บรรพชาเป็นสามเณร
ปลายปี พ.ศ.๒๔๙๒ ขณะนั้นอายุเพียง ๑๕ ปี เมื่อได้เห็นสามเณรประยงค์ ผู้เป็นพี่ชายมารับจะพาไปบวช ศรัทธาที่มีต่อการบวชอันเป็นทุนเดิม บวกกับความเป็นจริงที่มีพี่ชายมารับจึงเป็นศรัทธาที่มีกำลังแรงอย่างยิ่ง ครั้งนี้ทำให้ท่านหลวงปู่บุญยัง เกิดอารมณ์ที่ไม่สามารถจะอธิบายได้ มองดูบ้านเรือนและชาวบ้าน เป็นเหมือนไม่ใช่บ้านไม่ใช่ที่ซึ่งตนเคยอยู่อาศัย และคิดว่าถ้าไปแล้วคงจะไม่ได้กลับมาอีก ทำให้ท่านสบายใจหมดห่วง หมดความกังวลในทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ท่านอาจารย์บุญยังเล่าว่า จิตใจของท่านเดินทางไปก่อนตัว เวลาเดินออกจากหมู่บ้านถูกผู้คนชาวบ้านทักทาย ก็รู้สึกเก้อเขิน ไม่รู้จะตอบจะพูดกับเขาว่าอย่างไร มันให้ความรู้สึกเบาๆ หวิวๆ อย่างบอกไม่ถูก คงจะเป็นเพราะมัวแต่นึกวาดภาพไปล่วงหน้า ทำให้จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อันนี้เป็นความรู้สึกของท่านที่มีต่อการออกบวช แม้ว่าจะอยู่ในวัยเด็กก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นเพราะความปลาบปลื้มยินดี และเกิดขึ้นด้วยความสมหวังนั่นเอง
ช่วงนั้น หลวงพ่อนิน ญาณวีโร ผู้เป็นบิดา ได้มาตามแล้วจึงได้นำท่านไปยัง จ.สกลนครต่อไป การเดินทางในครั้งนั้น ต้องเรียกว่า เป็นการเดินจริงๆ คือเดินเท้าผ่าน จ.ร้อยเอ็ด จ.กาฬสินธุ์ ถึง อ.วาริชภูมิ ท่านได้แวะพักที่วัดป่าสุขุมวารี ในระหว่างที่ท่านหลวงปู่บุญยังเป็นศิษย์วัดอยู่นี้ ได้หมั้นประกอบความเพียรอยู่เนืองๆ พร้อมกับการศึกษาข้อวัตรอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ไปด้วย ซึ่งท่านถือว่า เป็นช่วงของการฝึกฝนตนเอง ให้มีความรู้ความอดทน ความคล่องตัว สามารถปรับตัว ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในที่ต่างๆ ได้ ซึ่งการฝึกหัดนั้น ได้ใช้จริงๆ ไม่มีภาคทฤษฎี มีแต่ภาคปฏิบัติ ต้องอยู่ตามป่าตามเขา มีข้าวมื้อเดียวพอประทังชีวิตไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น เพื่อหาความวิเวกสงบกายใจ สละสิ่งที่เป็นเครื่องผูกมัดดวงจิตทั้งสิ่งของและอารมณ์ที่ไม่ดี
ท่านพระอาจารย์เล่าว่า การเจริญภาวนาของท่าน ใช้คำบริกรรมว่า “พุทโธ” เป็นหลัก ปรากฏว่า ครั้งหนึ่งได้เกิดสมาธินิมิตขึ้น ในขณะทีท่านหลวงปู่บุญยัง นั่งในกุฏิ มีเสียงดังคล้ายกุฏิจะล้มลง มีเสียงร้องของสัตว์ป่าต่างๆ แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าความเกิดขึ้นนั้นเป็นอะไรกันแน่ ท่านบอกว่าขณะนั้น รู้สึกตกใจกลัวมาก คิดจะร้องให้พ่อช่วย แต่ได้สติขึ้นมา นึกถึงคำที่พ่อเตือนไว้เสมอ ๆ ว่า “ไม่ต้องกลัวอะไร ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม”
ท่านจึงเริ่มคลายความกลัวแล้วบริกรรม “พุทโธ” ต่อ พอท่านเริ่มบริกรรมพุทโธอีกเท่านั้น ก็เกิดความสว่างขึ้นมาเหมือนตอนกลางวัน สามารถมองเห็นไม้กระดานที่มุงกุฏิเหมือนอย่างลืมตาดู เนื่องจากท่านนั่งอยู่ในกลด จึงได้ใช้มือควานหามุ้ง เมื่อมือไปถูกกับมุ้งเข้า ความสว่างที่เกิดขึ้นนั้นก็หายไป กลับเข้าสู่ความมืดมิดตามปกติ ต่อมาท่านออกจากวัดสุขุมวารี หลวงพ่อนินได้พาท่านไปที่วัดป่าวีระธรรม บ้านอุ่มเหม้า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในเวลาต่อมาท่านจึงได้มาบวชเป็นสามเณรที่วัดพุฒาราม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๔ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๑๗
ปี โดยมี พระอธิการพุฒ ยโส (พระครูพุฒวราคม อดีตเจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดิน) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชเสร็จแล้ว สามเณรบุญยัง ได้กลับไปอยู่ที่วัดป่าวีระธรรม บ้านอุ่มเหม้า อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร ตามเดิม
