ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระเรวตะ มาเกิดในตระกูลที่มีสมบัติมาก ในกรุงสาวัตถี ชื่อว่า เรวตะ
วันหนึ่ง ช่วงหลังจากรับประทานอาหารแล้ว ประชาชนชวนกันไปสู่วัดพระเชตวัน เพื่อจะฟังพระธรรมเทศนา เรวตะนั้น ก็ได้ไปกับประชาชนเหล่านั้นด้วย ครั้นถึงแล้ว ได้นั่งอยู่ท้ายสุดของพุทธบริษัท ฟังอนุบุพพีกถา เกิดศรัทธาและขอบวช
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุบุพพีกถา พรรณนาถึง 1.ทานกถา กล่าวถึงการให้ 2. สีลกถา กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม 3. สัคคกถา กล่าวถึงสวรรค์ 4. กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม 5. เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์ของความออกจากกาม เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า และขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุดังความประสงค์แล้ว ท่านอุตส่าห์เรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระศาสดา ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียร ในกรรมฐานได้สำเร็จโลกิยฌาน กระทำฌานที่ตนได้แล้วนั้น ให้เป็นพื้นฐาน เจริญวิปัสสนากรรมฐานสืบไปจนได้สำเร็จพระอรหัตผล
ท่านพระเรวตะนั้น มักบังเกิดความสงสัยในกัปปิยวัตถุ คือ สิ่งของที่ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ ว่าเป็นของควรแก่บรรพชิต พึงบริโภคใช้สอยหรือไม่ เมื่อท่านได้กัปปิยวัตถุอันใดมาแล้ว ก็ให้คิดสงสัยอยู่ตลอดเวลา ต่อเมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นกัปปิยวัตถุโดยถ่องแท้แล้ว จึงบริโภคใช้สอยกัปปิยวัตถุนั้น ด้วยเหตุนี้คำว่า “กังขา” จึงได้นำหน้าชื่อของท่านเป็น “กังขาเรวตะ”
พระกังขาเรวตะนี้ เป็นผู้ชำนาญในฌานสมาบัติอันเป็นโลกิยะและโลกุตตระ เข้าสู่ฌานสมาบัติอันเป็นพุทธวิสัยได้เกือบทั้งหมด ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ด้วยเหตุนี้พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ได้ฌาน (ฌายีนํ)
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250