อุปสมบท
เมื่อความคิดอยากจะบวชอีกครั้งยังมีอยู่ ยังไม่ลบเลือนไปจากจิตใจ สองปีต่อมาหลวงปู่จึงได้หาโอกาสที่จะปล่อยวางงานและภาระทางบ้าน เพื่อมาบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา
พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้ก้าวเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ สังกัดมหานิกาย ณ พัทธสีมาวัดธาตุหันเทาว์ ตำบลบ้านขาม บ้านเกิดของหลวงปู่นั่นเอง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2479 ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม ปีจอ โดยมีพระอาจารย์ชาลีวัดโพธิ์ชัยสะอาด บ้านจิก อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์ขาน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และได้พำนักที่วัดธาตุหันเทาว์ ในขณะนั้นมีพระอาจารย์มหาตัน สุตตาโนเป็นเจ้าอาวาส
เมื่อหลวงปู่บวชได้แล้วประมาณ 3 เดือน พอขึ้นเดือนมิถุนายน หลวงปู่ก็ได้มีโอกาสพบกับพระอาจารย์มณฑา ซึ่งท่านเดินทางมาจากวัดบ้านโกทา จังหวัดขอนแก่น และก็ได้ปรึกษากันว่าจะพากันไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ในตัวจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีพระเดชพระคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลอยู่ นับว่าเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงที่สุดในภาคอีสานในขณะนั้นก็ว่าได้
พรรษาที่ 1-3 (พ.ศ.2479-2482) หลวงปู่ได้เดินทางมาถึงวัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี ในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2479 เมื่อหลวงปู่ได้พำนักอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านจึงได้สมัครเรียนนักธรรม และพระบาลีตามประกาศของสำนักเรียนในวัดโพธิ์ฯ เมื่อเปิดเรียนไม่นาน หลวงปู่ก็ลาออกจากการเรียนพระบาลี เหลือแต่นักธรรมอย่างเดียว
แปรญัตติเป็นธรรมยุติ
เนื่องจากการที่ท่านเป็นพระมหานิกาย จึงทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อการทำสังฆกรรม เช่นการลงประชุมฟังพระปาติโมกข์ หลวงปู่ก็มิได้ลงร่วมฟังสังฆกรรมดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนั้น หลวงปู่ท่านรู้สึกไม่ค่อยสะดวกและสบายใจเท่าไรนัก จึงได้ตัดสินใจที่จะขอแปรญัตติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2479 โดยมีท่านเจ้าคุณพระเทพกวี (จูม พนฺธโล) ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ที่พระธรรมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูศาสนูปกรณ์ วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านพระครูประสาทคณานุกิจ วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปโมทิโต” หมายถึง ผู้มีความบันเทิง ผู้ปลื้มใจ ผู้มีใจอันเบิกบาน ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่มีอายุ 21 ปี
การอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ในยุคโน้น นับว่าเป็นโชคดีแก่ชีวิตหลายอย่าง เพราะนอกจากจะเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังมีพระเถระผู้ใหญ่ ผู้มีบทบาท และมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการปกครอง ด้านการเผยแผ่ ตลอดทั้งด้านสมถะและวิปัสสนามาพำนักอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์อยู่เรื่อยมา จึงทำให้หลวงปู่ได้มีโอกาสได้พบเห็นและฟังการอบรมจากพระเถระเหล่านั้นมากท่านและหลายครั้ง และมีหลักในการปฏิบัติกับตนได้เป็นอย่างดี
หลวงปู่ได้อยู่วัดโพธิสมภรณ์ไปถึงเดือนมิถุนายน 2481 หลวงปู่ได้เดินทางกลับไปวัดธาตุหันเทาว์ และก็ได้ถูกมอบหมายหน้าที่ให้เป็นครูสอนนักธรรมตรี ซึ่งขณะนั้นกำลังขาดแคลนครูสอน ท่านเจ้าคุณพิศาลเถระ เจ้าคณะหนองบัวลำภู จึงได้ขอร้องให้หลวงปู่อยู่จำพรรษาที่วัดธาตุหันเทาว์ เพื่อเป็นครูสอนนักธรรม หลวงปู่ท่านเลยรับคำอยู่ช่วยสอนนักธรรมตรีจนออกพรรษาและสอบธรรมสนามหลวงประจำปี 2481 แล้วเสร็จ ท่านจึงได้เดินทางกลับมาที่วัดโพธิสมภรณ์เหมือนเดิม เพื่อมาศึกษานักธรรมโทต่อที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี และสอบได้ในปีนั้นเอง จากนั้นก็สมัครสอบนักธรรมเอกในปีต่อมา
