ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล ภารทวาชโคตร ในกรุงราชคฤห์ มีชื่อตามสกุลว่า ภารทวาชมาณพ เป็นคณาจารย์บอกศิลปวิทยา เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนจบไตรเพท ตามลัทธิของพราหมณ์ มีความชำนิชำนาญได้เป็นคณาจารย์บอกศิลปวิทยาแก่มาณพประมาณ500คน ภารทวาชมาณพนั้น มีความโลภในอาหาร เที่ยวไปแสวงหาอาหารกับพวกมาณพผู้เป็นศิษย์ในที่ต่าง ๆ คือ ในที่ตนควรได้บ้างไม่ควรได้บ้างเหตุ ดังนั้น จึงมีนามปรากฏว่า “ปิณโฑลภารทวาชมาณพ ” ครั้นเมื่อพระบรมศาสดา ประกาศพระศาสนามาโดยลำดับ จนบรรลุถึงพระนครราชคฤห์ ปิณโฑลภารทวาชมาณพ ได้ทราบข่าว จึงเข้าไปเฝ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ครั้นพระปิณโฑลภารทวาชะ ได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตสาหะเจริญสมณธรรมในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นาน ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วย อินทรีย์ 3 ประการคือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ในวันที่ท่านได้บรรลุอรหัตผลนั้น ท่านถือเอาอาสนะเครื่องลาด ไปสู่บริเวณวิหาร ปูลาดแล้ว เที่ยวบันลือออกซึ่งสีหนาท ด้วยวาจาอันองอาจว่า ผู้ใดมีความสงสัยมรรคหรือผล ผู้นั้นจงถามเราเถิด ไม่ว่าจะไปในที่ไหน แม้ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดา ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจที่ควรกระทำในพระศาสนานี้ถึงที่สุดแล้ว อาศัยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บันลือสีหนาท (สีหนาทิกานํ)
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250