ลี้ทิก้วย
( 李铁拐 )
ลี้ทิก้วย (李铁拐) เซียนแห่งยาและการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ตำนานได้กล่าวไว้ว่า องค์ลี้ทิก้วย ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๐ เดือน ๗ ตามจันทรคติจีน ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ระหว่าง พ.ศ. ๓๔๑ - ๕๓๕ เป็นคนแช่ลี้ ชื่อตัวว่าหลี่เชวียน หรือแต้จิ๋วเรียกชื่อว่า ลี้ทิก้วย ลี้ทิก้วยเป็นคนหนุ่มที่มีรูปร่างคมสัน สติปัญญาเฉลียวฉลาด ชอบถือศีลกินเจและบำเพ็ญเพียรเป็นประจำ ลี้ทิก้วยรำพึงว่า "คนเราเกิดมาต้องตาย ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ความอยากคือดาบอันคมกริบที่คอยตัดรอนธรรมอันบริสุทธิ์อยู่เสมอ ลาภยศ ทรัพย์สินเงินทองเป็นยาพิษ คอยเบื่อให้จิตใจหลงเมามัวถึงแม้จะเป็นฮ่องเต้ มีอาณาจักรกว้างใหญ่ทั้งสี่ทิศ ก็เหมือนกับก้อนเมฆลอยอยู่นอกดวงจันทร์เท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง เหตุใดหนอมนุษย์จึงไม่พิจารณา กลับปล่อยให้จิตใจจมปลักอยู่กับโลกิยธรรมที่ผูกมัดอยู่เป็นปีที่ล่วงไปไม่น่าหลงอยู่กับวัฏจักรเหล่านี้เลย"
เมื่อ ลี้ทิก้วย คิดได้ดั่งนี้ เขาจึงออกธุดงค์เข้าป่าเขาไปตามถ้ำ ตลอดจนตามศาลเจ้าโรงเจ แต่ก็ยังไม่สำเร็จมรรคผลเพราะไม่มีอาจารย์ขี้แนะ ลี้ทิก้วยจึงเดินทางไปยังสำนักไท่เสียงเหล่ากุง ที่ภูเขาหัวชาน ซึ่งเป็นภูเขาสูงเทียมเมฆเต็มไปด้วยต้นสนสูงหลายคนโอบ ยามเย็นมีเมฆลอยมาสัมผัสยอดเขา
จนทำให้เกิดรังสีสายรุ้งสลับสวยงาม ลี้ทิก้วยเดิมชมป่าเขามาจนมืดค่ำ รุ่งเช้าไท่เสียงเหล่ากุงเจ้าสำนักนั่งสนทนากับอวนคูเซียนภายในถ้ำสำนัก ได้กลิ่นดอกไม้หอมโชยเข้าไปมากกว่าทุกวัน จึงตรวจดูบัญชีเซียน รู้ว่าลี้ทิก้วยอยู่ปากถ้ำซึ่งจะได้เป็นเซียนลี้ทิก้วยในไม่ช้า จึงให้ศิษย์ออกไปเชิญเข้ามาสนทนา ลี้ทิก้วยฝากตนเป็นศิษย์ศึกษาคำสอนไท่เสียงเหล่ากุงกล่าวว่า "จงพยายามสงบอารมณ์ ร่างกายจึงจะสงบ เมื่อร่างกายและอารมณ์สงบแล้ว กามราคะก็ไม่เกิด กิเลสก็จะหมดไป จิตวิญญาณก็จะผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งกว่าสำลี ทำให้ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย"
ลี้ทิก้วยจึงกลับมาปฏิบัติบำเพ็ญเพียรที่สำนักของตนตามโอวาทของไท่เสียงเหล่ากุง จนสำเร็จญาณสามารถถอดวิญญาณออกไปท่องเที่ยวได้ คนที่สนใจสมัครมาเป็นศิษย์หลายคน ข้างไท่เสียงเหล่ากุงกับอวนคูเซียนขี่นกกระเรียนมาบนยอดเขานัดกับลี้ทิก้วยจะไปท่องเที่ยวตามถ้ำเขาเทียนซานทางภาคตะวันตก ลี้ทิก้วยจึงให้เย่จื่อศิษย์เฝ้าร่างตนไว้พร้อมกับสั่งว่า หากครบเจ็ดวันแล้วตนไม่มาให้เผาร่างนี้เสีย