พรรษาที่ 4 (พ.ศ.2483) ในพรรษาที่ 3 ปี พ.ศ. 2482 หลังจากออกพรรษาและสอบนักธรรมเสร็จ หลวงปู่ท่านได้มีโอกาสพบกับเพื่อภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อพระอาจารย์วิฤทธิ์ ปุญฺญมาโน ซึ่งท่านเคยอยู่วัดโพธิสมภรณ์มาก่อน และ
ก็ได้ชวนหลวงปู่ให้ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมด้วยกัน ก็เป็นอันตกลง และในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2482 จึงได้พากันออกเดินธุดงค์โดยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ตั้งจุดหมายปลายทางคือ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งต้องผ่านไปทางบ้านปากดง บ้านหนองขุ่ม บ้านนาแอ่ง การเดินธุดงค์ครั้งนี้ หลวงปู่มีความประทับใจไม่รู้ลืม ที่ได้สัมผัสกับธรรมชาติ เสียงของสัตว์นานาชนิด ป่าดงพงไพรยังอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำที่ใสและเย็นสดชื่นให้ได้เห็นมากแห่ง เป็นสิ่งที่หายากยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากการทำลายป่าและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ การเดินธุดงค์ในครั้งนี้เป็นการเดินธุดงค์หาวิเวกเพื่อปฏิบัติธรรมจริง ๆ หากพบสถานที่ใดที่มีความสงบวิเวก เหมาะแก่การปฏิบัติบำเพ็ญเพียรแล้ว ก็จะพักปฏิบัติธรรมอยู่ระยะหนึ่ง จึงค่อยย้ายจากไปหาที่ใหม่ เพื่อจะได้ไม่ติดในสถานที่ และจิตใจจะได้มีการตื่นตัว แปลกที่อยู่เสมอ ทำให้การทำความเพียรได้ผลดีมาก
ท่านเดินทางธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ และหยุดพักปฏิบัติธรรมในที่เห็นว่าสมควร และในที่สุดก็ได้มาพักอยู่ที่วัดสามัคคีพัฒนา อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งอาจารย์โชติ กาญจโน เป็นเจ้าอาวาส เป็นอันว่าในพรรษาของปี พ.ศ. 2483 พรรษาที่ 4 ของหลวงปู่ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ และในพรรษานี้เอง หลวงปู่ได้ตั้งสัจจะปวารณาถือเนสัชชิก (อาการสาม ยืน เดิน นั่ง) โดยเอาแบบอย่างการปฏิบัติของหลวงปู่ซามา โดยจะไม่ยอมให้หลังแตะพื้น จะเป็นอย่างไรจะไม่ยอมให้หลังนี้สัมผัสพื้นเลย หลวงปู่ท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้ตลอดพรรษามิได้ขาด และการปฏิบัติของท่านก้าวหน้าไปด้วยดี
พรรษาที่ 5-7 (พ.ศ.2484-2486) พอออกพรรษา หลวงปู่ก็ออกธุดงค์หาวิเวกไปในถิ่นต่าง ๆ ภายในเขตอำเภอหล่มสัก ต่อมาเมื่อใกล้จะเข้าพรรษาในปี พ.ศ.2484 หลวงปู่ตั้งใจว่าจะกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสามัคคีพัฒนาเหมือนเดิม แต่เนื่องจากทางวัดเกาะแก้ว ตำบลน้ำเฮี้ย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพระที่จำพรรษาไม่ครบ 5 รูป ทางพระอาจารย์สิงห์ทอง สุวณฺณธมฺโม เจ้าอาวาสในขณะนั้น จึงได้มากราบเรียนขอความอนุเคราะห์ และได้หลวงปู่ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดในพรรษานี้เอง หลวงปู่ท่านตั้งใจจะเพียรพยายามท่องปาติโมกข์ให้ได้ เนื่องจากท่านตั้งใจจะเป็นผู้สวดปาติโมกข์ในวันออกพรรษาเอง และท่านก็ทำได้สำเร็จสามารถท่องพระปาติโมกข์ได้จบ
