บรรพชา
ท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งถือว่าสูงสุดในสมัยนั้น เมื่ออายุครบ ๑๘ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ พัทธสีมา วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม โดยมีพระสารภาณมุนี (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ (ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพสิทธาจารย์) บรรชาเสร็จก็กลับมาจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ซื่งเป็นบ้านเกิด
ในพรรษาแรกที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดอรัญญวิเวกบ้านข่า หลังจากออกพรรษาแล้ว เคยไปกราบครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่สีลา อิสฺสโร วัดป่าอิสสระธรรม บ้านว่าใหญ่, หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม วัดอุดมรัตนาราม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เป็นต้น
ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เมื่อครั้งเป็นสามเณร ในขณะนั้นหลวงปู่มั่น ภิริทัตโต พระบุพพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ได้มาพำนักที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร สามเณรสังข์ในครั้งนั้นก็ได้มีโอกาสได้เข้ากราบนมัสการและรับฟังพระธรรมเทศนาจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตโดยตรง แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจนักเพราะยังเป็นเด็กอยู่
ซึ่งครูบาอาจารย์ได้ให้กำลังใจแก่หลวงปู่สังข์ให้อยู่ในสมณเพศนานๆ ท่านหลวงปู่สังข์ได้เที่ยวรุกขมูลกับพระอาจารย์บุญส่ง โสปโก ไปหลายที่ เช่น บึงโขงหลง แล้วไปภูลังกา พบพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร แล้วเที่ยวไปเรื่อยๆจนถึงอำเภอบึงกาฬ ตามทางที่หลวงปู่ตื้อเคยไป เมื่อได้เวลาเข้าพรรษาก็กลับมาจำพรรษาวัดอรัญญวิเวกตามเดิม
ติดตามหาหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
ท่านเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี สามารถสอบนักธรรมชั้นตรี และโท ได้จากสนามสอบวัดศรีชม ซึ่งเป็นวัดบ้านเพราะยุคนั้นสนามสอบของคณะธรรมยุติยังไม่มี
ต่อมาท่านจึงได้ออกติดตามหาหลวงปู่ตื้อ อจลธมโม ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติทางยาย คือปู่ของหลวงปู่ตื้อเป็นพี่ชายของคุณยายของท่าน เคยได้ยินแต่กิตติศัพท์ของหลวงปู่ตื้อมานาน แต่ไม่เคยเห็นตัวจริงมาก่อน จึงอยากจะออกติดตามหาหลวงปู่ตื้อ และได้ขึ้นมา จ.เชียงใหม่ เป็นครั้งแรก โดยมีพี่ชายของหลวงปู่ตื้อ มีพระและญาติโยมตามมาด้วย ซึ่งเมื่อถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ก็เข้าพักที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน ได้ยินว่าหลวงปู่ตื้อจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จึงตามไปพบท่านที่วัดป่าดาราภิรมย์ เมื่อได้พบหลวงปู่ตื้อแล้วก็พักอยู่ที่วัดป่าดาราภิรมย์ระยะหนึ่งจึงเดินทางกลับบ้านเกิดที่ จ.นครพนม
อุปสมบท
ใน พ.ศ.๒๔๙๓ อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โดยมีพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตตโก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระทัด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์บุญส่ง โสปโก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็อยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม กับพระอุปัชฌาย์เป็นเวลา ๕ ปี ท่านสอบนักธรรมชั้นเอกได้ที่วัดป่าบ้านสามผงแห่งนี้ แล้วทำหน้าที่เป็นครูสอนนักธรรมช่วยพระอุปัชฌาย์
ปัจจุบัน หลวงปู่สังข์ สังกิจฺโจ ท่านจำพรรษาที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๙๐ ปี พรรษา ๗๐ (พ.ศ.๒๕๖๓)
โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่สังข์ สังกิจฺโจ
“..ผู้ใดที่มีศีลเป็นนิจ ผู้ใดที่มีทานเป็นนิต ผู้ใดภาวนาพุท-โธ เป็นนิจ ผู้ใดสร้างจิตใจ ของตนให้สงบ เรียกว่า จิตพบพระพุทธศาสนา..”
“โอ้ย..วันไหนเจ็บกายหนอ โอยมันไม่ฟังเราหรอก มันจะเอาอันนี้มันก็ไม่เอา นี่ก็แปลว่าซังมันแล้วนะ คนซังธรรมนี้ ไม่เห็นธรรมนะ..”
