ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระโมคคัลลานเถระ มาบังเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ ผู้เป็นนายบ้าน ชื่อว่า โกลิตะ มารดาชื่อว่านางโมคคัลลี เดิมท่านชื่อว่า โกลิตะ ตามสกุลแห่งบิดา อีกอย่างหนึ่ง เขาเรียกตามความที่เป็นบุตรนางโมคคัลลีว่า โมคคัลลานะ ท่านเข้าบวชในพระพุทธศาสนา ได้ดวงตาเห็นธรรม (เป็นโสดาบัน) และได้อุปสมบทในพระธรรมวินัย 7 วัน ไปทำความเพียร อยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงมคธ อ่อนใจ นั่งโงกง่วงอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั้น ทรงสั่งสอนและแสดงอุบาย สำหรับระงับความง่วงมีประการต่างๆดังต่อไปนี้
1. โมคคัลลานะ เมื่อท่านมีสัญญาอย่างไร ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ ท่านควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มาก
2. ท่านควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ได้ฟังแล้ว และได้เรียนแล้ว ด้วยใจของท่านเอง
3.ท่านควรสาธยายธรรมตามที่ตัวได้ฟังแล้วและได้เรียนแล้วโดยพิสดาร
4. ท่านควรยอนหูทั้งสองข้าง และลูบด้วยฝ่ามือ
5.ท่านควรลุกขึ้นยืนลูบนัยน์ตาด้วยน้ำเหลียวดูทิศทั้งหลายแหงนดูดาวนักขัตรฤกษ์
6. ท่านควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือ ความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด
7. ท่านควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายว่า จักเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอกฯ
8. ท่านควรสำเร็จสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันที่จะลุกขึ้นไว้ในใจพอท่านตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้น
ครั้นตรัสสอน อุบายสำหรับระงับความง่วงอย่างนี้แล้ว ทรงสั่งสอน ให้สำเหนียกในใจอีกต่อไปว่า เราจักไม่ชูงวง (คือถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล เราจักไม่พูดคำ ซึ่งเป็นเหตุให้เถียงกัน เข้าใจผิดต่อกันและตรัสสอนให้ยินดีด้วยที่นอนที่นั่งอันเงียบสงัดและควรเป็นที่อยู่ตามสำพังสมณวิสัย เมื่อตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า โดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วนเกษมจากโยคธรรมเป็นพรหมจารีบุคคลยิ่งกว่าผู้อื่นที่มีสุดดีกว่าผู้อื่นประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระศาสดาตรัสตอบว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับแล้วว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญา เป็นเครื่องหน่าย เป็นเครื่องดับ เป็นเครื่องสละคืน ในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ถือมั่นสิ่งอะไร ๆ ในโลก ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบ ได้ด้วยตนเอง และทราบชัดว่า ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จำจะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะทำอย่างนี้อีกมิได้มีท่านพระโมคคัลลานะปฏิบัติตามโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอนก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น ครั้นพระโมคคัลลานะ ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดา ในอันยังกิจที่พระบรมศาสดาทรงดำริไว้ให้สำเร็จ เพราะท่านเป็นผู้มีฤทธานุภาพมาก จึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์(อิทธิมนฺตานํ) และทรงยกย่องว่าเป็นคู่กันกับพระสารีบุตร ในอันอุปการะภิกษุ ผู้เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยดังกล่าวแล้ว ในประวัติท่านพระสารีบุตรว่า สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ยังบุตรให้เกิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำยกย่องพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย พระธรรมเทศนาของพระโมคคัลลานะ ไม่ค่อยจะมี ที่เป็นโอวาทให้แก่ภิกษุสงฆ์ ก็มีเพียงแต่ อนุมานสูตร ซึ่งว่าด้วยธรรมอันทำให้คนเป็นผู้ว่ายากหรือว่าง่าย ท่านพระโมคคัลลานะนั้นชำนาญในการนวกรรม (การก่อสร้าง) ด้วย ดังจะเห็นได้จาก เมื่อนางวิสาขา มหาอุบาสิกา สร้างบุพพารามในกรุงสาวัตถี พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านเป็นนวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ควบคุมการก่อสร้าง ท่านพระโมคคัลลานะ ปรินิพพานก่อนพระบรมศาสดา ในวันดับเดือน 12 ภายหลังพระสารีบุตรปักษ์หนึ่ง (15 วัน) พระศาสดาได้เสด็จไปทำฌาปนกิจ แล้วรับสั่งให้นำอัฐิธาตุมาก่อนพระเจดีย์ บรรจุไว้ ณ ที่ใกล้ประตูแห่งเวฬุวนาราม
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250