ก่อนจะถึงวันออกพรรษา หลังจากออกพรรษามาไม่นาน หลวงปู่ก็กลับมาพักอยู่ที่วัดสามัคคีพัฒนา ในขณะที่ท่านกลับมาพักที่นี่ ก็มีคณะญาติโยมจากบ้านหนองไขว่ บ้านน้ำกร้อ บ้านน้ำชุน บ้านโนนทอง บ้านปากดุก บ้านดงเมือง มานิมนต์หลวงปู่ไปช่วยเทศน์อบรมชาวบ้านในหมู่บ้านของตน ซึ่งหลวงปู่ก็รับนิมนต์แล้วก็ย้ายไปเรื่อย ๆ ตามแนวริมผั่งแม่น้ำป่าสัก ตลอดระยะเวลา 4 เดือนในหน้าแล้ง พอถึงหน้าฝน หลวงปู่ก็ย้อนกลับมาวัดสามัคคีพัฒนาอีก รวมแล้วหลวงปู่ได้อยู่จำพรรษาและได้เที่ยวตระเวนธุดงค์ไปเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นระยะเวลา 3 ปีเต็มๆ หลังจากนั้นในพรรษาที่ 6 หลวงปู่ก็ได้เดินทางออกจากจังหวัดเพชรบูรณ์มาจำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีหลวงปู่ภูมี ฐิตธมฺโม เป็นเจ้าอาวาส จนกระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ. 2486 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและสะดวกแก่การออกธุดงค์
และในระหว่างที่กำลังธุดงค์อยู่ในเขตจังหวัดอุดรธานีนั้น นับเป็นความโชคดีของหลวงปู่ที่ได้พบครูบาอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ทางพระกรรมฐานมากอีกองค์หนึ่ง คือพระอาจารย์อ่อนศรี สีลขนฺโธ ซึ่งท่านเคยปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่นที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลาหลายปี ท่านจึงได้ชวนกันไปเดินธุดงค์
มุ่งหน้าไปทางอำเภอบ้านผือ และก็ได้ธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ และก็ได้กลับไปพักที่วัดโนนนิเวศน์ และก็ได้พบกับพระอาจารย์คำภา จุนโท จึงได้ชวนกันออกวิเวกไปแถบตำบลหนองหาร ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของท่าน และก็เดินทางผ่านไปจนถึงบ้านเชียง เห็นว่าจวนเข้าพรรษาแล้ว จึงตกลงกันอยู่จำพรรษาที่ป่าช้าบ้านเชียง (พรรษาที่ 7) และที่นี่เองท่านได้ผจญกับมารทางจิตแทบเอาตัวไม่รอดในเรื่องของสตรีเพศ ในที่สุดท่านก็ใช้หลักมหาสติปัฏฐานมาแก้ปัญหาดังกล่าว และก็สามารถชนะอารมณ์กามคุณดังกล่าวได้สำเร็จ
พรรษาที่ 8 (พ.ศ.2487) ได้พบพระผู้เป็นบิดาแห่งกองทัพธรรม (พระบูรพาจารย์) เมื่อออกพรรษาแล้วคณะธุดงค์ของหลวงปู่และพระอาจารย์คำภาก็ยังคงปักหลักอยู่ที่ป่าช้าบ้านเชียงนั้นต่อไปอีก ประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นเพื่อสหธรรมมิกผู้ร่วมธุดงค์ จึงได้มาชวนหลวงปู่ไปกราบนมัสการ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าบ้านโคก (ปัจจุบันคือ วัดป่าวิสุทธิธรรม อำเภอโคกสีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร) จึงออกเดินทางจากอุดร ราววันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2487 ในระหว่างที่อยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนธรรมกับพระอาจารย์ต่าง ๆ ที่ร่วมอยู่ในระหว่างนั้น ซึ่งพระอาจารย์เหล่านั้นก็มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบัน เช่น อาจารย์สุวัจน์ สุวจฺโจ หลวงตามหาบัว เป็นต้น จึงถือว่าพรรษานี้หลวงปู่ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล ที่ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่น ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งกองทัพธรรม หลังจากนั้นมาระยะหนึ่ง หลวงปู่และพระอาจารย์บัวพา ปญฺญาพาโส ก็ตกลงกันว่าจะออกวิเวกร่วมกัน จึงได้เข้าไปกราบขออนุญาตลาหลวงปู่มั่นเพื่อออกธุดงค์หาประสบการณ์ ซึ่งหลวงปู่มั่นก็ได้อนุญาตการธุดงค์
ครั้งนั้นหลวงปู่ได้มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ล่องลงมาตามเขาภูพานในเขตจังหวัดสกลนคร เข้าสู่อำเภอเมือง และก็ได้ดั้นด้นลงถึงเชิงเขาภูพานที่บ้านกวนบุ่น และไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านนี้นัก มีถ้ำพอพักอาศัยปฏิบัติได้ ท่านจึงได้พักอาศัยปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำนี้ และก็ได้สอนให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้เลิกนับถือผี และหันมาสนใจพระพุทธศาสนากันมากขึ้น หลวงปู่กับหลวงปู่บัวพาอยู่บำเพ็ญสมณธรรมที่บ้านกวนบุ่นเป็นระยะเวลาสองเดือนเศษ เมื่อย่างเข้าเดือนเมษายน หลวงปู่เกิดอาการอาพาธด้วยโรคไข้ป่า อาการหนักมาก เมื่ออาการยังไม่ดีขึ้น จึงได้ตกลงกับอาจารย์บัวพาว่าจะกับไปที่บ้านโคก เพื่อกราบพึงบารมีหลวงปู่มั่น ซึ่งหลวงปู่มั่นท่านไม่ให้ฉันยา ท่านให้ภาวนารักษาตัว อย่าไปยึดติด ที่สุดหลวงปู่ก็หายได้ด้วยกำลังของภาวนา
