หลวงปู่ขาน ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาอันสง่างาม เป็นแบบอย่างในด้านความพากเพียรและกาประพฤติปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ ออกธุดงค์แสวงหาครูบาอาจารย์ตามป่าเขาแลโถงถ้ำ ต่อสู้ต่อความยากลำบาก ความกันดารอดอยาก จนได้พบวิมุตติธรรมหลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิดจากสังสารวัฏได้ในพรรษาที่ ๗
หลวงปู่ขาน ถือกำเนิด ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๘ ปีกุน ณ บ้านโนนปอแดง ต.โนนสัง อ.โนนสัง จ.อุดรธานี (ปัจจุบันคือ จ.หนองบัวลำภู) ท่านเป็นบุตรคนที่ ๙ ของ คุณพ่อหนู คุณแม่ห่อน สุขา มีพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คน หลวงปู่ขาน ท่านมีศักดิ์เป็นลุงของท่านพระอาจารย์เสถียร สมาจาโร พระอริยเจ้าแห่งวาชูคุ เพราะเป็นพี่ชายของโยมมารดาท่านพระอาจารย์เสถียร และเป็นพระอาจารย์ผู้อบรมธรรมให้กับท่านพระอาจารย์เสถียร อีกด้วย
ชีวิตช่วงเยาว์วัย ท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วได้ออกมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำสวน ได้ออกบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๕ ปี ครั้นต่อมาเมื่ออายุ ๒๑ ปี ๑๐ เดือน ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ เวลา ๑๕.๔๓ น. ณ วัดป่าชะบาวัน บ้านกุดฉิม ต.บ้านค้อ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู โดยมีพระครูศาสนูปกรณ์ วัดโยธานิมิตร เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่อุ่น ชาคโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการเพ็ง อิติโสภโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐานวโร” แปลว่า “มีที่ตั้งอันประเสริฐ”
หลวงปู่ขาน ได้พำนักจำพรรษาแรก ณ วัดป่าสำโรง ซึ่งมีหลวงปู่ชม โฆสิโก เป็นเจ้าอาวาส พอออกพรรษาหลวงปู่ขานได้ออกธุดงค์เดินทางไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล ตลอดระยะเวลาที่อยู่วัดถ้ำกลองเพล หลวงปู่ขาวได้ให้อุบายธรรมแก่ท่านมากมายจนปลาบปลื้มอันเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรม หลวงปู่ขาน ได้ปฏิบัติภาวนาอย่างเข้มข้นทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งอดอาหารอดนอน มีสติอยู่ด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่น และนอน บางคราวก็ถือเนสันชิกอยู่ในอริยาบถ ๓ ไม่ยอมให้หลัดติดพื้น มุ่งมั่นทำความเพียร อยู่อย่างสันโดษ ตามถ้ำตามผาตามโขดหิน ผลาญหินบ้าน โคนไม้บ้าง ไม่คลุกคลีอยู่กับหมู่คณะ รวมระยะเวลาที่อยู่ถ้ำกลองเพล ๒ พรรษาด้วยกัน คือ พรรษาที่ ๒ – ๓ ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๑ – ๒๕๐๒ จึงได้กราบลาหลวงปู่ขาว ออกไปแสวงหาโมกขธรรมต่อไป ได้อยู่จำพรรษาที่ วัดป่าแก้วชุมพล ในพรรษาที่ ๔ หลังจากนั้นหลวงปู่ขาน ได้จาริกไปที่ต่างๆ เช่น ภูกระดึง อุดรธานี หนองคาย โพนพิสัย จนมาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ที่ถ้ำจันทน์ จ.หนองคาย ท่านได้รับอุบายวิธีการปฏิบัติสำหรับขจัดขัดเกลากิเลสจาก พระอาจารย์จวน มากมาย
