องค์ไท้เสียงเหล่ากุง
( 太上老君 )
วันสมภพองค์ไท้เสียงเหล่ากุง ถือกำเนิดวันที่ ๑ เดือน ๗ ตามจันทรคติจีน ไท้เสียงเหล่ากุงเป็นปรมาจารย์วิชาฮวงจุ้ย มีชื่อเรียกดังนี้ เล่าจื้อ, ไท้สร้างเหล่าจิน, เหลาซื้อ และไท้เสียงเหล่ากุง เดิมชื่อ ตานหรือ เอ๊อร์ แซ่หลี่ เป็นชาวรัฐฉ้อ อำเภอหู เล่าว่าเมื่อแรกเกิดมีผมหงอกขาวดุจชายชรา จึงเรียกว่าเหล่าซื้อ แปลว่า ทารกชรา ส่วนที่มีผู้เรียก เหล่าตาน หรือ ลี่เอ๊อร์ ก็ด้วยเหตุผลที่มีใบหูเพียงข้างเดียวถือกำเนิด กล่าวกันว่า เหล่าซื้อ มีอายุยืนถึง ๑๖๐ ปี ด้วยชาติภูมิเป็นชาวรัฐฉ้อ เป็นรัฐภาคใต้ซึ่งประชาชนในรัฐหาใช่ชาวจีนแท้ทุกคน ความคิดความอ่านของชาวรัฐเป็นความเสรี ไม่สู้ผูกมัดกับนิติธรรม ธรรมเนียมประเพณีอย่างชาวจีนทางเหนือนัก ความคิด เสรีนิยมนี้ จะพบเห็นได้จากลัทธิปรัชญา ซึ่งเหล่าจือได้รจนาไว้ในคัมภีร์เต้าเต๋อจิง ไท้เสียงเหล่ากุง เป็นคำเรียกเหล่าจื้ออย่างย่อ โดยนำมาจากฐานันดรที่กษัตริย์ถังไท่จุงสถาปนาให้ เชื่อกันว่าท่านเป็นพระอนาคามีที่สถิตในชั้นอกนิฏฐาพรหมโลก
เหล่าจื้อ, ไท้เสียงเหล่ากุง ปรมาจารย์วิชาฮวงจุ้ยลัทธิเต๋า เจ้าของสัญลักษณ์ หยิน - หยาง ที่มาแห่งปรัชญา "ในขาวมีดำ ในดำมีขาว" เพียง ๒ วลีเท่านี้แต่สามารถตีความเพื่ออธิบายแทบทุกเรื่องที่เกิดบนโลกได้ไม่ว่าจะเป็นการต้องยอมรับความจริงว่า คนเรามีดีมีเลว ในความเป็นคนดีก็มีความเลวปนอยู่ และคนที่สังคมว่าเลว เมื่อดูให้ดีๆ ส่วนดีของเขาก็มี อย่างน้อยคนเลวก็ช่วยเปรียบเทียบให้รู้ว่าดีเป็นอย่างไร นี่คือความคิดของเต๋า
เจ้าของลัทธิเต๋าคือ เหล่าจื้อ เป็นคนแซ่หลี่ ชื่อเหลาเกิดในยุคเดียวและช่วงเวลาเดียวกับขงจื้อ แต่เหล่าจื้อจะแก่กว่าเล็กน้อยและอยู่กันคนละแคว้น โดยที่ขงจื้อเคยเป็นฝ่ายมาเยี่ยมเหล่าจื้อและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันเหล่าจื้อเคยรับราชการเป็นคนดูแลห้องเก็บเอกสารของราชวงศ์โจว ทำให้มีโอกาสได้อ่านและสั่งสมควรรู้ไว้มากทีเดียว แต่เนื่องจากยุคของขงจื้อและเหล่าจื้อ ประเทศจีนยังรวมตัวกันไม่ติด ยังแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าอยู่ มีการรบพุ่งชิงเมืองรวมเมือง บ้านเมืองและสังคมวุ่นวาย ในแคว้นฉู่ที่เหล่าซื้อรับราชการอยู่ กษัตริย์ก็ไม่อยู่ในทศพิธราชธรรมมีการแก่งแย่งอิจฉาริษยาในหมู่ข้าราชการ เหล่าจื้อเกิดความเบื่อหน่ายจึงลาออกแล้วเดินทางไปปลีกวิเวก ณ ป่าเขาแดนไกล ระหว่างทางได้เขียนหนังสือชื่อ เต้าเต๋อ แปลว่าคุณธรรม จิง แปลว่า คัมภีร์ ความคิดของเต๋ามีหลายอย่างคล้ายขงจื้อ และมีบ้างที่คล้ายคำสอนของพระพุทธศาสนาเพราะผู้คิดทั้งสามล้วนคิดจากชีวิตจริงของคน เพียงแต่การใช้ภาษาอาจต่างกัน อย่างไรก็ตาม คนมักสับสนระหว่าง "เต๋า" กัน "เซน" เซนเป็นนิกายหนึ่งของพระพุทธศาสนามหายาน ผู้ให้กำเนิดนิกายเซนเป็นชาวอินเดียฉายาว่า "พระโพธิธรรม" เดินทางมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศจีนประมาณ พ.ศ. ๑๐๗๐ สมัยพระเจ้าเหลียงบู่ตี้กษัตริย์ราชวงศ์เหลียง คนจีนเรียกว่าท่าน "ตั๊กม้อโจวซือ" หรือปรมาจารย์ตั๊กม้อโจวซือ หรือปรมาจารย์ตั๊กม้อนั่นเอง
จุดเด่นของเต๋าคือ การสอนให้คนเข้าใจชีวิต เน้นให้คนเชื่อว่าผู้มีใจสงบสุขจะทำให้มีร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาวกับปรัชญามากมายเป็นวลีสั้น ๆ แต่ลึกซึ้งกินใจ เช่นความจริงอาจฟังไม่รื่นหู แต่ที่ฟังรื่นหู อาจไม่ใช่ความจริงนี่แหละเป็นจุดเด่นของลัทธิเต๋าเลย
ส่วนคัมภีร์เต้าเต๋อจิง หรือ เต่าเต็กเก็ง ที่ลูกศิษย์ของท่านต้องรู้จักกันดีนั้น ท่านแต่งตอนเดินทางไปถึง ด่านหานกู่กวนแล้วเจอนายด่านคนหนึ่งซึ่งนับถือท่านมาก นายด่านได้ขอร้องให้ท่านแต่งหนังสือสักเล่มเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง ท่านจึงแต่งคัมภีร์เต้าเต๋อจิง หรือเต่าเต็กเก็งออกมา มีทั้งหมด ๘๑ บท ๕,๕๐๐ ตัวอักษร พอไท้เสียงเหล่ากุงมอบคัมภีร์ให้นายด่านแล้ว ท่านก็เดินทางต่อไป ปรากฏว่าพอถึงช่องแดนระหว่างภูเขา ท่านก็หายไปในก้อนเมฆ ตั้งแต่นั้นมาไม่มีใครเห็นท่านอีกเลย คัมภีร์ที่เล่าจื้อเขียนนี้เป็นคัมภีร์แห่งมรรคและอำนาจ เป็นต้นกำเนิดสัญลักษณ์ หยิน-หยาง หรือกฎแห่งความสมดุลธรรมชาติ เป็นปรัชญาของลัทธิเต๋าที่เชื่อว่าสรรพสิ่งบนโลกใบนี้จะต้องมีสิ่งคู่กันเสมอ มีมืดก็ต้องมีสว่าง มีร้อนก็ต้องมีเย็น มีผู้หญิงก็ต้องมีผู้ชาย หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปหรือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากไปหรือน้อยเกินไป ก็จะเกิดภาวะไม่สมดุลซึ่งจะนำหายนะมาให้
“จุดเด่นของเต๋า คือ การสอนให้คนเข้าใจชีวิต เน้นให้คนเชื่อว่า ผู้มีใจสงบสุข จะทำให้มีร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาวกับปรัชญามากมายเป็นวลีสั้นๆ แต่ลึกซึ้งกินใจ เช่น ความจริงอาจฟังไม่รื่นหูแต่ที่ฟังรื่นหู อาจไม่ใช่ความจริงนี่แหละเป็นจุดเด่นของลัทธิเต๋าเลย”
คัดย่อข้อมูลจาก : หนังสือพิธีสถาปนาครบรอบ ๖๐ ปี มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน
41 ซอยพัฒนาการ 64 ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250