การได้พบกับหลวงปู่มั่นนั้นทำให้หลวงปู่ได้รับอุบายธรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ทำให้สติปัญญาสว่างไสวมากขึ้น เป็นอันว่าพรรษานี้ (พรรษาที่ 8 ปี พ.ศ.2487) หลวงปู่ก็ได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น และได้รับธรรมคำสั่งสอนของหลวงปู่มั่น ชนิดที่เรียกว่าเป็นธรรมอันล้ำค่าทีเดียว
พรรษาที่ 9-10 (พ.ศ.2488 – 2489) เมื่อพ้นจากฤดูกาลเข้าพรรษาในปี พ.ศ. 2487 แล้ว หลวงปู่ก็ได้ชักชวนเพื่อนพรหมจรรย์ด้วยกันออกธุดงค์อีก ครั้งนั้นได้พากันธุดงค์มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เดินทางไปพักอยู่ที่ถ้ำขาม ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้รับการปรับปรุง ไม่มีพระเณรอยู่ประจำ ต่อมาพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ก็ได้พาคณะพระเณรมาปรับปรุงถ้ำขามจึงน่าอยู่มาก และมีพระเณรอยู่รักษาเป็นประจำจนกระทั่งทุกวันนี้ ถ้ำแห่งนี้เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก ถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่พำนักพักพิงของครูบาอาจารย์มาแล้วหลายรูป เช่น พระอาจารย์ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี และพระอาจารย์เทสก์ เทสฺรํสี ในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน ท่านก็ได้มาพำนัก ณ ที่ถ้ำขามแห่งนี้จนกระทั่งมรณภาพ
หลวงปู่ท่านพักอยู่เพียงคืนเดียว รุ่งขึ้นท่านก็รีบเดินทางต่อ มุ่งไปทางอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ขณะนั้นอาการอาพาธจากไข้ป่าของหลวงปู่ก็ได้กำเริบขึ้นอีก หลวงปู่ก็พยายามอดทน และได้เดินทางออกวิเวกไปยังอำเภอหนองบัวลำภู ถิ่นกำเนิด ไปถึงป่าช้าบ้านขาม (วัดป่าศรีสว่างในปัจจุบัน) หลวงปู่ได้พักรักษาตัวอยู่ที่ป่าช้าบ้านขาม (วัดป่าศรีสว่าง) ประมาณหนึ่งเดือนอาการป่วยจึงหายเป็นปกติ ก็ออกตามหาพระอาจารย์คำภา เพื่อนธุดงค์คู่ทุกข์คู่ยาก จนในที่สุดก็ได้พบกันที่วัดป่าบ้านบก ก็ได้พากันออกวิเวกไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติธรรมและอบรมประชาชน โดยแวะพักหมู่บ้านละคืนสองคืนเรื่อยไป และมุ่งหน้าไปทางจังหวัดเลยและเพชรบูรณ์ ซึ่งมากายไปด้วยภูเขา ถ้ำและเหว อันเหมาะแก่การปฏิบัติบำเพ็ญเพียร พอใกล้เข้าพรรษา (พรรษาที่ 9) หลวงปู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองบัว พอออกพรรษา หลวงปู่ก็ได้ออกวิเวกไปหาพระอาจารย์คำภา ซึ่งจำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์บ้านปากเหมือนใหม่ ต.ลานป่า อ.หล่มสัก ต่อมาหลวงปู่และคณะก็ตระเวนวิเวกและอบรมประชาชนไปตามที่ต่าง ๆ และประมาณเกือบ 15 วัน จะเข้าพรรษา ชาวบ้านน้ำเล็นมากราบขอพระไปอยู่จำพรรษาที่บ้านน้ำเล็น พระอาจารย์คำภาจึงตกลงในหลวงปู่ไปจำพรรษาอยู่ที่นั้น
เป็นอันว่า ปี 2489 (พรรษาที่ 10) หลวงปู่จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านน้ำเล็น รวมแล้วหลวงปู่ท่านได้พำนักจำพรรษาอยู่ในเขตอำเภอหล่มสักติดต่อกันสองพรรษา
พรรษาที่ 11-13 (พ.ศ. 2490-2492) ครั้นพอได้เวลาออกพรรษา หลวงปู่ก็ออกจาริกธุดงค์ต่อ ได้ตั้งใจบำเพ็ญภาวนาและอบรมศีลธรรมแก่ญาติโยมตามเส้นทางที่ผ่านไปเท่าที่มีโอกาส ในระหว่างที่วิเวกนั้นท่านไปเพียงรูปเดียว หลวงปู่ได้ปรึกษากับพระอาจารย์คำภาว่า ปี 2490 นี้ จะขอให้ธุดงค์ ทางภาคเหนือ ดังนั้น ราวต้นเดือนเมษายน ปี 2490 หลวงปู่ได้เดินทางมุ่งสู่ภาคเหนือ ท่านได้ไปพักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่หลายคืน เพื่อสืบเสาะหาวัดกรรมฐานที่อยู่ภายในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ทราบว่ามีอยู่หลายแห่ง หลวงปู่ท่านจึงได้เริ่มต้นจากสำนักสงฆ์สันต้นเปา อำเภอสันกำแพง ท่านได้พักที่นี่หนึ่งเดือน และที่นี้เองหลวงปู่ได้พบตำราเล่มหนึ่ง คือโลกนิติคำกาพย์ ภาษาลาว และกาพย์ปู่สอนหลาน ซึ่งประพันธ์ขึ้นโดยหลวงปู่เจ้าคุณอุบาลี คุณูปมาจารย์ จากนั้นหลวงปู่ท่านก็ย้ายไปพำนักอยู่เพื่อศึกษาธรรมกับหลวงปู่สิม พุทฺธจาโร แห่งวัดป่าโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และในปี พ.