ตลอดทั้ง ๒ พรรษา ในช่วงที่หลวงปู่ขาน อยู่ที่ถ้ำจันทน์แห่งนี้ ท่านได้เกิดอาพาธเป็นไข้มาเลเรีย แม้โรคาพาธจะเบียดเบียนท่านอย่างหนักขนาดไหนก็ตาม ท่านก็ไม่ท้อถอยยอมต่อพยาธิภัยเลย เร่งความเพียรด้วยจิตใจอันเด็ดเดี่ยว ด้วยการประกอบอาจาริยวัตรท่านก็มิขาดตก ถวายการอุปัฏฐากรับให้หลวงปู่จวนอย่างไม่บกพร่อง “ธัมมะรัตนัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง ผู้ปฏิบัติซึ่งธรรมให้เป็นที่พึ่ง ได้ชื่อว่าเป็นธรรมโอสถอย่างสูง” หลวงปู่ขาน ท่านได้ใช้ธรรมโอสถเยียวยารักษาธาตุขันธ์จากอาพาธไข้ป่าด้วยความเพียรจนหายขาดจากอาพาธทั้งปวง
สมัยที่อยู่อุปัฏฐากหลวงปู่จวน อยู่ที่ถ้ำจันทน์นั้น ท่านได้ขึ้นไปรับใช้บีบนวดหลวงปู่จวน อยู่บนกุฏิ กระทั้งเวลาเที่ยงคืนเห็นจะได้ หลวงปู่จวนจึงให้ท่านกลับไปพักผ่อน ช่วงที่ท่านเดินลงจากกุฏิ พอดีเป็นช่วงเวลาที่เสือออกมาหากิน จึงเดินมาประจันหน้ากันที่ใต้กุฏิหลวงปู่จวน หลวงปู่ขานท่านเล่าว่า ด้วยความกลัวและทำอะไรไม่ถูก พลันสติจึงบังเกิดขึ้นตักเตือนว่าต้องนั่งสมาธิภาวนา ท่านจึงได้นั่งลงกับพื้นใต้กุฏิ และกำหนดลมหายใจเข้าออก ไม่นานจิตก็สงบ รวมเป็นสมาธิแล้วน้อมเข้ามาในกาย พิจารณากายจนท่านได้พบธรรมะอันพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญมาและสอนพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งธรรมเหล่านั้นได้ประจักษ์แจ้งแก่ใจของหลวงปู่เป็นครั้งแรก เมื่อจิตถอนออกมาก็รุ่งเช้าพอดี เสือก็ไม่อยู่แล้ว หลวงปู่ขานท่านอยู่ที่ถ้ำจันทน์ จ.หนองคาย ถึง ๒ พรรษา คือ พรรษา ๕ และ ๖ หลังจากนั้นได้ธุดงค์ไปยังถ้ำพระนาผักหอก ที่บ้านกลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ได้พบหลวงปู่ลี กุสลธโร ซึ่งได้มาพักภาวนาอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้อยู่ก่อนแล้ว ตอนนั้นหลวงปู่ลี มีพรรษาเข้าได้พรรษาที่ ๑๕ ในพรรษานั้น โดยหลวงปู่ลี ได้บรรลุธรรมพบวิมุตติสุขได้ตั้งแต่กลางพรรษาที่ ๑๑ แล้ว ในวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๓ ณ วัดบ้านกกกอก (ปัจจุบันคือ วัดป่าปริตตบรรพต) อ.วังสะพุง จ.เลย หลวงปู่ขาน เมื่อมาอยู่ร่วมปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ลี ท่านก็รีบเร่งภาวนา ต่างองค์ต่างปฏิบัติ ต่างองค์ต่างบำเพ็ญ อย่างไม่ลดละต่อกิเลส การบิณฑบาตแม้ว่าจะลำบากเพราะมีบ้านคนเพียง ๖ หลังคาเรือน บางวันได้ข้าวเหนียวแค่ ๓ ปั้น หลวงปู่ทั้ง ๒ หาได้ใยดีแก่ปากแก่ท้องไม่ ตั้งหน้าตั้งตาเอาธรรมะชำระกิเลส ให้หมดสิ้นไป เมื่อติดขัดสิ่งใดในการภาวนา หลวงปู่ลี ก็คอยให้คำปรึกษาถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกันเรื่อยมาจนในพรรษาที่ ๗ นี้เองซึ่งตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๖ (แต่ในหนังสือประวัติหลวงปู่ลี กุสลธโร ท่านว่ามาอยู่ที่ถ้ำนาผักหอกร่วมกับหลวงปู่ขาน ฐานวโร ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๗ จึงมีความคาดเคลื่อนเรื่องปี พ.