ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระพากุลเถระ เป็นบุตรมหาเศรษฐี ในพระนครโกสัมพี ท่านมีนามว่า “พากุละ” ด้วยเหตุที่ท่าน ได้รับการเลี้ยงดูอยู่ในตระกูลเศรษฐีทั้งสองหรืออีกนัยหนึ่งว่าเป็นผู้อันตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งสองชุบเลี้ยง ในตำนานกล่าวว่า เมื่อท่านเกิดได้ 5 วัน มารดาบิดา พร้อมด้วยประยูรญาติ จัดแจงทำการมงคล โกนผมไฟ และขนานนามท่าน พี่เลี้ยงนางนม ได้พาท่านไปอาบน้ำชำระเกล้าที่แม่น้ำคงคา ในขณะนั้นมีปลาใหญ่ตัวหนึ่ง แหวกว่ายมาตามกระแสน้ำ มาเห็นทารกนั้นเข้า สำคัญว่าเป็นอาหารจึงได้ฮุบทารกนั้นกลืนเข้าไปในท้อง แต่ทารกนั้น เป็นผู้มีบุญญาธิการมาก เมื่ออยู่ในท้องปลา ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ แม้ความลำบากเพียงเล็กน้อย ก็ไม่มี นอนสบาย เหมือนคนนอนบนที่นอนตามธรรมดา เพราะบุญญาธิการของทารก บันดาลให้ปลานั้น บังเกิดความเร่าร้อน กระวนกระวาย เที่ยวกระเสือกกระสน แหวกว่ายไปตามกระแสน้ำ เผอิญไปติดข่ายของชาวประมงชาวพระนครพาราณสี เมื่อชาวประมงนั้นปลดปลาออกจากข่าย ปลานั้นก็ถึงแก่ความตาย เขาจึงเอาปลานั้นไปเที่ยวเร่ขายตีราคาถึงพันกหาปณะ ในพระนครนั้น มีเศรษฐีคนหนึ่งมีทรัพย์มาก แต่เป็นคนไร้บุตรและธิดา พร้อมด้วยภรรยา ได้ซื้อปลานั้นราคาพันกหาปณะ และได้แล่ปลานั้นออก จึงได้เห็นทารก นอนอยู่ในท้องปลา ครั้นได้แลเห็นทารกนั้นแล้ว ก็เกิดความรักใคร่ราวกะบุตรได้เปล่งอุทานวาจาขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า“เราได้ลูกในท้องปลา” เศรษฐีและภรรยา ได้เลี้ยงดูทารกนั้นไว้เป็นอย่างดี มิได้มีความรังเกียจเลย ครั้นกาลต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดา ทราบเรื่องราวนั้นเข้า จึงได้ไปสู่สำนักของพาราณสีเศรษฐี พอแลเห็นทารกนั้น จำได้ว่าเป็นบุตรของตน จึงขอทารกนั้นคืน แสดงเหตุผลและหลักฐาน ให้พาราณสีเศรษฐีนั้นทราบ
พาราณสีเศรษฐีไม่ยอม เศรษฐีผู้เป็นบิดา เมื่อเห็นว่าจะไม่เป็นการตกลงกัน จึงได้ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัยชี้ขาดพระองค์ได้ทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองช่วยกันอภิบาลรักษาชุบเลี้ยงทารกนั้น เศรษฐีทั้งสองนั้น ได้ผลัดเปลี่ยนกัน รับทารกไปบำรุงเลี้ยงดู ในตระกูลของตน ๆ มีกำหนดเวลาคนละ 4 เดือน อาศัยเหตุตามเรื่องราว ที่กล่าวมานี้ ทารกนั้นจึงมีนามปรากฏว่า“พากุละ” จำเดิมแต่กาลนั้นมา พากุลกุมาร ได้รับการอภิบาลเลี้ยงดู จากกระกูลเศรษฐีทั้งสองเป็นอย่างดีจนเจริญวัยขึ้นท่านครองฆราวาสอยู่80ปีเต็ม ครั้นเมื่อพระศาสดา เสด็จเที่ยวไปประกาศพระศาสนา ในพระนครพาราณสี พากุลกุมาร พร้อมด้วยบริวารพากันเข้าไปเฝ้า เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยจึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้ฟังพระโอวาทที่พระองค์ทรงสั่งสอน ในทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์พยายาม ทำความเพียร เจริญสมณธรรม บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเพียง7วันก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ตั้งแต่วันนั้นมา ท่านอุตส่าห์ประกอบกิจในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่า ตั้งแต่บวชมาในพระพุทธศาสนา ประมาณได้ 60 ปี ท่านไม่เคยจำพรรษาในบ้านเลย และเป็นผู้ไม่มีโรคภัย เบียดเบียน ไม่ต้องทำการพยาบาลรักษาร่างกายด้วยเภสัชเลย โดยที่สุด ผลสมอแม้ชิ้นหนึ่ง ท่านก็ไม่เคยฉัน ตามตำนานท่านกล่าวว่า การที่ท่านเป็นผู้มีโรคาพาธน้อยนั้น เป็นผลของบุญกุศล ที่ท่านสร้างเวจกุฎี และให้ยาบำบัดโรคเป็นทาน
เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างผู้มีโรคาพาธน้อย (อปฺปาพาธานํ) พระพากุลเถระ ดำรงชนมายุสังขารอยู่ โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก่อนแต่จะนิพพาน ท่านเข้าเตโชสมาบัติ นั่งนิพพาน ณ ท่ามกลางระหว่างภิกษุสงฆ์ เมื่อท่านนิพพานแล้ว เตโชธาตุ ก็บังเกิดเป็นไฟไหม้สรีระร่างกายของท่าน ให้หมดไป ณ ที่นั้น
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250