ศ.2490 หลวงปู่จึงได้จำพรรษาที่วัดป่าโรงธรรมสามัคคี (พรรษาที่ 11) ในพรรษานี้หลวงปู่ตั้งสัจจะ จะไม่นอนทอดหลังจนตลอดภายในพรรษา ผลของการปฏิบัติภาวนาของหลวงปู่ในพรรษานี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก ท่านทำความเพียรได้มากขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ
ในราวเดือนธันวาคมของปี พ.ศ.2490 หลวงปู่ได้ออกเดินทางจากวัดป่าโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ ประมาณ 30 กิโลเมตร ท่านได้ออกวิเวกไปตามป่าในแถบนั้นเรื่อยไป หลวงปู่ท่านอยู่วิเวกในละแวกอำเภอสันป่าตอง ส่วนมากท่านก็จะพักปักกลดอยู่ตามป่าช้า จนถึงเดือนมิถุนายน 2491 ขณะที่ท่านพำนักอยู่ใกล้บ้านสันขะยอม ก็มีญาติโยมสนใจปฏิบัติฟังธรรมมาขอรับการอบรมจากท่านมาก เมื่อหลวงปู่ท่านพิจารณาแล้วว่าในแถบนี้ เป็นสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การเจริญภาวนา ญาติโยมสนใจภาวนาดี ท่านจึงได้สร้างกุฏิเล็ก ๆ ได้ 3 หลัง และศาลาโรงธรรม แล้วจึงตกลงใจอยู่จำพรรษา (พรรษาที่ 12 พ.ศ. 2491) ณ ที่นี้ ท่านอยู่ที่ป่าช้า บ้านสันขะยอมได้ 7 วัน ชาวบ้านพอทราบข่าว ก็มีศรัทธาหลั่งไหลมาฟัง
ธรรมและชมบารมีหลวงปู่ทุกวัน ระยะแรกเข้าพรรษาไปได้ไม่กี่วัน คณะของท่านก็ได้ถูกพวกมารศาสนาผจญเอาอย่างหนัก พยายามเบียดเบียนรังแกสารพัดวิธี เพื่อให้คณะของท่านทนอยู่ไม่ได้ ต้องหนีไปจากที่นั่น เพราะไปขัดลาภสักการะของเขา อีกทั้งยังมีศีลาจารวัตรอันแตกต่าง ทำให้เกิดการเปรียบเทียบและช่องว่างขึ้นมา แต่คณะของท่านก็อดทนด้วยขันติตลอดมา โดยยึดมั่นอยู่ในศาสนธรรม ไม่มุ่งเบียดเบียนใคร มีแต่แผ่เมตตาและกระทำประโยชน์ให้เกิดแก่หมู่ชนเท่านั้น
เมื่อป่าช้าบ้านสันขะยอมไม่ใช่สถาน ที่ ๆ สัปปายะอีกต่อไปแล้ว ทั้งยังคับแคบเนื่องจากขณะนั้นมีญาติโยมมาขอฟังและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มากมาย ชาวบ้านสันขะยอมจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะหาที่สร้างสำนักสงฆ์แห่งใหม่ และชาวบ้านหลาย ๆ คนเห็นว่า สวนมะม่วงและสวนลำไยซึ่งอยู่ไม่ห่างจากป่าช้าสันขะยอมมากนัก และเจ้าของที่ก็ได้ถวายที่ดินซึ่งเป็นสวนมะม่วงแห่งนั้นให้กับหลวงปู่ พร้อมกันนั้นชาวบ้านก็รวบรวมปัจจัยและมาช่วยสร้างสำนักสงฆ์กันอย่างมากมาย เพียงไม่กี่วันก็กลายเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา หลวงปู่สร้างเสร็จสมบูรณ์ภายในไม่ถึง 2 ปี เพราะญาติโยมที่นั่นเขาศรัทธาหลวงปู่มาก
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว หลวงปู่จึงได้ให้ชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า สำนักสงฆ์อัมพวัน (ปัจจุบันคือวัดป่าเจริญธรรมนั่นเอง) และหลวงปู่ได้นิมนต์พระอาจารย์น้อย สุภโร เป็นประธานสงฆ์แทน ส่วนตัวหลวงปู่เองก็ออกวิเวกไปในอำเภอสันป่าตอง การวิเวกนั้นมักใช้ป่าช้าเป็นที่พำนักพักพิง เพราะเงียบสงัดดี แต่ละแห่งในเวลากลางคืนก็มักจะมีประชาชนไปฟังเทศน์ฟังธรรมกันมากมาย
เมื่อหลวงปู่ทราบว่า พระอาจารย์แว่น ธนปาโล ได้พาคณะไปบูรณะถ้ำพระสบาย ที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มาประมาณ 6 เดือนแล้ว ท่านจึงได้ไปตรวจดูถ้ำที่นั่นและก็พอใจเป็นอย่างมาก แห่งเห็นว่าเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรเป็นอย่างยิ่ง หลวงปู่จึงตัดสินใจอยู่จำพรรษา(พรรษาที่ 13 พ.ศ.2492) ที่นี้ และสาเหตุที่ถ้ำนี้ชื่อว่าถ้ำพระสบาย ก็เนื่องจากหลวงปู่สิม พุทฺธจาโร ท่านเป็นผู้ตั้งชื่อ โดยท่านปรารภว่าถ้ำนี้เย็นเงียบสงัด อากาศปลอดโปร่งทั้งกลางวันกลางคืน พระที่อยู่ก็รู้สึกสบาย ท่านจึงตั้งชื่อว่าถ้ำพระสบาย คนอื่นก็เรียกตาม ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้