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ท่านได้อุปสมบทที่วัดป่าวีระธรรม บ้านอุ้มเหม้า อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร สถานที่อุปสมบทนั้นเป็น “สิมน้ำ” เป็นเขตแดนทำสังฆกรรม โดยมี หลวงปู่สีลา อิสฺสโร วัดป่าอิสระธรรม จ.สกลนคร เป็นพระอุปัชฌย์ พระอาจารย์บุญมี อินมุตฺโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อินตา วรเทโว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับฉายาว่า “ผลญาโณ” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีความรู้เป็นผล“มรณกาล
ในพรรษานี้ มีพระเณรอยู่จำพรรษากับท่านไม่กี่รูป จนกระทั่งถึงกลางพรรษา สิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้น ในคือวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ท่านหลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ ได้ประชุมพระเณรภายในวัดป่าบ้านบาก และทำวัตรเย็นที่ศาลาการเปรียญเช่นเคยปฏิบัติมาทุกวัน วันนี้ท่านหลวงปู่บุญยัง ได้เล่าให้พระเณรว่า ฝันเห็นคนจุดบั้งไฟ แล้วพุ่งเข้าไปในบ้านบาก และเลี้ยวกับมาชนที่ก้นท่าน แต่ไม้เจ็บ ท่านเล่าเพียงเท่านั้น ท่านหลวงปู่บุญยังได้ให้พระอ่านประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ให้พระเณรฟัง ซึ่งท่านได้ทำมาเป็นประจำ จนกระทั่งถึงเวลา ๒๑.๑๕ น. ท่านหลวงปู่บุญยังบอกว่าวันนี้รู้สึกว่าเจ็บหัวใจ แน่นหน้าอกมาก จึงให้พระเณรเลิกประชุม ส่วนตัวท่านเองได้กราบพระและออกไปเดินรอบๆ ศาลาการเปรียญ ซึ่งกำลังปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขยายใหม่ โดยท่านนายอำเภอราษีไศลเป็นผู้นำ จากนั้นท่านหลวงปู่บุญยัง ได้กลับกุฏิและเดินจงกรมตามปกติ ในระหว่างนี้ ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทราบแต่เพียงว่าท่านอาจารย์บุญยังเดินจงกรม เพราะเป็นกิจวัตรประจำวัน ทั้งนี้ศิษยานุศิษย์เข้าใจว่าเมื่อท่านอาจารย์บุญยังเดินจงกรมไปสักพัก ท่านคงรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติของหัวใจอย่างรุนแรง เพราะได้บอกพระเณรอยู่ที่ศาลาการเปรียญก่อนแล้วจึงหยุดและกับขึ้นที่พักกุฏิที่อยู่ติดกับทางเดินจงกรมนั้น แต่ยังไม่ทันจะขึ้นก็ฟุบลงก่อน(ท่านเคยมีอาการแบบนี้ แต่เป็นเวลากลางวัน มีคนพบก่อนและช่วยนวดก็หาย) ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๙ เวลา ๐๕.๑๕ น. เด็กวัดที่ไปรับบาตรของท่านหลวงปู่บุญยัง ได้พบว่าท่านมรณภาพแล้ว จึงได้บอกให้พระเณรและญาติโยมทราบ ดังนั้นข่าวการมรณภาพของท่านหลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ จึงกระจายไป ทำให้ศิษยานุศิษย์ทุกหนแห่งเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่งจนคณะศิษยานุศิษย์ได้จารึกเป็นตัวอักษรถึงท่านหลวงปู่บุญยังใน “หนังสืออนุสรณ์งานถวายเพลิงศพ ท่านหลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ” ว่า ถึงแม้ท่านอาจารย์จะจากไป แต่เราทุกคนก็ยังมีความรู้สึกอยู่ไม่เสื่อมคลายว่าท่านยังอยู่กับพวกเรา เพราะเสียงเทศนาก็ดี เสียงอบรมสั่งสอนก็ดี กิริยาอาการข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งคัดของท่านยังตรึงตาตรึงใจของเราอยู่ ไม่มีวันจะหมดสิ้นไปได้ เราในฐานะเป็นศิษย์จึงดำเนินการท่านสั่งสอนเอาไว้ ยึดถือประพฤติตามให้ได้ผลให้สมกับที่ท่านอุทิศชีวิตสั่งสอนมา ดังนี้จะได้ชื่อว่าเป็นศิษย์มีอาจารย์ เพราะนานๆ จะมีคนเช่นนี้เกิดมาบนโลกสักครั้งหนึ่ง