ว่าแล้วลี้ทิก้วยก็ถอดวิญญาณออกจากร่างไปหาสองเซียนตามที่นัดกันไว้ พอถึงวันที่หกทางบ้านบอกเย่จื่อว่ามารดาเจ็บหนัก เย่จื่อคิดหนักว่าจะไปรักษาพยาบาลมารดาดีหรือเฝ้าร่างของอาจารย์ดี จึงปรึกษากับเพื่อนศิษย์ด้วยกันว่าจะทำอย่างใดดี เมื่อความคิดอาจารย์สั่งสอนศิษย์เมื่อโตใหญ่ แต่มารดาสั่งสอนตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ จะเอาบุญคุณของอาจารย์กับมารดามาเทียบกันคงไม่ได้ ถ้าทิ้งร่างอาจารย์ก็เป็นแต่ผิดสัญญา แต่ถ้าไม่ได้รักษาพยาบาลมารดาก็จะกลายเป็นคนอกตัญญูคิดได้ดังนี้จึงจัดการเผาศพของอาจารย์แล้วรีบกลับไปแต่มารดาถึงแก่กรรมเสียก่อน
ฝ่ายไท้เสียงเหล่ากุงกับอวนคูเซียนต่างนำวิญญาณลี้ทิก้วยท่องไปตามสำนักเซียนที่ภูเขาเทียนซาน ๓๖ สำนักเพื่อให้ลี้ทิก้วยได้ศึกษาปฏิบัติทางเวทมนตร์และสมาธิทุกสำนัก กล่าวกันว่า ลี้ทิก้วยได้ศึกษาเวทมนตร์กับเทพเจ้าชื่อหวังมู่ และเล่าจื้อปรมาจารย์แห่งลัทธิเต๋าด้วย เมื่อครบ ๗ วันแล้วทำให้ลี้ทิก้วยร้อนใจเรื่องร่างของตน จึงลาอาจารย์มาที่โรงเจ ไม่พบร่างกายของตน มีแต่กระดูกยังติดไฟกรุ่นอยู่จึงรู้แจ้งชัดแล้ว วิญญาณจึงล่องลอยไปยังเชิงเขาแห่งหนึ่ง เห็นศพขอทานพึ่งตาย หน้าตาน่าเกลียด ผมเผ้ารุงรังขาพิการข้างหนึ่ง มีไม้เท้าและถุงข้าวสารวางอยู่ข้างศพเขาไม่มีทางเลือกจึงตัดสินใจเข้าสิงศพขอทาน จึงกลับฟื้นขึ้น เวทมนตร์คาถาศักดิ์สิทธิ์ตื่นทันทีด้วยมีร่างกายอาศัยเขาจึงเสกไม้เท้าให้เป็นเหล็ก ถุงข้าวสารเป็นน้ำเต้าแล้วกลับไปหาเย่จื่อ เสกมารดาเย่จื่อที่ตายไปให้ฟื้นขึ้นต่างเล่าให้ฟังซึ่งกันและกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ลี้ทิก้วยให้ยาวิเศษแก่เย่จื่อหนึ่งเม็ดทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บ ไม่ป่วย ทำมาหาเลี้ยงมารดาจนสิ้นอายุขัย แล้วตนจึงไปบำเพ็ญเพียรที่สำนักเก่าของลี้ทิก้วยจนสำเร็จเป็นเซียนลี้ทิก้วยจึงกลับมานำเย่จื่อไปอยู่ในสำนักเซียนเดียวกัน
โอวาท องค์ลี้ทิก้วย : เมื่อสามีภรรยาทะเลาะกัน ลองตอบไปซิว่า... "ใช่ฉันมันคนไม่รักดี แต่ฉันรักเธอ"
ถ้าเรารู้จักคิดรู้จักใช้ปัญญาหาเหตุผลในทางที่ดี คนด่าคนว่าหรือยามทุกข์ เราก็แปรเป็นความสุขได้ เราอย่าเอาอารมณ์มาครอบงำจนมืดมิด มองไม่เห็นความดีของเขายิ่งรักมากก็ยิ่งโมโหรุนแรง ไม่รักเลยจึงไม่เคยคิดโมโห ถ้าคิดได้อย่างนี้ความสุขในโลกก็อยู่ตรงหน้า อย่ารักคนอื่นจนลืมรักตัวเอง และอย่ารักคนอื่นจนทำตัวเองทุกข์ มนุษย์เรามีโรคปรารถนาความรักแต่พอเรารักมากๆ เรากลับทุกข์ในรักเพราะเรารักไม่เป็น รักแล้วอมทุกข์
คัดย่อข้อมูลจาก : หนังสือพิธีสถาปนาครบรอบ ๖๐ ปี มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250