พรรษาที่ 14-15 (พ.ศ. 2493-2494) ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ทางวัดป่าสำราญนิวาสมีงานทอดกฐิน ทางวัดได้นิมนต์ให้คณะของหลวงปู่จากถ้ำพระสบายไปร่วมงานด้วย ระหว่างนี้หลวงปู่ท่านก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างถ้ำพระสบายกับวัดป่าสำราญนิวาส หลังจากเสร็จงานแล้ว หลวงปู่ก็ลาหลวงปู่แว่นและหลวงปู่หลวง เพื่อเดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่เหรียญ ที่สำนักสงฆ์นันทวนาราม อำเภอเถิน หลวงปู่ไปช่วยบูรณะวัดร่วมกับพระอาจารย์เหรียญ ต่อมาจากนั้นอีก 15 ปี คณะกรรมการวัดก็ปรึกษากันและมีมติให้เปลี่ยนชื่อวัดจากเดิมคือวัดนันทวนาราม มาเป็นวัดสันติสุขาราม จนเท่าทุกวันนี้
ขณะที่หลวงปู่ได้พำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์นันทวนารามนั้น ได้ทราบข่าวมาว่า ห่างจากอำเภอเถินไปประมาณ 10 ปิโลเมตร มีถ้ำสวยงามมากมาย หลวงปู่จึงเดินทางไปสำรวจ และพอใจในถ้ำแม่แก่งมาก และตั้งใจจะไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำนี้ หลวงปู่จึงได้ตัดสินใจว่าจะมาพัฒนาถ้ำแม่แก่ง และถ้ำใกล้เคียงให้เป็นสถานที่ปฏิบัติ
ธรรม โดยมีชาวบ้านมากมายที่ศรัทธาหลวงปู่ มาช่วยกันสร้างที่พักชั่วคราวให้ตามริมฝั่งแม่น้ำแก่ง กลางคืนก็มีชาวบ้านพากันไปฟังเทศน์ ฝึกสมาธิ เป็นประจำ
เมื่อหลวงปู่ปรับปรุงบันไดขึ้นสู่ถ้ำอินทร์โขงเรียบร้อยแล้ว ก็ย้ายขึ้นไปอยู่ถ้ำอินทร์โขง สำหรับเสนาสนะถ้ำอินทร์โขง หลวงปู่ท่านใช้เวลาบุกเบิกประมาณเกือบ 2 ปี จนมีกุฏิที่พักโยม ศาลาโรงธรรม ครบสมบูรณ์พอเป็นสถานที่บำเพ็ญสมณธรรม และอบรมสั่งสอนญาติโยมได้อย่างสะดวกสบาย ในระหว่างที่หลวงปู่มาอยู่ที่นี้ ก็มีญาติโยมออกมาปฏิบัติฟังธรรมมากมาย ซึ่งก็บรรลุวัตถุประสงค์ในการมาของท่านจริง ๆ
เป็นอันว่า หลวงปู่ได้จำพรรษาที่ 14 ที่ถ้ำอินทร์โขง ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2493 และขณะที่หลวงปู่พักอยู่ที่ถ้ำอินทร์โขงนั่นเอง ก่อนออกพรรษาไม่นาน ท่านได้อาพาธเป็นไข้ป่าอีกครั้ง อาการหนักมาก ไม่ว่าจะรักษาประการใดอาการก็ไม่ดีขึ้น หลวงปู่จึงได้สัตตาหะไประหว่างพรรษา เพื่อความสะดวกในการรักษา จึงได้ไปพักที่วัดอุ่มลองในอำเภอเถิน ใกล้คลีนิคหมอผู้เป็นเจ้าของไข้ อาการก็ทุเลาลงมาก เมื่อครบ 7 วัน คือครบสัตตาหะ จึงต้องกลับถ้ำอินทร์โขง เพื่อประกอบพิธีออกพรรษาแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น ประกอบกับมีอาการหัวใจเต้นไม่ปกติควบคู่กันด้วย เมื่อหมอแนะว่าไข้หนักและมีโรคแทรกซ้อนด้วย จึงควรไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ที่เชียงใหม่ หลวงปู่จึงได้ออกจากถ้ำอินทร์โขงมุ่งไปแวะพักที่สำนักสงฆ์นันทวนาราม อำเภอเถิน พักอยู่ 4-5 วัน ก็ออกเดินทางต่อไปพักอยู่ที่วัดเจริญธรรม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ พักรักษาตัวอยู่ 4-5 เดือน อาการโรคหายเกือบปกติ
ขึ้นปี 2494 คณะญาติโยมจากอำเภอเถิน จึงตามมานิมนต์ให้กลับไปอยู่จำพรรษา (พรรษาที่ 15) ที่วัดนันทวนาราม หรือวัดสันติสุขาราม ในปัจจุบัน ซึ่งหลวงปู่ท่านก็รับนิมนต์ ในพรรษาท่านได้บำเพ็ญเพียรอย่างเต็มที่ พอออกพรรษาในปี พ.ศ.2494 หลวงปู่และเพื่อสหธรรมิกก็ได้ออกธุดงค์แสวงหาวิเวกเช่นเคย โดยวิเวกไปทางใต้ ผ่านบ้านนาเกลือ บ้านสันต้นขิง จนกระทั่งถึงอำเภอแม่พริก แล้วจึงกลับไปพักอยู่ที่วัดนันทวนารามตามเดิม