“..สร้างบุญสร้างกุศลก็มีความสุข สมบัติของเราย่อมได้ มนุษย์สมบัติอาศัยความสุขด้วยศีลธรรม ทิพพสมบัติ นิพพานสมบัติ เราทำเราไม่ต้องสงสัย สงสัยอะไรละ ก็จิตเรามีนี่ อื้อลงในจิตอันเดียวให้รู้จักนะ จิตนี้ขันธ์ห้ามันหุ้มอยู่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ตัววิญญาณ มันหุ้มจิตอยู่นะ มันก็หุ้มออกมา สัญญามันก็หุ้มจิตอยู่นั่นแหละ สัญญามันรู้รอบทิศ เรามีหูมีตารอบทิศนะ รูป เสียง กลิ่น รส ก็รู้ทิศอยู่ เนี่ยะเข้าใจนะ ความจำก็ออกมา เวทนา สุข ทุกข์ มันก็รอบจิตเราอยู่ คือขันธ์ห้านี่แหละ เข้าใจนะ แต่ว่าวิญญาณนี่ มาทางนี้มันมีความรู้สึกรอบขันธ์ห้าอยู่ ที่นี้ถ้าเราจะรับทาน มันก็อยู่ที่จิต ถ้าเราจะรับศีลมันก็อยู่ที่จิต จิตอันเดียวนะ พุทโธๆ ๆ รู้จิตเรานะ ให้ศึกษาจิต แต่ว่าถ้าจะรับศีลห้านี้เป็นกิริยาคือ ห้าข้อ จิตอันเดียวรับเอา เท่านี้แหละ ถ้าเราอยากจะรู้ว่า ห้าข้อนั้น จิตอันเดียวก็เราตั้งหลักหนึ่งซะ ข้อหนึ่งคืออะไร ข้อสองคืออะไร ข้อสามคืออะไร ให้ภาวนาเดี๋ยวเกิดปัญญาขึ้นมา เดี๋ยวเกิดสติในหลักนั้นขึ้นมา ก็จิตนั่นหละรู้แจ้งด้วยศีลนั้น ศีลก็อยู่ที่จิตอันเดียว ที่เรารู้ก็มีห้าข้อ แต่เมื่อสงบแล้วก็ลงสู่จิตอันเดียวเป็นพลังนั่นนะ เข้าใจนะ ถ้าบุญกิริยาสิบ ก็เป็นกิริยา คือเราจะต้องทำในอาการกิริยาลักษณะนั้นในจิต แต่ว่าจิตนั้นรับเอา ๑๐ อย่าง เราก็นับเอามันอยู่ในจิตนั่นแหละ นับเอาเถอะ เนี่ยะมันเป็นบ่อเกิดนะ นับเอาหลักมัน นึก ทานคืออะไร นึกศีลคืออะไร ตามลำดับ อนุโลม ปฏิโลม อย่างนี้ว่าหลักการภาวนาทางในๆ อันนี้เป็นจิตตภาวนา แต่ถ้าเราจะเอาคุณธรรมที่นั้น แต่ถ้าเราเอาไว้ในจิต เราจะลดมาดูขันธ์ห้าเรา รูปเวทนา สัญญา ก็ยิ่งใกล้อันนี้ ถ้ามาดูรูปก็ท่านบัญญัติไว้ว่า เกศา โลมา ถ้าจะดูรูปธรรมท่านว่า อาการ ๓๒ รู้ได้ใกล้ๆ นี่ อันนั้นเป็นธรรมนะ ถ้าจะดูบารมีธรรมก็เอ้าดูจิตเราอดอะไรได้บ้างนะ มันก็อยู่ที่ความสามารถของเราจะอดได้แค่นั้น แต่สร้างขึ้นไปมันก็มากขึ้นๆ เข้าใจบ่ ให้ภาวนาให้รู้จิตนะ ดังนั้น เราจิตมันมาก มันก็มากเป็นกิริยานั่นหละ มันก็ ถ้าศีลห้า ถ้าคิดตามห้า มันก็ห้าคิดนั่นหละ มันก็จิตอันเดียวนั่นแหละ แต่เราไม่มีสติ เพิ่นก็เลยบัญญัติว่าจิตที่เป็นกุศลห้าดวงซะ คิดไปตามอาการนั้น เข้าใจบ่ น่ะ ถึงร้อยดวงพันดวงก็คิดไปตามในเรื่องที่เป็นกุศล แต่ที่เป็นอกุศลก็บัญญัติไว้หลายดวงเหมือนกันแต่จิตอันเดียว แต่ไปตามกิริยาทั้งนั้น เท่านั้นแหละ ให้รู้ เมื่อรู้แล้วก็รวมอยู่ที่จิต..”