หลวงปู่ทองอินทร์ กตปุญโญ

zSpecial

หลวงปู่ทองอินทร์ กตปุญโญ

หลวงปู่ทองอินทร์ กตปุญโญ

ประวัติหลวงปู่ทองอินทร์ กตปุญโญ

เจ้าอาวาสวัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง) ๒๕๕๕-ปัจจุบัน

มงคลนาม ทองอินทร์ แสวงผล 

ชาติกาล วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู

สถานที่เกิด บ้านหนองแดง ตำบลขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

โยมบิดา – มารดา นายนิน – นางอ่อน แสวงผล

พี่น้อง เป็นบุตรคนแรก ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๕ คน มีผู้เสียชีวิตแล้วเป็นชาย ๑ คน หญิง ๒ คน นอกจากนี้มีผู้หญิงบวชเป็นชีตลอดชีวิตคือชีสุดใจ แสวงผล(เสียชีวิตในเพศนักบวช) ส่วนผู้ชายที่บวชเป็นพระตลอดชีวิต คือ พระอาจารย์ทองอินทร์ กตปุญโญ

ชีวิตในเพศฆราวาส

เมื่อพระอาจารย์ทองอินทร์ ท่านยังเล็กอยู่นั้นได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนจนจบชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดบ้านหนองแดง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับบ้านศรีสมเด็จ แต่เดิมบ้านศรีสมเด็จมีชื่อว่าบ้านหนอง เพราะว่ามีหนองน้ำอยู่ตรงกลางระว่างบ้านหนองแดงกับบ้านหัวหนอง ต่อมาบิดามารดาของท่านได้พาครอบครัวย้ายไปอยู่ใกล้กับป่ากุง ซึ่งต่อมาเป็นวัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง) สมัยที่ท่านยังเด็กท่านเคยนำวัวควายไปเลี้ยงที่บริเวณวัดป่ากุงเสมอๆ ป่ากุงนี้แต่เดิมรกร้างเป็นป่าเก่า มีโบสถ์เก่าแก่ร้างอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งทางร้อยเอ็ดเรียกกันว่ากู่ พอถึงวันสงกรานต์จะมีผู้คนพากันไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่ป่ากุงนั้นหรือบางทีก็ไปทำพิธีบวงสรวงสังเวยกันที่ในโบสถ์หรือในกู่ร้างนั้น

ต่อมาพระอาจารย์ศรี มหาวีโร หรือที่บรรดาสานุศิษย์ได้ยกนามว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่” หรือ “หลวงปู่ใหญ่” ได้ธุดงค์มาจากสกลนครเพื่อไปบ้านขามป้อม ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงปู่ใหญ่ จากคำเล่าลือของบรรดาญาติโยมชาวบ้านที่ได้มีโอกาสไปฟังเทศน์ฟังธรรมของหลวงปู่ใหญ่ ต่างก็พากันเอามาเล่าต่อๆ กันว่า หลวงปู่ใหญ่มีคำสอนที่ลึกซึ้งเข้าถึงความจริงของชีวิตแปลกกว่าที่เคยฟังกันมา และยังได้อบรมให้ชาวบ้านญาติโยม ให้ได้รู้จักวิธีการนั่งสมาธิภาวนา จนเกิดความร่มเย็นเป็นสุขอันมีผลอยู่ภายในใจเป็นอันมาก ดังนั้นผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านก็ได้พากันไปนมัสการและฟังธรรมของหลวงปู่ใหญ่จนได้ยินได้ฟังตามตามคำเล่าลือและเกิดความซาบซึ้งในธรรม จึงพร้อมใจกันอาราธนานิมนต์หลวงปู่ใหญ่ให้มาพำนักจำพรรษาและบูรณะวัดป่ากุงร้างนั้น เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจแก่ชาวบ้านป่ากุง ขณะนั้นหลวงปู่ใหญ่บวชได้ประมาณ ๙–๑๐ พรรษา

ชีวิตสมณะเพศอุปสมบท ครั้นเมื่ออายุ ๒๑ ปี หลังจากจับฉลากคัดเลือกไม่ติดเกณฑ์ทหารและก็ยังไม่มีครอบครัว ได้เข้ารับการอุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๒ เวลา ๑๒.๐๐ น. ณ วัดประชาบำรุง ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม โดยมีพระโพธิญาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาสวาสดิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระมหาทองใส เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สาเหตุที่บวชเนื่องด้วยโยมแม่ป่วยหนักรักษามานานแล้ว รู้ตัวเองว่าคงไม่หายแน่นอน ได้สั่งเอาไว้ว่า หากคัดเลือกทหารแล้วไม่ถูก ให้บวชให้แม่ และอีกอย่างธรรมเนียมของคนในท้องถิ่นนั้นได้ถือเป็นประเพณีมานานแล้ว หากลูกชายมีอายุครบ ๒๐ – ๒๑ ปี แล้วก่อนจะมีครอบครัว ต้องบวชเสียก่อน คิดแล้วก็คือบวชตามประเพณี เมื่อบวชแล้วจึงค่อยได้ยินจากพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่ว่า บวชมีหลายอย่างคือ “บวชเล่น บวชลองหรือคำว่าบวชทดลองดู บวชตามครองประเพณี บวชหนีสงสาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกเฮอา บวชค้าขาย บวชตายเป็นเปรต“ นำไปคิดอยู่สามพรรษาว่า เราจะเอาบวชแบบไหน เลยตัดสินใจเอาบวชหนีสงสาร นับแต่นั้นเป็นต้นมาได้ตัดสินใจมอบกายถวายชีวิตอุทิศแด่พระศาสนา ประกอบกับได้ฟังเทศน์อยู่เนืองนิจจากพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่ จึงตั้งใจประกอบความเพียร และตั้งใจท่องพระปาฏิโมกข์จบในขณะเข้าพรรษาที่ ๒ แต่ในคราวแรกที่บวชเข้ามา ๑๕ วัน พระอาจารย์สุด ธมฺมกาโม ได้ให้ขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ทั้งที่เรียนยังไม่จบ ตอนบวชพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่ออกธุดงค์ยังไม่กลับ แต่กลับมาเมื่อจวนจะเข้าพรรษา และมาคัดเลือกพระได้ ๑๐ รูป รวมทั้งพระอาจารย์ก็ได้ไปด้วย พักค้างคืนที่วัดบึงพลาญชัย ๑ คืน เพื่อรอรถโดยสาร ออกเดินทางเช้าถึงเย็นพอดี จำพรรษาแรกคือวัดป่าสามัคคีธรรม บ้านขามเฒ่า ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ปีนั้นมีพระจำพรรษา ๑๐ รูป ไม่มีสามเณร คณะญาติโยมดีใจมากๆ เพราะไม่เคยมีพระจำพรรษามากอย่างนี้เลย

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
post