พรรษาที่ 16-18 (พ.ศ.2495-2597) ขึ้นปี พ.ศ.2494 พระอาจารย์แส่ว (กุศล) กุสลจิตฺโต พร้อมด้วยญาติโยมจากอำเภอหล่มเก่า ไปนิมนต์หลวงปู่ถึงอำเภอเถิน เพื่อให้หลวงปู่ไปช่วยก่อสร้างสำนักสงฆ์ที่อำเภอหล่มเก่า เดือนกุมภาพันธ์ท่านจึงออกเดินทาง สถานที่ที่จะสร้างสำนักสงฆ์นั่นเป็นเนินเล็ก ๆ อยู่ทางทิศตะวันออกของหล่มเก่า ซึ่งก็มีพวกต่อต้านสร้างปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน จนญาติโยมที่มาช่วยงานต่างก็ท้อแท้ไปตาม ๆ กัน ถึงกระนั้นก็ยังมานะพยายามสร้างจนแล้วเสร็จ จนสามารถทำให้สำนักสงฆ์นฤมลวัฒนาเกิดขึ้นที่หล่มเก่า เมื่อปี พ.ศ.2495 ในเนื้อที่ 18 ไร่
เมื่อสำนักสงฆ์แห่งนี้เสร็จตามประสงค์แล้ว หลวงปู่ได้อยู่จำพรรษา ณ ที่แห่งนี้เป็นเวลา 3 พรรษา ติดต่อกัน โดยมิได้ย้ายไปวิเวก ณ ที่แห่งใดเลย และดูเหมือนว่าหลวงปู่จะชอบสถานที่แห่งนี้เป็นพิเศษ จึงเป็นอันว่าหลวงปู่ได้มาสร้างมาพัฒนาวัดนฤมลพัฒนาเป็นเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2495-2497) ศาลาการเปรียญหลังเก่านั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2496 ส่วนศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งสร้างพร้อมกับปโมทิตะเจดีย์ ที่หนองบัวลำภู ครั้นเมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. 2497 หลวงปู่ก็หวนคิดถึงถิ่นมาตุภูมิ หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับมาตุภูมิ โดยไปพักที่ป่าช้าศรีสว่าง (ป่าช้าบ้านขาม) ตำบลบ้านขาม อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี
พรรษาที่ 19-24 (พ.ศ.2498-2503) ท่านพักอยู่ที่ป่าช้าศรีสว่างประมาณ 2-3 ปี (พรรษาที่ 19-20) ก็ได้ทราบข่าวจากเพื่อนสหธรรมิกของท่านว่า ท่านพ่อลี ธมฺมโร ได้ไปสร้างวัดพัฒนาเสนาสนะอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ชื่อวัดอโศการาม หลวงปู่ท่านเคารพนับถือท่านพ่อลีเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ และเคยอยู่ร่วมปฏิบัติกับท่านพ่อลี ไม่ว่าจะเป็นที่ห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงใหม่ วัดนฤมล หล่มเก่า และภูกระดึง และนอกจากจะทราบว่าท่านพ่อลีไปสร้างวัดอโศการาม ท่านยังทราบอีกว่าท่านจะจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ อย่างใหญ่โตมโหฬารในปี พ.ศ.2500 รับสมัครผู้บวชเณร 5,000 กว่าคน บวชพราหมโณ พราหมณี 5,000 คน หลวงปู่จึงตัดสินใจไปร่วมงานในครั้งนี้ด้วย เพราะคิดว่าคงมีพระอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง ไปร่วมในงานใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้มากมาย เรียกว่าเป็นงานประวัติศาสตร์ซึ่งหาจัดและดูได้ยากยิ่ง ดังนั้นในปี พ.ศ. 2500 นี้เอง หลวงปู่จึงได้อยู่จำพรรษากับท่านพ่อลีที่วัดอโศการาม ครั้นออกพรรษาแล้ว คณะญาติโยมจากอำเภอเถินก็ตามมานิมนต์หลวงปู่ถึงวัดอโศการาม เพื่อกลับไปอยู่ที่วัดนันทวนารามอีก ซึ่งหลวงปู่ก็รับนิมนต์ เป็นวันว่าปี พ.ศ. 2501 หลวงปู่ก็กลับมาจำพรรษาที่วัดนันทวนาราม อำเภอเถิน ให้การอบรมแก่ญาติโยมและพระเณร โดยเน้นหนักทางด้านการปฏิบัติ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 หลวงปู่จึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดนฤมลวัฒนา ได้พัฒนาและจัดสร้างเสนาสนะที่ค้างอยู่จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเป็นที่น่าพอใจ และพอจวนจะเข้าพรรษาในปี พ.ศ. 2503 หลวงปู่จึงเดินทางมาพักจำพรรษาที่วัดอโศการามอีกครั้งหนึ่ง
