พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ จีนเรียกว่า พระกวนอิมพู่สัก หรือ พระกวนจื่อจ๋ายพู่สัก เป็นพระโพธิสัตว์แห่งเมตตากรุณาของลัทธิมหายาน สรรพสัตว์ใดที่ตกอยู่ในห้วงแห่งทุกข์ หากได้สวดภาวนาเปล่งเสียงนมัสการว่า "นมะตัสไมอารยาวโลกิเตศวระ โพธิสัตวะ มหาสัตสวะยะ" ด้วยน้ำจิตเลื่อมใสมั่นคงไม่แปรผันแล้วพระโพธิสัตว์ก็จักทรงสำแดงอานุภาพปลดเปลื้องทุกข์ภัยให้พ้นไปได้ จักทรงอำนวยความสุขสวัสดีตามเจตจำนงค์ให้สำเร็จได้ ฉะนั้น สาธุชนพึ่งหมั่นสวดสาธยายถึงพระองค์เป็นนิตย์ อย่าได้ว่างเว้น
พระอวโลกิเตศวรทรงอวตารแบ่งภาคเพื่อโปรดสัตว์หลายปาง ปางที่ปรากฎแพร่หลายมาก อาทิเช่น ปางเป็นพระเศวตัมพรโพธิสัตว์ปางเป็นพระสหัสสหัสถ์สหัสสเนตร์โพธิสัตว์ปางเป็นพระเอกาทศมุนีโพธิสัตว์ ปางเป็นพระอโมฆปาสพโพธิสัตว์ ปางเป็นพระหั"ครีวะโพธิสัตว์ ปางเป็นพระปัทมปาณีโพธิสัตว์ ฯลฯเป็นต้น ภาคต่างๆ เหล่านี้แสดงออกในรูปบุรุษก็มี สตรีก็มี
และเป็นเทพยดาสมณะก็มี ทั้งนี้สุดแต่สัตว์ อันพระองค์จะโปรดอยู่ในสถานะใดก็ทรงสำแดงปางเหล่านั้นให้ปรากฏ ส่วนพระอริยาบถในปางต่างๆ ก็มีทั้งท่าสมาธิ ท่าประทับสิงหาสน์ ท่ายืน ฯลฯ พระกรก็ทรงเทพศัตราบ้าง ทรงเครื่องทิพยบริขารอื่นๆ เช่น พวงประคำกุณทีทิพย์บ้าง ทั้งหมดแม้จะอยู่ในรูปลักษณะแตกต่างกันมาก ปางพระกวนอิมที่อุ้มเด็กนั้นเรียกกันว่า ประทานบุตร พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ที่เปี่ยมล้นด้วยมหากรุณาธิคุณและมหาเมตตา ผู้ใดขอพรจากพระองค์ พระองค์ก็จะประทานพรนั้นให้สมดั่งปรารถนาทุกประการ หากท่านใดขอพรต้องการบุตรที่ดี พร้อมบริบูรณ์ด้วยคุณงามความดี พระองค์ก็จะประทานพรนั้นตามที่ขอจากพระองค์ อีกประการหนึ่ง อันมีความหมายถึงที่พระองค์ทรงพระเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งปวงดั่งมารดามอบความรักเอ็นดูต่อบุตร ก็เป็นทิพยประภาพ ซึ่งพระอวโลกิเตศวรเจ้าทรงสำแดงออกไป
อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นชื่อพระโพธิสัตว์องค์สำคัญมากในมหายาน เป็นที่นับถือกันอย่างทั่วถึงชื่ออวโลกิเตศวรประกอบด้วยคำสันสกฤต 2 คำ คือ อวโลกิต และ อีศวร นักปราชญ์ต่างๆ แปลชื่อนี้ต่างๆ กันหลายนัย ดังนี้ พระผู้เป็นใหญ่ที่เราเห็น เจ้าแห่งการเห็นพระเจ้าที่เราเห็น พระผู้เป็นใหญ่ที่เราเห็น ที่ปรากฎให้เห็นและที่เห็นได้ ณ ที่ทุกแห่งหน พระผู้เป็นใหญ่ที่มองเห็นจากที่สูง พระผู้เป็นใหญ่ผู้มองดูจากที่สูง (เพราะในภาพปั้นหรือแกะสลัก พระอวโลกิเตศวรมีภาพพระอมิตาภพุทธะลอยอยู่บนพระเศียร) พระผู้เป็นใหญ่ผู้ชำเลืองแลดูด้วยความกรุณา แต่คำแปลทั้งหมดนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าถูกต้องตรงกัน
ในพระสูตรมหายานรุ่นหลัง เช่น สัทธรรมปุณทริกสูตรและอมิตายุรธยานสูตร เป็นต้น ยกย่องพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์องค์อื่นๆ ทั้งหมด ในสหัสสธารณีกล่าวว่าท่านเป็นพระสัจธรรมโชติพุทธเจ้าแต่กลับมาประกอบพระจริตในทางโพธิสัตว์มรรค
มหายานถือว่า ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ประกอบด้วยมหากรุณาและมหาเมตตา ถ้าใครสวดนามท่านก็จะได้สิ่งที่ตนปรารถนาทุกประการ การบูชาพระอวโลกิเตศวรปฏิบัติกันแพร่หลายในประเทศจีน พุทธศาสนิกชนชาวจีนถือว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่สำคัญที่สุดและเป็นผู้ช่วยสรรพสัตว์จากความชั่ว ความทุกข์และวินาศภัยต่างๆ และไม่เรียกชื่อท่านในชื่อภาษาสันสกฤต แต่ชื่อในภาษาจีนเองก็สับสนอยู่ ชื่อท่านที่ใช้อยู่ในภาษาจีนมีอยู่ 2 ชื่อ ซึ่งแพร่หลายมากกว่าชื่ออื่นๆ คือชื่อ กวนซีอิมนักปราชญ์แปลชื่อนี้ไว้ต่างกันว่า "ท่านผู้สอดส่งเสียงของชาวโลก" "ท่านผู้เพ่งเห็นเสียงของโลก"
"ท่านผู้สดับเสียงสวดมนต์ของโลก" "ท่านผู้สดับเสียงคร่ำครวญของมนุษย์" เจ. เอดกิน แปลไว้ในหนังสือเรื่อง พระพุทธศาสนาแบบจีนของเขาว่า "กวน(ผู้มองดู) ชี (เขตแดนของผู้ประสบภัย) อิม (ซึ่งเรียกร้องของผู้ประสบทุกข์มีระดับลงต่ำแตกต่างกัน) ดังนั้น ความทุกข์ยากที่มีอยู่ทั้งมวลและความพ้นทุกข์ที่ร่ำร้องหากันนั้น กระทบใจของพระโพธิสัตว์ผู้ทรงพระกรุณา"
แต่นักปราชญ์หลายท่านประกาศว่า กวน-ซี-อิม (กวนอิม) เป็นคำแปลที่ผิดพลาดจากความหมายของอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤต เพราะนักปราชญ์มีความเห็นว่า ผู้แปลที่เป็นชาวจีนเข้าใจในความหมายของสวร (เสียง) กับอีศวร (ความเป็นใหญ่) ไม่ถูกต้องจึงใช้คำว่า "สวร" (เสียง) แทนคำว่า "อีศวร" ซึ่งอีกชื่อหนึ่งของท่านคือ "กวน-จือ-จ๋าย" (เพ่งเห็นโดยอิสระ)ปรากฏครั้งแรกในนิพนธ์ของท่านเฮี้ยนจัง ในพุทธศตวรรษที่ 12
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250