ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระเรวัตตเถระ ท่านมาบังเกิดเป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อว่านาลันทะเป็นบุตรสุดท้องและเป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตรเดิมชื่อว่า เรวตมาณพ เมื่อบวชเข้ามาในพระธรรมวินัยแล้ว ท่านได้พำนักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้นามของป่านั้นนำหน้าชื่อว่า “ขทิรวนิยเรวัตตะ”
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อเรวตมาณพเจริญวัยมีอายุประมาณ 8 ปี มารดาบิดาจึงปรึกษากันว่า บุตรของเราบวชหมดแล้ว ยังเหลืออยู่แต่เรวตะคนเดียว ถ้าบวชเสีย ก็จะไม่มีใครสืบวงศ์ตระกูล เราควรจะผูกพันเจ้าเรวตะบุตรของเราไว้ ด้วยอันให้มีเหย้าเรือนเสียแต่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่อย่าให้พระสมณศากยบุตรพาไปบวชเสียอีกเลย ครั้นปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงพาไปขอหมั้นนางกุมาริกาผู้มีชาติตระกูลเสมอกันและได้กำหนดวันอาวาหมงคล(ฝ่ายหญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชาย)ด้วย ครั้นถึงวันกำหนด จึงประดับตกแต่งเรวตมาณพ พาไปสู่เรือนของนางกุมาริกาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ในขณะเมื่อทำการมงคล เรวตมาณพ ได้ยินญาติทั้งของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว อวยพรในเวลารดน้ำว่า ขอให้มีอายุยืนเหมือนยายเถิด จึงเกิดความสงสัยขอดูตัวยาย ก็พบว่ายายเป็นคนชรา มีอายุ 120 ชราภาพมาก เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ที่จะอยู่ครองเรือน เพราะมองเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร เมื่อเสร็จจากการมงคลแล้ว ขณะพากันจัดแจงกลับบ้าน เรวตมาณพกับนางกุมาริกา นั่งมาในรถคันเดียวกัน เมื่อมาในระหว่างทาง เรวตมาณพ หาอุบายหลีกเลี่ยงหนีไปเสีย เข้ามาหาภิกษุผู้อยู่ในป่า ประมาณ 19 รูป ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น แล้วขอบรรพชา ภิกษุเหล่านั้นทราบว่า เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ก็ให้บรรพชา โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากมารดา เพราะท่านพระสารีบุตร ได้สั่งภิกษุทั้งหลายไว้ว่า ถ้าเรวตะน้องชายของผม เข้ามาขอบวชในสำนักของพวกท่าน ท่านทั้งหลายจงบวชให้เธอด้วยไม่ต้องขอรับอนุญาตจากมารดาบิดาเพราะมารดาบิดาของผมเป็นมิจฉาทิฐิ ครั้นพวกภิกษุเหล่านั้น ให้เรวตะบวชเป็นสามเณรแล้ว ส่งข่าวไปให้พระสารีบุตรทราบ ท่านมีความประสงค์จะมาเยี่ยม จึงได้ทูลลาพระบรมศาสดาถึงสองครั้งพระองค์ตรัสห้ามเสียทั้งสองครั้งจึงได้รีรออยู่ พระเรวตะนั้น เมื่อบวชแล้วคิดว่า ถ้าเราจักอยู่ที่นี่ พวกญาติจักติดตามมาพบเรา จึงเรียนเอากรรมฐานในสำนักของภิกษุเหล่านั้น แล้วถือเอาบาตรและจีวร เที่ยวจาริกไปถึงป่าไม้ตะเคียน ระยะไกลประมาณ 30 โยชน์ ได้พำนักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น อุตส่าห์เจริญสมณธรรม บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นาน ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลในภายในพรรษานั้น ท่านพระเรวัตตะ ชอบพำนักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน ที่ขรุขระด้วยก้อนกวดและก้อนหิน บนที่ดอนนั้น เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่ในป่า(อารญฺญกานํ)
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250