วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2556
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ดำรงพระยศ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2556
สมณุตตมาภิเษก พ.ศ. 2532
สถิต วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
นิกาย ธรรมยุตนิกาย
ประสูติ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2456
สิ้นพระชนม์ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556
พระชนมายุ 100 พรรษา
สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ นามสกุล คชวัตร ประสูติที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2456 เวลาประมาณ 10 ทุ่ม มีเศษ พระชนกชื่อ นายน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พุทธศักราช 2465) พระชนนีชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พุทธศักราช 2508) ทรงอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. 2476 พระชนมายุครบ 20 พรรษา ที่วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี พระครูอดุลยสมณกิจ (พุทฺธโชติ ดี เอกฉันท์) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร (สุวณฺณโชติ เหรียญ รัสสุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัด หรุง นามสกุลเซี่ยงฉี เจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทแล้วทรงจำพรรษา ที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วในศกเดียวกัน ได้ทรงทำทัฬหีกรรม ( ญัตติซ้ำ ) เป็นธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476 สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ( สุจิตฺโต หม่อมราชวงศ์ ชื่น นภวงศ์ ป.7) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี ( อิสฺสรณญาโณ จู ทีปรักษพันธุ์ ป.7) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ปี พ.ศ. 2472 ทรงเริ่มสอบได้นักธรรมชั้นตรี และชั้นโท ชั้นเอก เปรียญธรรมตั้งแต่ 3 ประโยคเรื่อยมา จวบจน พ.ศ. 2484 ทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ทรงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์จากพระราชาคณะสามัญ จนถึง พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
บทพระนิพนธ์ทางพระพุทธศาสนาของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทุกเรื่อง ล้วนทรงคุณค่าในเชิงวิชาการ เพราะ ทรงวิเคราะห์คำว่า สัจจะ ธรรม ศาสนา ปัญญา ทั้งในเชิงพยัญชนะและในเชิงความ หมาย ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ละเอียดและกว้างขวาง เป็นต้นว่า เรื่องลักษณะพระพุทธศาสนา, สัมมาทิฏฐิ, โสฬสปัญหา, ทศบารมี ทศพิธราชธรรม, 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์เหล่านี้ล้วน แสดงคำสอนชั้นสูงของ พระพุทธศาสนา ซึ่งเจ้าพระคุณ สอนทีละชั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง จนสามารถ สร้างความเข้าใจ
ในธรรมนั้น ๆ ได้ด้วยปัญญาของตนเอง ผลงานอันดับแรกของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เช่นเรื่อง หลักพระพุทธศาสนา เป็นการอธิบายพระพุทธศาสนา ประยุกต์กับชีวิตประจำวัน ประยุกต์กับเหตุการณ์และความรู้สมัยใหม่ ซึ่งง่ายต่อการทำ ความเข้าใจและนำไปปฏิบัติในชีวิตจริง พระนิพนธ์ที่อธิบายพระพุทธศาสนาในระดับปานกลาง เหมาะแก่ผู้ใฝ่ศึกษาหรือประสงค์แสวงหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องพระพุทธศาสนาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็เช่นเรื่อง 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า เรื่องลักษณะพระพุทธศาสนา เป็นต้น พระนิพนธ์ที่อธิบายพระพุทธศาสนาในระดับสูง เหมาะแก่ผู้ต้องการศึกษาคำสอนขั้นสูง ต้องการความรู้ความเข้าใจในคำสอนของ พระพุทธศาสนาอย่างละเอียด ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น ก็เช่นเรื่อง สัมมาทิฏฐิโสฬสปัญหา เป็นต้น นอกจากนี้ พระนิพนธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติ หรือว่าเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ได้แก่เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน เป็นการอธิบายธรรมภาคปฏิบัติหรือการอธิบายเรื่องของการปฏิบัติธรรม ประสบการณ์ในธรรมมาด้วยตนเอง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นทั้งนักปริยัติ และทรงเป็นทั้งนักปฏิบัติ จึงทรงสามารถอธิบายธรรมภาคปฏิบัติได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ผลงานด้านพระนิพนธ์และการสั่งสอนของเจ้าพระคุณ ให้หลัก หรือแนวทาง ในการศึกษาพระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติ ที่นิยมเรียกกันว่า “การปฏิบัติสมาธิ กรรมฐาน” “หลักการทำสมาธิเบื้องต้น” เป็นการแสดง ให้เห็นว่า เรื่องการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่มุ่งผลเฉพาะการบรรลุธรรมขั้นสูง หรือบรรลุนิพพานเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สำคัญและมีประโยชน์แม้ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถฝึก และควร ฝึกตั้งแต่วัยเด็ก เพราะจิตทุกระดับควรได้รับการฝึกหัด ยิ่งฝึกหัดได้มากเท่าไร ผลดีก็เกิดขึ้น แก่ผู้ฝึกหัดมากเท่านั้น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นแบบอย่างในการสร้างความดีให้แก่ตนเองและสังคม ด้วยเมตตา กรุณา อย่างน้อย 2 ประการคือ ชีวิตแบบอย่าง ได้แก่ อดทน ใฝ่รู้ กตัญญู ถ่อนตน คารวธรรม และปฏิทาแบบอย่าง อันได้แก่ ความเป็นผู้ทรงปริยัติและไม่ทิ้งปฏิบัติ ความเป็นผู้สำรวมระวังในพระวินัย และ ความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ทรงได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศํกดิ์ หลากหลายสาขาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหิดล มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ นเรศวร ศรีนครินทรวิโรฒ ขอนแก่น ธรรมศาสตร์ มหาสารคาม สำหรับพระศาสนกิจ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ทุกตำแหน่ง เช่น เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ร่างระเบียบมหาเถรสมาคม เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาเรื่องการศึกษา โครงการจัดตั้งโรงเรียนพระสังฆาธิการส่วนกลาง เป็นประธานอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นกรรมการตรวจชำระพระคัมภีร์ฎีกา ร่วมในคณะพระเถระแห่งคณะสงฆ์ไทย ไปร่วมประชุมแห่งฉัฏฐสังคายนาพระไตรปิฎก ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า และหน้าที่พิเศษอื่นๆ อีกมาก
ตำแหน่งสูงสุด ได้รับจาก ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา (Supreme Holiness of World Buddhism) อันเป็นตำแหน่งที่ได้รับการทูลถวายจากผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศเข้าร่วมประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกชนแห่งโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2555
สิ้นพระชนม์
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 19.30 นาฬิกา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250