พรรษาที่ 25-29 (พ.ศ.2504-2508) ครั้นในปี พ.ศ. 2504 และ 2505 หลวงปู่ได้กลับไปจำพรรษาที่วัดนฤมลวัฒนา คราวนี้หลวงปู่ท่านเร่งพัฒนาทั้งทางวัตถุและบุคคล ที่ว่าวัตถุนั้นคือท่านพัฒนาเสนาสนะภายในวัดในส่วนที่ท่านยังทำค้างคาอยู่ และด้านบุคคลคือท่านอบรมสั่งสอนชาวบ้านโป่งตูม และหมู่บ้านใกล้เคียง เน้นการเจริญภาวนา อีกทั้งเรื่องไตรสิกขา ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับหลวงปู่มั่นทุกประการ จากนั้นหลวงปู่ท่านได้กลับไปวัดป่าศรีสว่าง จังหวัดอุดรธานี ในราวต้นปี พ.ศ.2506 เพื่อรวมงานฉลองศาลาการเปรียญ เมื่อเสร็จงานหลวงปู่จึงได้ชักชวนหลวงปู่อ่อนสี จุนฺโทวัดบ้านอูบมุง (วัดป่ารัตนมงคล) อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ไปวิเวกปฏิบัติธรรมทางจังหวัดหนองคาย ได้ไปแวะพักที่วัดอรัญญวาสี ในเขตอำเภอท่าบ่อ ซึ่งวัดนี้ท่านหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และครูบาอาจารย์ในสายกรรมฐานอีกหลายรูปเคยมาพำนักปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดนี้ จึงเป็นอันว่าหลวงปู่ท่านพำนักอยู่ที่วัดอรัญญวาสี ถึง 3 พรรษาติดต่อกัน คือ พ.ศ. 2506-2508 หลังจากออกพรรษาในปี พ.ศ. 2508 แล้ว หลวงปู่ก็ได้ออกธุดงค์วิเวกในแถบอำเภอใกล้เคียง คือ อำเภอบ้านผือ อำเภอศรีเชียงใหม่ อยู่ประมาณ 2-4 เดือน แล้วจึงกลับมาพักอยู่ที่วัดอรัญญวาสี อีกระยะหนึ่ง
พรรษาที่ 30-32 (พ.ศ. 2509-2511) ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2509 หลวงปู่ตัดสินใจจะเข้าอยู่กรุงเทพฯ โดยการชักชวนของเพื่อนพรหมจรรย์ ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมยากกันมา ในที่สุดหลวงปู่ก็ตัดสินใจเข้าอยู่จำพรรษาที่วัดธรรมมงคล พระโขนง กรุงเทพฯ กับเจ้าคุณวิริยังค์ ซึ่งในอดีต หลวงปู่เคยอยู่ด้วยที่วัดป่าบ้านโคกนามน
ตำบลตองโขบ จังหวัดสกลนคร โดยขณะนั้นพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นประธานสงฆ์ ส่วนเจ้าอาวาสคือพระอาจารย์กงมา ส่วนวัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ เพิ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ.2506 หลวงปู่ได้จำพรรษาที่วัดนี้เมื่อปี พ.ศ.2509 และหลังจากออกพรรษาในปี พ.ศ.2511 แล้ว หลวงปู่จึงได้เดินทางไปประเทศอินเดีย ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2511 เพื่อไปสถานที่ต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ นับเป็นการเดินทางที่หลวงปู่ประทับใจมิรู้ลืมจนกระทั่งทุกวันนี้
พรรษาที่ 33-ปัจจุบัน (พ.ศ.2512-ปัจจุบัน) หลวงปู่อยู่ที่วัดธรรมมงคลเพียง 3 ปี (พ.ศ.2509-2511) พอปี พ.ศ.2512 ได้มีผู้ใจบุญถวายที่ดินจำนวน 6 ไร่ กับอีก 33 วา แก่พระเทพเจติยาจารย์ (ท่านเจ้าคุณวิริยังค์ สิรินฺธโร) หลวงพ่อวิริยังค์จึงให้หลวงปู่มาช่วยสร้างวัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนา) ในที่ดังกล่าว และขอร้องให้มาอยู่ เดิมทีนั้นหลวงปู่ได้มาสร้างวัดสิริกมลาวาส ในฐานะรักษาการเจ้าอาวาส ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2517 ท่านก็ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสามัญที่ “พระครูปราโมทย์ ธรรมธาดา” พร้อมกันนั้นท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสิริกมลาวาส โดยถูกต้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ อีกทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธียกช่อฟ้า และตัดหวายลูกนิมิตในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 เวลา 16.19 น.
ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ท่านก็ได้รับการพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรพัดยศในทินนามเดิม คือ พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา ถึงแม้ว่าหลวงปู่ท่านจะไม่ค่อยถนัดในงานด้านคันถธุระมากนัก แต่ท่านก็ได้เพียรพยายามปฏิบัติหน้าที่ตลอดมาจนเป็นที่ยอมรับของพระภิกษุสามเณรและฆราวาสทั่วไป ส่วนทางด้านวิปัสสนาธุระนั้น ท่านก็มิได้ทิ้ง คงส่งเสริมให้มีการปฏิบัติกรรมฐานทุกวันในช่วงเวลาค่ำ หลังจากที่ได้สวดมนต์ทำวัตรเย็นกันเสร็จแล้ว โดยจะเริ่มในเวลาประมาณ 19.00 น. เรื่อยไปจนถึงเวลา 21.00 น. โดยที่หลวงปู่ท่านจะเป็นผู้นำพาญาติโยมปฏิบัติธรรมทุกวัน เว้นแต่เหตุจำเป็นและอาพาธ ซึ่งเป็นความเมตตาอย่างหาประมาณมิได้โดยแท้