อยแล้ว และแม่ลูกทั้งสอง ก็แข็งแรงปลอดภัยดี กิจที่จะไปคลอดลูก ยังบ้านเกิดของตน นั้นก็เสร็จสิ้นลงแล้ว จึงพากันกลับสู่บ้านของตน และได้ตั้งชื่อกุมารนั้นว่า “ปันถก”เพราะว่าเกิดในระหว่างหนทาง ครั้นต่อมา นางได้ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สอง และเหตุการณ์ ก็เป็นเหมือนครั้งแรก นางได้คลอดลูกระหว่างทางอีก และตั้งชื่อให้ว่า “ปันถก” เหมือนคนแรก แต่เพิ่มคำว่า มหา ให้คนพี่ เรียกว่า “มหาปันถก” และเพิ่มคำว่าจุลให้คนน้องเรียกว่า“จุลปันถก” สองสามีภรรยานั้น ได้ช่วยกันเลี้ยงดูลูกทั้งสอง อยู่ครองรักกันมานาน จนกระทั่งลูกเจริญเติบโตขึ้น ต่อมาได้พาลูกทั้งสองไปพบ ตา ยาย ที่เมืองราชคฤห์ เมื่อเดินทางมาถึงเมืองราชคฤห์แล้ว สอง
สามีภรรยานั้น รับทรัพย์สินเงินทองไปเลี้ยงชีวิตแล้ว ส่งลูกชายทั้งสองคน ให้มาอยู่กับเศรษฐีผู้เป็นตา ฝ่ายเศรษฐี ก็เลี้ยงดูหลาน ๆ ด้วยความรักใคร่ พาไปฟังพระธรรมเทศนา จากพระบรมศาสดาที่วัดเวฬุวันเป็นประจำ ดังนั้น เมื่อต่อมา มหาปันถกะ หลานคนโต เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา กล่าวขออนุญาต เพื่อบรรพชาเป็นสามเณรคุณตาผู้เศรษฐีจึงรีบอนุญาตด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งพาไปบวชเป็นสามเณร ท่านเป็นสามเณรจนอายุครบ 20 ปี จึงได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านพยายามบำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวกิเลสทั้งปวง พระมหาปันถก เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยกิจการพระศาสนา เป็นกำลังช่วยงานพระบรมศาสดา ทรงมอบหมายให้ท่านรับหน้าที่ “ภัตตุทเทศก์” ผู้แจกจ่ายภัตตาหารและกิจนิมนต์ ตามบ้านทายกทายิกา และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ ได้รับลาภสักการะโดยทั่วถึงกัน ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อยยุติธรรม จนเป็นที่พอใจของบรรดาเพื่อนสหธรรมิก และทายกทายิกาอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ท่านได้รับความสุข จากการหลุดพ้นสิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงแล้ว ท่านได้ระลึกถึงน้องชายของท่าน ต้องการที่จะให้น้องชาย ได้รับความสุขเช่นเดียวกับตนบ้าง จึงไปขออนุญาตจากคุณตา แล้วพาจุลปันถกะ ผู้เป็นน้องชายมาบวช เป็นศาสนทายาทอีกคนหนึ่ง พระมหาปันถกะ เป็นผู้มีความชำนาญในการเจริญวิปัสสนา จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในปัญญาวิวัฏฏะ
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250