ท่านพระสาคตเถระเกิดในตระกูลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถีมารดาให้ชื่อว่า“สาคตมาณพ” ชำนาญในฌานสมาบัติแปดประการ ครั้นเจริญวัยแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนา ในสำนักของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ออกบรรพชาอุปสมบท ถือเพศเป็นบรรพชิต ยังฌานสมาบัติแปดประการ ให้บังเกิดขึ้น มีความชำนิชำนาญในองค์ฌานนั้น ต่อมาสมเด็จพระบรมศาสดา เสด็จจาริกไปตามชนบท บรรลุถึงภัททวติกาคาม ในพระนครโกสัมพีพระองค์ได้ประทับอยู่ในบ้านนั้นท่านพระสาคตะได้ตามเสด็จไป ตามตำนานท่านกล่าวว่า ที่ท่า ชื่อว่าอัมพะ มีพญานาค มีฤทธิ์เดชกล้า ชื่อว่าอัมพติฏฐนาค ท่านพระสาคตะได้ทรมาณพญานาคนั้น ให้เสื่อมสิ้นฤทธิ์เดช แล้วได้กลับไปยังสำนักพระบรมศาสดาที่ภัททวติกาคาม เมื่อเสด็จประทับอยู่ในบ้านนั้น ตามสมควรแก่พุทธอัธยาศัยแล้ว ชาวบ้าน ได้ทำการต้อนรับเสด็จพระองค์ตามสมควร ชาวบ้านเมื่อได้ทราบว่า พระผู้เป็นเจ้าสาคตะ ได้สู้กับพญานาคซึ่งอยู่ ณ ท่าชื่อว่าอัมพะ มีชัยชนะ พากันมีความปีติยินดี มีความประสงค์จะหาของอย่างดี เป็นที่พอใจถวาย จึงเข้าไปหาท่านพระสาคตะ ไหว้แล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง จึงกล่าวถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญอะไรเป็นของหายากและชอบใจยิ่งของพระผู้เป็นเจ้า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ จึงบอกแก่อุบาสกเหล่านั้นว่า สุราอ่อนใสสีแดงดังเท้านกพิราบ เป็นของหายาก และเป็นของชอบใจยิ่ง ของภิกษุทั้งหลายด้วยท่านทั้งหลายจงจัดสุราเหล่านั้นไว้ถวายเถิด อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นจึงจัดสุรานั้นไว้ทุก ๆ เรือน เมื่อเห็นพระสาคตเถระ เที่ยวบิณฑบาตจึงนิมนต์ท่านว่า ขอพระผู้เป็นเจ้า จงดื่มสุราอ่อนอันแดงใส ดังเท้านกพิราบก่อน พระสาคตะก็ได้ดื่มสุรานั้นทุก ๆ เรือน ด้วยอำนาจสุรา ทำให้ท่านมึนเมาลืมสติเมื่อออกจากพระนครก็ล้มลงที่ประตูนคร พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้พวกภิกษุ พยุงเธอไปสู่วิหาร แล้วทรงตำหนิติเตียน มีประการต่าง ๆ ในท่ามกลางสงฆ์ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุไม่ให้ดื่มสุราเมรัยอีกต่อไปว่า “สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ” แปลความว่า “เป็นอาบัติปาจิตตีย์เพราะดื่มสุราและเมรัยฯ” ครั้นรุ่งขึ้นพระสาคตะ สร่างเมาได้สติแล้ว กราบทูลขอขมา ให้พระบรมศาสดาทรงยกโทษแล้ว ก็บังเกิดความสังเวชสลดใจ ในการกระทำเช่นนั้น ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็อุตส่าห์เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ต่อมาภายหลัง เมื่อพระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ได้ทรงตั้งท่านพระสาคตะ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้ฉลาดเข้าเตโชธาตุ (เตโชธาตุกุสลานํ)
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250