ศ.กันอยู่) หลวงปู่ขาน ได้พบกับวิมุตติธรรมอันประเสริฐ อันเป็นเครื่องยุติการเดินทางใน ๓ โลกธาตุ ภพชาติต่างๆของท่านได้สิ้นสุดลง ณ ถ้ำพระนาผักหอกแห่งนี้ คืนหนึ่งหลังหลวงปู่ขาน ได้พบวิมุตติธรรมในขณะที่กำลังภาวนาอยู่นั้น ท่านได้นิมิตเห็นกับนางอุบลวรรณาเถรีมายืนอยู่เบื้องหน้า และกล่าวอนุโมทนาแก่หลวงปู่ถึงผลของการบำเพ็ญเพียรภาวนา จนได้พบกับวิสุทธิธรรม และสามารถ
เอาชนะกิเลสชำระให้หมดไปจากใจได้ รุ่งเช้าหลวงปู่ถอนออกจากสมาธิ และเขียนไว้บนผนังหน้าถ้ำว่า “ถ้ำโลกะวิทู” อันมีความหมายว่า “รู้แจ้งโลก”
หลวงปู่ขาน ได้กลับไปวัดถ้ำกลองเพล กราบนมัสการหลวงปู่ขาว อนาลโย อยู่ปฏิบัติอาจาริยวัตรถวายพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างเต็มกำลัง แม้ท่านจะมีธรรมอันประเสริฐประดิษฐานอยู่ในใจแล้วก็ตาม ท่านก็ไม่ได้ละทิ้งการบำเพ็ญภาวนาได้ไปอยู่ที่ถ้ำผาผึ้งซึ่งอยู่ในอาณาเขตวัดถ้ำกลองเพลเพียงลำพัง ในพรรษาที่ ๘ และ ๙ ท่านอยู่กับหลวงปู่ขาว ถึง ๒ พรรษา จากนั้นจึงได้กราบลาหลวงปู่ขาว ไปอยู่วิเวก และเข้าจำพรรษาที่วัดป่าชบาวัน จ.หนองบัวลำภู อยู่ร่วมกับหลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร ถึง ๓ พรรษา คือ พรรษาที่ ๑๐ – ๑๒ พอออกพรรษาจึงกราบลาหลวงปู่มหาบุญมี ออกจาริกไปทางภาคเหนือพร้อมด้วยพระอาจารย์ท่านต่างๆ ๑๑ รูป ได้แก่ หลวงปู่ทูล ขิปฺปปัญโญ , หลวงปู่หวัน จุลปัญฑิโต หลวงปู่จรัส ธัมมธโร และหลวงพ่อกองเหรียญ เป็นต้น คณะของหลวงปู่ได้หยุดพำนักปักกลดอยู่ที่ดอยน้ำตกพัฒนา (ปัจจุบันคือวัดดอยน้ำตกพัฒนา อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย มีหลวงปู่จรัส ธัมมธโร เป็นเจ้าอาวาส)ประกอบกับญาติพี่น้องของท่านได้อพยพมาสร้างบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเหล่า ต.ทุ่งก่อ จ.เชียงราย เนื่องจากบ้านโนนปอแดง อยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อนอุบลรัตน์ สำหรับวัดป่าบ้านเหล่าหรือดอยกู่แก้วเคยเป็นวัดในสมัยพระเจ้ากือนา กษัตริย์อาณาจักรเชียงแสนมาก่อน หลวงปู่ขาน ท่านพิจารณาเห็นถึงความสงบสงัดเหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรม ท่านจึงเกิดความชอบใจและได้ตัดสินใจจำพรรษาอยู่ที่ดอยกู่แก้ว ในพรรษาที่ ๑๓ ต่อมามีผู้มีศรัทธาถวายที่ดินบริเวณดอยกู่แก้วแก่หลวงปู่ขาน ท่านจึงสร้างเป็นวัดป่าบ้านเหล่า ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า “วัดวชิระทรงธรรมพัฒนา” และอยู่อบรมธรรมแก่ลูกศิษย์ตั้งแต่พรรษาที่ ๑๓ – พรรษาที่ ๕๐ คือปี พ.ศ.๒๕๑๒ จนถึงปีแห่งมรณกาลของท่านคือปี พ.ศ.๒๕๔๙
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250