ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระนันทเถระ มาบังเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้ครองกบิลพัสดุ์นคร บรรดาประยูรญาติถวายพระนามว่า “นันทกุมาร” เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระราชบิดา และพระนางมหาปชาบดีโคตมีพระน้านาง ประกาศธรรมให้ได้ความเชื่อ ความเลื่อมใส นันทกุมารแม้ไม่สมัครใจจะบวช แต่ไม่อาจขัด เพราะมีความเคารพในพระบรมศาสดามาก จึงทูลยอมรับ ด้วยความฝืนใจว่าจะบวช ครั้นบวชแล้ว ก็หวนระลึกถึงแต่คำที่นางชนบทกัลยาณี ที่ร้องสั่งไว้อยู่เสมอ มีความกระสันกระวนกระวาย ในอันที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป คิดจะสึกออกมา พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่อง จึงพาเที่ยวจาริกไปในสู่เทวโลก ให้ได้เห็นนางเทพธิดาที่มีรูปสวยงามกว่านางชนบทกัลยาณีนั้น ให้พระนันทะ ละความรักรูปนางชนบทกัลยาณีเสีย มุ่งหมายอยากจะได้รูปหญิงที่สวย ๆ งาม ๆ ยิ่งกว่านั้นต่อไป ความจริงก็เป็นไปเช่นนั้น จนผลที่สุด พระบรมศาสดาต้องเป็นผู้รับประกันว่า ถ้าพระนันทะ ตั้งใจจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว พระองค์ทรงรับรองที่จะหาหญิงที่สวย ๆ งาม ๆ ให้ ต่อแต่นั้น พระนันทะ ก็ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออยากได้หญิงที่รูปสวยๆงามๆจนข้อความนั้นแผ่กระจายไปทั่ว หมู่ภิกษุพากันล้อท่าน ท่านพระนันทะเกิดความละอาย คิดว่า “ ภิกษุพวกนี้ ไม่พูดถึงผู้อื่น พูดปรารภถึงเรา การกระทำของเราไม่ถูกต้องแน่แล้ว” หลีกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนาก็ได้บรรลุพระอรหัตต์ เมื่อท่านพระนันทะได้บรรลุพระอรหัตต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้สำรวมระวังอินทรีย์ ด้วยเหตุนี้ ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงสถาปนาพระเถระไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดกว่าเหล่าภิกษุสาวก ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย (อินฺทริเยสุ คุตฺตทฺวารานํ)
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250